วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กล่าวถึงนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า กระทรวงคลังได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือ “คณะกรรมการเงินดิจิทัล” ประกอบด้วยรัฐมนตรี 7 คน ดังนี้

  1. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีวาการกระทรวงการคลัง
  2. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์
  3. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย
  5. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
  6. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  7. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังมีปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมอยู่ด้วย

นายจุลพันธ์ระบุว่า คณะกรรมการเงินดิจิทัลมีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่พิจารณาแนวนโยบาย กรอบวงเงิน แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการ การติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ รวมถึงสรุปผลว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นัดหมายประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลนัดแรกภายในสัปดาห์นี้ โดยจะมีการมอบนโยบาย และตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อรวบรวมรายละเอียดนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ไม่เกิน 2 – 3 สัปดาห์

นายจุลพันธ์ยังยืนยันด้วยว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้ระบบบล็อกเชนอย่างแน่นอน เนื่องจากมีกลไกที่ปลอดภัยและโปร่งใส และการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบ พ.ร.บ. เงินตรา และระเบียบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้มีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว และยืนยันจะไม่มีผลต่อค่าเงินบาทที่อ่อนลงในปัจจุบัน

สำหรับข้อสังเกตเรื่องการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร นายจุลพันธ์ระบุว่า รัฐบาลมีการรับฟังเสียงของประชาชน และจะขยายกรอบพื้นที่ให้มากกว่า 4 กิโลเมตรอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ ‘พื้นที่ภูมิลำเนา’ เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกระจายทั่วทุกจังหวัด

นายจุลพันธ์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการใหญ่ และมีความสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยหลักเกณฑ์การใช้เงินดิจิทัลทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนตุลาคมนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส