จินตนาการถึงวันที่เหน็ดเหนื่อย (ซึ่งเอาตามจริงสำหรับเราหลาย ๆ คนมันก็คือทุกวันนั่นแหละครับ) คุณอาบน้ำเสร็จเรียบร้อย ทาครีม เดินไปเปิดไฟหัวเตียง ปิดไฟห้อง ทิ้งตัวลงนอน ถอนหายใจ “เฮ้ออออออ……” ในหัวคิด “หมดไปอีกหนึ่งวัน”

ระหว่างที่ความคิดในสมองกำลังแล่นวนฉายภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ งานที่ทำ คนที่เจอ เรื่องเครียด ๆ จากเจ้านาย ลูกค้า ความเหนื่อยล้าจากการรบกับลูกน้อยหรือปากเสียงกับเพื่อนร่วมงาน มือของคุณก็เริ่มควานหาวัตถุรูปทรงสี่เหลี่ยมที่คุ้นเคย มันวางอยู่แถวนั้นแหละไม่เคยห่างไปไหน หยิบมือถือคู่ใจขึ้นมากดเปิดดู เช็กความเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ บนโซเชียลมีเดียซะหน่อย ดูยูทูบนิดหนึ่ง ทวิตเตอร์ล่ะวันนี้ฉันพลาดอะไรสำคัญไปหรือเปล่า เน็ตฟลิกซ์มีอะไรใหม่ ๆ ให้ดูไหม ฯลฯ

คุณเหนื่อยมาก คุณรู้ว่าควรจะนอนได้แล้ว แต่นิ้วก็ยังไถไปเรื่อย ๆ ไถไปจนเลยจุดที่คุณรู้สึกว่ามันสนุกไปนานแล้ว ตาเริ่มล้า หนังตาเริ่มหนัก พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาอีกครั้ง แต่…คุณก็ยังไม่หยุด ยังไถต่อไปเพราะคุณรู้สึกไม่พร้อมที่จะพัก เหมือนว่าในใจลึก ๆ บางส่วนนั้นยังรู้สึกไม่พอใจ ยังไม่สาสมใจ ยัง… ฉันยังอยากมีเวลาของฉันอยู่ ฉันยังไม่อยากนอน

ตัวผมเองก็เป็นและเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็เป็น พฤติกรรมแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “Bedtime Revenge Procrastination” หรือ “การนอนดึกเพื่อล้างแค้น” นั้นเอง

เราไปแค้นใครมา แล้วเราต้องล้างแค้นเพราะอะไร?

คำเรียกนี้กลายเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก บ้างเรียกว่า “bedtime procrastination” หรือ “while-in-bed procrastination” ซึ่งไม่ว่าจะเรียกยังไงก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนผสมของเทคโนโลยีและความรู้สึกกระวนกระวายใจที่อยู่ข้างใน จากวัฒนธรรมที่เชิดชูการทำงานหนักถวายหัวจนมองข้ามเรื่องสุขภาพและความเป็นส่วนตัว หน้าที่ภาระที่ปกติแทบจะแยกกันไม่ออกอยู่แล้ว งานกับเวลาส่วนตัวที่ถูกกลืนเข้าด้วยกันจนไม่มีเส้นแบ่ง มาเจอเรื่องโรคระบาดที่ทำให้ต้องติดอยู่บ้านไม่สามารถออกไปไหนได้ เมื่อรวมเอา 2 อย่างนี้เข้าด้วยกัน เลยกลายเป็นสถานการณ์อันเลวร้ายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

อลิซา ชาพีโร (Aliza Shapiro) นักจิตบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์คลินิกให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Glamour ว่า “ตามสัญชาติญาณแล้ว เรารู้ดีว่าเราต้องพักผ่อนเพื่อให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลยระหว่างวัน เราก็พยายามหาช่วงเวลาและสถานที่อื่น – แม้ว่ามันจะแลกมาด้วยการนอนหลับพักผ่อนของเราก็ตามที”

ดาฟนี เค. ลี (Daphne K. Lee) นักเขียนชื่อดังในนิวยอร์กได้เขียนคำอธิบายถึง “Revenge Bedtime Procrastination” อย่างชัดเจนในทวีตของเธอว่า “ปรากฎการณ์ของคนที่ไม่สามารถควบคุมตารางชีวิตของตัวเองระหว่างวัน ปฏิเสธที่จะนอนพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อที่จะทวงคืนความรู้สึกของอำนาจและอิสรภาพในช่วงเวลากลางคืนแทน”

ทุกคนรู้ดีว่าการไถฟีดแบบไร้จุดหมายบนโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อเราเลย โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนนอน ถ้าอยากดูแลตัวเองหรือทำให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจควบคุมช่วงเวลาเวลาเหล่านั้นได้ ทำไมไม่ใช้เวลานั่งอ่านหนังสือ เขียนบันทึกเรื่องราว แม้แต่เล่นโยคะหรือนั่งสมาธิก็ช่วยให้ผ่อนคลายและมีผลดีต่อร่างกายด้วย ชาพีโรบอกเหตุผลว่า

“สำหรับหลายคนแล้ว การวางแผนใช้เทคโนโลยีในตอนกลางคืนนั้นเป็นครั้งแรกของวันที่เราจะมีเวลาอยู่กับตัวเองจริง ๆ และถ้าเราเกรงกลัวสิ่งที่จะต้องเจอ หรือการต้องอยู่กับความรู้สึกไม่สบายใจ สับสน ความคิดหนัก ความรู้สึกเครียด เราก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงมันอย่างไม่รู้ตัว การไถฟีดแบบไม่รู้จบนั้นเป็นการพยายามที่จะผลักดันการปะทุของคลื่นความรู้สึกที่อาจจะมากระทบเราเมื่อหลับตาลง หรือเป็นการทำให้ตัวเองล้าถึงขั้นที่ว่าเราหลับไปเลยโดยไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรเลยแม้แต่น้อย”

เชื่อว่าถึงตรงนี้หลายคนน่าจะคิดในใจแล้วว่า “นี่คือฉันเลย” อยากจะบอกว่าไม่ต้องกังวลครับ หลายต่อหลายคนเป็นและมันก็มีทางแก้ไขที่เราพอจะทำได้ เพราะเจ้าความรู้สึกที่เราพยายามจะหลีกเลี่ยงหรือความคิดอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากเผชิญหน้า ยิ่งปล่อยไว้นานวันเข้ามันจะยิ่งแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและจัดการได้ยากขึ้นด้วย และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังจนสุขภาพเสียไปเลยก็ได้

ไมเคิล บรูส (Michael Breus) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของศาสตร์แห่งการนอนหลับ ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘The Sleep Doctor’ และเขียนหนังสือ ‘Good Night: The Sleep Doctor’s 4-Week Program to Better Sleep and Better Health’ ได้อธิบายกลยุทธ์ในการต่อสู้กับพฤติกรรม ‘การนอนดึกเพื่อล้างแค้น’ ไว้ในเว็บไซต์ Wired ด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า ‘Power-Down Hour’ โดยมีเป้าหมายในการให้สมองและความคิดของเราทำงานช้าลง วางเทคโนโลยีไว้ให้ห่างตัว และจัดการกับหลาย ๆ อย่างที่เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมทำซะที

เขาแบ่งช่วงเวลา 1 ชั่วโมงออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 20 นาที

  • ช่วงแรกให้ทำสิ่งที่ต้องทำ เช่นการเตรียมของสำหรับพรุ่งนี้ พับเสื้อผ้าเข้าตู้ หรือเรียงจัดของในห้อง
  • ช่วงที่สองคือดูแลตัวเอง อาบน้ำ ทาครีม ทำความสะอาดร่างกาย ถ้าทำได้ก็อาจจะอาบน้ำอุ่นเพื่อให้ช่วยผ่อนคลาย
  • ช่วงที่สามคือการรีแลกซ์ทำตัวให้สบาย หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เอาสมุดจดออกมาเขียนบันทึก นั่งสมาธิ ฯลฯ

บรูสอธิบายว่ามันอาจจะดูไม่ได้ยาก แต่เชื่อเถอะว่ามันท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกัน บวกรวมกับ FOMO (Fear of Missing Out) ที่ไม่อยากพลาดเรื่องสำคัญ ๆ จนทำให้คนสมัยนี้แทบไม่มีเวลา “สำหรับตัวเอง” ที่จะใช้มันดูแลตัวเองและจัดการกับความคิดความรู้สึกที่อยู่ข้างในจริง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมันหาเวลาได้ยาก ก็ควรที่จะจัดเวลาให้เป็นสัดส่วนเลย ขอแค่ 1 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำไม่ได้

มันเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยทำให้คุณสามารถกลับมาควบคุมและมีอำนาจเหนือความคิดและความรู้สึกที่ไม่อยากเผชิญหน้า ดูแลรักษาซ่อมแซมอาการเหนื่อยล้าที่ไม่ใช่แค่ทางร่างกาย แต่สภาพจิตใจที่อยู่ด้านในด้วย การล้างแค้นที่ดีที่สุด อาจจะเป็นการนอนพักผ่อนให้เพียงพอและเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในวันต่อไปจริง ๆ มากกว่า

เครดิตภาพ: Getty Images

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส