ด้วยความสำเร็จของเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ใช้ในการต่อต้านโควิด-19 ทำให้บริษัทเริ่มมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายต่อไปอย่างการผลิตวัคซีนต่อต้านมะเร็ง ซึ่งไบโอเอ็นเทคเพิ่งเริ่มให้ยาผู้ป่วยในการทดลองระยะที่ 2 แล้ว โดยทดลองทำวัคซีนมะเร็งผิวหนัง

ไบโอเอ็นเทคเรียกตัวเองว่าเป็น “บริษัทเจเนอเรชันใหม่ที่บุกเบิกการรักษาโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่น ๆ” ซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มีส่วนทำให้เกิดเป้าหมายใหม่ขึ้นมาอย่างการรักษามะเร็ง โดยเรียกชื่อโปรเจกต์ว่า BNT111 เป็นการทดสอบวัคซีน mRNA ร่วมกับยาลิบตาโย (Libtayo) ที่เป็นตัวสร้างแอนติบอดีให้กับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง

โดยการทดลองระยะที่ 2 ที่ไบโอเอ็นเทคบอกไว้ มีการรับสมัครผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด 120 ราย ทั้งจากสเปน เยอรมนี อิตาลี โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินระยะเวลาการตอบสนองของวัคซีนและแอนติบอดีในผู้ป่วย

BNT111 เป็นหนึ่งในวัคซีนมะเร็งที่ออกแบบโดยไบโอเอ็นเทค ภายใต้แพลตฟอร์มฟิกซ์แวค (FixVac) ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จออกมาจริง ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านโรคได้เอง ไม่ต้องอาศัยการรับประทานยาเพื่อบรรรเทาอาการแบบเดิมอีกต่อไป

ออสเรม ตูเรซี (Ozlem Tureci) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ของไบโอเอ็นเทคกล่าวว่า “การเริ่มต้นทดลองใช้ยาระยะที่ 2 ในครั้งนี้ เรายังคงเดินบนเส้นทางเดิมของเราในการตระหนักถึงศักยภาพของวัคซีน mRNA สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง”

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส