ที่มหาวิทยาลัย Ohio University ปี 2012, นักวิจัยกลุ่มหนึ่งพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของสังคมกับมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง นักวิจัยกลุ่มนี้ได้เชิญผู้หญิงคนหนึ่งมาที่ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่อง ‘การประเมินความสวยงาม’ (Aesthetic Judgement) โดยการทดลองนี้พวกเขาจะถ่ายรูปใบหน้าของเธอก่อนให้ไปนั่งที่โต๊ะเพื่อทำการทดลอง โดยบนโต๊ะจะมีหน้าจอมอนิเตอร์และกระจกเงาวางอยู่

เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเขาจะโชว์เซ็ตรูปภาพใบหน้าของนางแบบผู้หญิงที่ถูกคัดมาแล้วว่าสวยและมีเสน่ห์ (Attractive Professional Models) หลังจากผ่านไปสักพักบนหน้าจอก็ปรากฎรูปภาพใบหน้าของผู้เข้าทดลองที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีทั้งหมด 13 ภาพกระจายอยู่บนหน้าจอ ซึ่งมีภาพจริงเพียงหนึ่งภาพส่วนที่เหลืออีก 12 ภาพเป็นภาพที่มีการตบแต่งให้มีความแตกต่างกันออกไปในทุก ๆ ภาพ ภาพที่ดูสวยขึ้น 8 ภาพ และสวยน้อยลง 4 ภาพ

ตอนนี้ผู้เข้าทดลองจะต้องเลือกภาพจริงที่ถ่ายมาในตอนแรกจากทั้งหมด 13 ภาพ โดยสามารถใช้กระจกเงาที่วางบนโต๊ะเป็นเครื่องทุ่นแรงได้ ผลที่ได้น่าสนใจมากก็คือถึงแม้ว่าภาพที่ตัวเองดูสวยขึ้นนั้นจะมีมากกว่าถึงสองเท่า ผู้หญิงที่เข้าทดลองก็เลือกภาพที่ตัวเองสวยน้อยกว่าอยู่ดี

พวกเขาทำการทดลองเพิ่มอีกกับทั้งผู้หญิงและผู้ชายกว่า 70 คน ผลที่ได้ยังเหมือนเดิม คนที่เข้าทำการทดลองส่วนใหญ่จะเลือกภาพที่ดูดีน้อยกว่าตัวจริงในกระจกอยู่เสมอ แต่ถ้ากลับการทดลองเป็นการโชว์ภาพใบหน้าของบุคคลที่น่าดึงดูดน้อยกว่าไปเรื่อย ๆ ก่อนจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกภาพ กลายเป็นว่าพวกเขาจะเลือกภาพที่ตัวเองดูดีกว่าเดิมซะงั้น

นี่คือสิ่งที่ทางนักจิตวิทยาและสังคมวิทยาเรียกว่า ‘Frog-Pond Effect’ ที่คนประเมินตัวเองส่วนใหญ่จากสิ่งที่เห็นจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ หรือความสำเร็จ โดยหลักทฤษฎีนี้ถูกพูดเอาไว้ในงานเขียนของ เจมส์ เดวิส (James A. Davis) นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกตั้งแต่ปี 1966 โดยเขาอธิบายว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าที่รายล้อมด้วยเพื่อนที่ทำเกรดได้สูง ดูประสบความสำเร็จ แต่ตัวเองมีเกรดเฉลี่ยไม่ค่อยดีนั้น มักจะมองว่าความสามารถของตัวเองด้อยกว่า มีความทะเยอทะยานที่ลดลง เมื่อเทียบกับนักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ยสูงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ชื่อชั้นด้อยกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า “การเป็นกบตัวใหญ่ในบ่อน้ำเล็ก ๆ นั้นดีกว่าเป็นกบตัวเล็กในบ่อน้ำใหญ่ ๆ” นั่นเอง

และผลลัพธ์ของมันยิ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนหรือคนที่เรามองว่าอยู่ในสถานะเท่าเทียมกัน เรามองดูคนอื่นเพื่อเป็นกระจกสะท้อนกลับมาเพื่อประเมินตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ “Upward Social Comparisons” ที่มองว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น และ “Downward Social Comparisons” ที่มองว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น เราทำแบบนี้ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันจะสร้างผลกระทบในด่านต่าง ๆ ทั้งความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ความรู้สึก พฤติกรรม ความมั่นใจ การให้คุณค่ากับตัวเอง ความกล้าหาญ ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่เราจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเลยด้วย

แน่นอนว่าการประเมินตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นอาจจะไม่ได้เลวร้ายไปซะหมด เราสามารถใช้มันเป็นแรงผลักทางบวกให้พัฒนาความสามารถและทักษะขึ้นไปได้อีก แต่มันก็เหมือนกับทุกอย่างที่มากไปก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ด้วยเช่นเดียวกัน และในโลกปัจจุบันมันก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบแบบนี้ เราทราบกันดีว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ทุกคนพยายามจะแชร์ โชว์ โพสต์ แง่มุมที่ดีที่สุดของตัวเองให้คนในสังคมออนไลน์เห็น ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่เราประเมินตัวเอง จากปกติเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยตรงอยู่แล้ว ให้บิดเบี้ยวมากขึ้นกว่าเดิมอีก

มีหลักฐานงานวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้มากมาย (โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน)​ ที่บ่งบอกว่ายิ่งเราใช้เวลาออนไลน์เพื่อเสพการพรรณาอันเลิศหรูของคนอื่น ยิ่งทำให้เราตกเป็นเหยื่อของ “Frog-Pond Effect” และบั่นทอนความเชื่อมั่นของตัวเราเองลงเรื่อย ๆ เพราะโซเชียลมีเดียนั้นได้ขยายขอบเขตการเปรียบเทียบไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เราก็เหมือนกับผู้หญิงในห้องทดลองคนนั้นที่รู้สึกว่าหน้าตาของตัวเองไม่สวยงามหลังจากที่ดูภาพของคนอื่นที่ดูดี น่าสนใจ มีเสน่ห์ สวยหรู เมื่อไหร่ก็ตามที่เราถูกแวดล้อมไปด้วยคนลักษณะแบบนี้ที่มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ดูดีกว่าเราหลายต่อหลายคน (ซึ่งบนโซเชียลมีเดียก็คือตลอดเวลานั่นแหละ)​ ถึงแม้ว่าความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เรามีหรือเป็นนั้นจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยเท่าที่วัดได้ แต่มันก็ยังทำให้รู้สึกต่ำต้อยและไร้ค่าอยู่ดี

ถ้าเป็นกลุ่มดาราหรือคนมีชื่อเสียงระดับโลกระดับประเทศอาจจะยังไม่เท่าไหร่ เรารู้ดีอยู่แล้วว่าคนเหล่านี้เป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยของคนทั้งโลก แต่ตอนนี้เราจะเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Influencer ซึ่งก็มีหลายระดับอีกเช่นเดียวกันตั้งแต่ระดับที่มีคนตามหลักล้านอย่าง Macro Influencer ไล่ไป Micro Influencer ที่มีคนตามหลักหมื่นหลักแสน และเล็กลงมาอีกที่เป็น Nano Influencer ที่มีคนตามหลักพันถึงหมื่น โดย Macro หรือ Micro ที่มีคนตามเยอะเราไม่ค่อยไปเปรียบเทียบกับเขาหรอกเพราะมันไกลตัวไป เรามักจะมองคนที่ใกล้ ๆ อย่าง Nano Influencer ที่มีคนจ้างไปกิน ไปรีวิว เดินทาง ถ่ายรูปสวย ๆ ลงโซเชียลมีเดีย นำเสนอวิถีชีวิตน่าอิจฉาชวนหลงใหล แน่นอนว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จับต้องได้ คงมีบ้างที่โพสต์เกี่ยวกับวันแย่ ๆ หรือความรู้สึกไม่มั่นใจ (คือคนกลุ่มนี้ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ “Upward Social Comparisons” กับกลุ่ม Micro/Macro เช่นเดียวกัน)​ แต่ในหัวของเราแล้ว พวกเขาคือ “ตัวเราในเวอร์ชันที่เลิศหรูกว่า” และเริ่มทำการเปรียบเทียบในหัวอย่างอัตโนมัติ

ในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราขนาดนี้ การเปรียบเทียบกับคนอื่นในสังคมนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์แบบเจอตัวกัน กับเพื่อนในสังคม เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงาน หรือใครก็ตามที่อยู่รอบ ๆ ตัว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้แม้ว่าจะมีบางอย่างที่อาจจะดูดีกว่าเรา แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังจะมีโอกาสเห็นด้านที่ไม่ดีของพวกเขาด้วย เมื่อหักล้างกันแล้วเราก็สามารถใช้ความรู้สึกที่ตัวเองด้อยกว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละเป็นพลังผลักดันให้เราพัฒนาตนเองมากขึ้น และแถมไม่พอ เมื่ออยู่ในสังคมหรือกลุ่มเพื่อนฝูง คนส่วนใหญ่มักจะพยายามไม่เฉิดฉายจนเกินงาม มีความถ่อมตัวลงมากกว่าโลกออนไลน์เมื่อรู้สึกว่ากำลังข่มคนอื่นอยู่

ในบึงขนาดใหญ่ที่ไม่มีขอบเขตอย่างอินเทอร์เน็ตยังไงเราก็คือกบตัวเล็กตัวหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เราทำได้คือการฝึกให้ตัวเองระลึกถึงด้านที่ดีและความสุขในหลากหลายมุมจะช่วยทำให้การประเมินตัวเองด้านลบน้อยลงไป เทคนิคการบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเรื่องราวดี ๆ ไว้เตือนใจในสมุด Gratitude Journal ก็ได้ผลไม่น้อยเช่นกัน เขียนสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ รู้สึกอิ่มเอมใจ คนที่คุณรัก และความสัมพันธ์ที่ดี ๆ มากกว่าเรื่องความสำเร็จส่วนตัวหรือสิ่งของนอกกายที่ได้รับมา มีงานศึกษาในปี 2017 บน Journal of Clinical Psychology บอกว่าการทำแบบนี้สัก 3 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยทำให้สภาวะจิตใจของเราเป็นในด้านบวกมากขึ้นและส่งผลดีต่อความเป็นอยู่โดยรวมด้วย

มันเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในสังคมที่เราอยู่ ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่อย่างน้อยเมื่อเข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร พยายามปรับสักนิด เราจะสามารถรับมือกับมันได้ดีมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส