ในวันที่ห้างร้านปิดจนเงียบเหงาจากคำสั่งล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบนี้ ใคร ๆ ก็บ่นเรื่องผลกระทบที่มีกับกิจการของตัวเองทั้งนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า ถึงกลับมาเปิดเมืองแต่การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนยังทำได้ไม่ตรงเป้าพอให้ประชาชนมั่นใจ คนก็ไม่ค่อยออกจากบ้านอยู่ดี แล้วแบบนี้จะมีธุรกิจอะไรที่ยังมีแนวโน้มดีเหลืออยู่อีก

คำตอบคือ: มี

เดาไม่ยากเลยว่าธุรกิจที่เติบโตในยุคที่คนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านกันแบบนี้คือ ธุรกิจจัดส่งสินค้า พัสดุและอาหารที่มาแรงต่อเนื่องมาหลายปีเนื่องจากการทำตลาดอย่างเข้มข้นของทุกแพลตฟอร์มที่กระโดดจากโลกออนไลน์มาสู่ออฟไลน์เชื่อมโยงร้านค้าและผู้ใช้งาน (User) ซึ่งเปลี่ยนให้เป็นลูกค้า(User) ที่ติดใจบริการเหล่านี้จนถอนตัวไม่ได้อีกต่อไป กระทั่งสถาบันการเงินบางแห่งยังปั้นหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อขอแบ่งเค้กก้อนใหญ่ที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดนี้ด้วยคน

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าตลาดของอีคอมเมิร์ซจะเติบโตมากถึง 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2021 นี้และจะขยายตัวแตะ 6.4 ล้านล้านเหรียญใน 2024 หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% ในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งคนหนุ่มสาวทั้งหลายครอบคลุมทั้งเจนเอ็กซ์ วาย และแซด ต่างเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างรวดเร็ว คุ้นชินกับโลกออนไลน์จนแยกออกจากชีวิตออฟไลน์ไม่ได้อีกแล้ว และยิ่งเกิดธุรกรรมมากเท่าไหร่ ปริมาณข้อมูลที่ถูกจัดการโดยปัญญาประดิษฐ์ก็มีมากขึ้นและยิ่งนำเสนอสินค้า บริการที่เรามองหาได้แม่นยำมากขึ้น หยิบมือถือขึ้นมาเล่นทีไรก็เจอแต่ของที่อยากได้

ขายของออนไลน์ได้มาก สินค้าที่ต้องจัดส่งก็มากตาม จึงไม่แปลงที่ธุรกิจจัดส่งจะโตแล้วโตอีก

ถ้ามองเฉพาะธุรกิจจัดส่งอาหารทั่วโลกปี 2020 พบว่ามีขนาดถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และน่าจะขยายตัว อีก 50% เป็น 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 แม้ขนาดจะเล็กกว่าตลาดของอีคอมเมิร์ซอยู่มาก เพราะบริการจัดส่งอาหารมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองหรือพื้นทีที่มีประชากรหนาแน่น ไม่ได้ส่งได้ทุกซอกมุมโลกเหมือนกับการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่จำนวนการใช้งานนั้นกลับสูงมากเพราะอาหารเป็นสิ่งที่คนเราต้องบริโภคถึงวันละ 3 มื้อหรือมากกว่านั้น ด้วยยอดคำสั่งซื้อจำนวนมาก เมื่อคูณด้วยค่าธรรมเนียมหรือเงินส่วนแบ่งจากร้านค้าเข้าไป จะพบว่าธุรกิจจัดส่งอาหารนี้ก็เป็นขุมทรัพย์ธุรกิจ ที่ตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากครอบครอง

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจจัดส่งอาหารมีมูลค่า 68,000 ล้านบาทในปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 74,000 ล้านบาท นอกจากแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีทุนหนาอย่าง Grab, LINE หรือ Food Panda จะทำตลาดกันอย่างดุเดือดแล้ว เชนร้านอาหารก็หันมาให้บริการจัดส่งอาหารเองเพื่อลดต้นทุนจากส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ 30-35% เองด้วย เห็นได้จัดจากไมเนอร์ กรุ๊ปหรือกลุ่มเซ็นทรัลที่ทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเภทร้านอาหารที่มีผู้ใช้บริการจัดส่งอาหารมากที่สุดได้แก่ ร้านกาแฟ รองลงมาจึงเป็นร้านอาหารจานเดียว ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวและร้านอาหารไทย ซึ่งกลุ่มคนอายุ 20-34 ปีเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 65% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด โดยพบว่าช่วงสุดสัปดาห์ วันศุกร์-วันอาทิตย์ จะมีปริมาณการสั่งซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงมื้อเที่ยงและบ่าย

อยากกินอะไรก็ได้กิน

อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายของธุรกิจจัดส่งอาหารที่ต้องจับตาคือการสอดส่องเรื่องอัตราการเก็บส่วนแบ่งจากร้านอาหารที่อยู่ในระดับสูงที่อาจยกระดับมาตรการในการควบคุมดูแลสูงขึ้น ตัวเลขผลประกอบการที่ขาดทุนมโหฬารของบรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายที่ยอดควักเนื้อชดเชยส่วนรายได้ของไรเดอร์และการทำโปรโมชันเพื่อสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งที่สุดให้ได้ รวมทั้งข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการจัดส่งที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมสูงสุดจากภาครัฐที่ให้ส่งได้ถึง 2 ทุ่มเท่านั้น ปัจจัยบวกก็พอจะมีบ้างจากความพยายามผลักดันให้ประชาชนได้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งกับบริหารจัดส่งอาหารเหล่านี้ได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในเร็ว ๆ นี้

แทบทุกสำนักเศรษฐกิจประเมินว่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารจะยังเติบโตต่อไปด้วยอัตรา 8-10% ต่อปีและอาจจะใหญ่ถึง 100,000 ล้านบาทได้ในอีก 5 ปีนับจากนี้ จึงไม่น่าแปลกที่ตอนนี้อาชีพไรเดอร์กำลังกลายเป็นทางเลือกยอดนิยมโดยเฉพาะผู้ว่างงานจากอุตสาหกรรมบริหารนับล้านคนในยุคโควิด-19 แบบนี้ และมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องจับตาทั้ง Robinhood ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ชูจุดขายไม่เก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าหรือ GP รวมทั้งยักษ์ใหญ่ธุรกิจอย่างเครือซีพีที่กำลังปลุกปั้น True Food ที่ประกาศไม่เก็บ GP เหมือนกันและยังมีข้อได้เปรียบจากห่วงโซ่อุปทานอาหารของตนเองด้วย

การแข่งขันจะยังรุนแรงต่อไป ท่ามกลางความท้าทายเรื่องกำลังซื้อของผู้คนที่แผ่วลงเรื่อย ๆ จากเศรษฐกิจที่ถดถอยและปัญหาจากโรคระบาด แม้จะคิดว่าคนยังต้องกินข้าว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเขาก็ทำอาหารรับประทานเองหรือลดการใช้จ่ายต่อคำสั่งซื้อลงได้ 

วิธีคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว วิธีทำธุรกิจก็ต้องก้าวให้ทันด้วยเช่นกัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส