ในปี 2010 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 2 คน แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และแองกัส ดีตัน (Angus Deaton) ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความสุขและเงินที่มีคนนำไปพูดถึงเป็นอย่างกว้างขวาง มีการกล่าวอ้างถึงบทความนี้มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยข้อมูลที่นำมาพูดถึงก็คือสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่า คุณภาพของชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่มากขึ้น และความรู้สึกก็ดีขึ้นจริงในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แต่สภาพความเป็นอยู่หรือความรู้สึกที่ดีเหล่านี้จะไม่เพิ่มขึ้นอีกเมื่อรายได้อยู่ที่ประมาณ 75,000 เหรียญสหรัฐต่อปี​ (เทียบเป็นเงินตอนนี้ก็ประมาณ​ 92,000 เหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินไทยในปัจจุบันก็ราว ๆ 3 ล้านบาท​) งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าระดับรายได้ที่สูงไปกว่านี้จะไม่ส่งผลให้เกิดความสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป ซึ่งข้อมูลตรงนี้สร้างความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุขให้ชัดเจนมากขึ้น ผู้บริหารของบริษัทบางแห่งอย่าง Gravity Payments ถึงขั้นปรับเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานทุกคนให้เป็นปีละ 70,000 เหรียญสหรัฐฯ หลังจากอ่านงานวิจัยชิ้นนี้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อเรามีรายได้ระดับ 15,000 บาท/เดือน เราก็จะเครียด เพราะกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงิน ค่าใช้จ่ายต้องประหยัด และระมัดระวัง ถ้ามีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาท/เดือน เราก็จะเครียดลดลง กังวลลดลง ทำให้เรามี ‘ความสุข’ มากขึ้นอย่างชัดเจน แต่เมื่อรายได้ไปถึงเดือนละ 300,000 บาท/เดือน การได้รับเงินเพิ่มเป็น 400,000 บาท/เดือน จะไม่ได้ทำให้ความสุขความสบายใจของเราเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับที่ 15,000 – 30,000 บาท ทำได้นั่นเอง

เดือนมกราคมที่ผ่านมา แมทธิว คิลลิงส์วอร์ธ (Matthew Killingsworth) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ตีพิมพ์งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในเรื่องเดียวกันบอกว่า เงินสามารถซื้อความสุขได้แม้ว่าจะเกินระดับนี้ไปแล้ว เพราะมีทางเลือกที่มากกว่าในชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงินจนใช้ไม่หมดถึงจะมีความสุข งานวิจัยชิ้นใหม่แค่อธิบายว่าจุดตัดหรือระดับของความสุขนั้นจะไม่แตกต่างกันมากอีกต่อไปในระดับรายได้ที่สูงขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง (ซึ่งจากข้อมูลแล้วอยู่ราว ๆ 100,000 เหรียญสหรัฐ/ปี)​

เพราะฉะนั้นบทเรียนของงานวิจัยก็ยังเหมือนเดิมจากเมื่อสิบปีก่อน นั่นก็คือว่าเงินสามารถซื้อความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีรายได้น้อย แต่คนที่ร่ำรวยจนล้นเหลือนั้นก็อาจจะไม่ได้มีความสุขมากกว่าคุณสักเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกันแล้ว มันเป็นความจริงที่ยากที่จะเชื่อ เพราะเราทุกคนพยายามทำงานอย่างหนักเช้ายันค่ำ เพียงหวังว่าจะมีเงินมากขึ้นเพื่อมีความสุขมากยิ่งขึ้นไม่ว่าเราจะมีเงินมากแค่ไหนแล้วก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องเงินและความสุขดูเหมือนว่ามันมีข้อบกพร่องบางอย่างทางจิตวิทยาที่ฝังในตัวเราอยู่ยังไงยังงั้น

ดังนั้นการเข้าใจถึงประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเปิดเผยกลยุทธ์การใช้จ่ายเงินเพื่อสร้างชีวิตที่ความอยู่ดีกินดีในทุกระดับรายได้อีกด้วย เพียงเพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ มีความสุขมากขึ้นเมื่อพวกเขาร่ำรวยขึ้นเกินกว่าจุดหนึ่ง นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขา ไม่สามารถ มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ อันที่จริงเมื่อเรามีความเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในระดับรายได้ พวกเราก็สามารถใช้เงินเพื่อนำมาซึ่งความสุขมากขึ้นได้ไม่ต่างกัน

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการหาเงินมากขึ้นเป็นหนทางที่จะทำให้ความสุขนั้นเพิ่มขึ้นเพราะสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคนที่อยู่ในระดับรายได้น้อย ได้รับประทานอาหารที่สะอาดและถูกสุขอนามัย มีบ้านที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและสะอาด มีเงินส่งเสียลูกไปโรงเรียนที่มีคุณภาพ เวลาป่วยก็สามารถไปหาหมอและเข้ารับการรักษาได้อย่างไม่ต้องกังวล พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เงินจะเข้ามาช่วย ‘ลด’ ความไม่สะดวกสบายหรือความทุกข์ในชีวิตลงไปได้นั่นเอง

การเพิ่มความสุขและลดความทุกข์นั้นในความเป็นจริงแตกต่างกัน แต่เรามักจะไม่เห็น (หรือไม่สนใจ) ความแตกต่างตรงนั้นสักเท่าไหร่ สิ่งที่เรารู้ก็คือว่าเมื่อเราไม่มีเงิน ก็ไปหามา เมื่อหามาได้ เราก็รู้สึกดีขึ้น บทเรียน (ที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก) ก็คือว่าเงินซื้อความสุขมาได้ (ทั้ง ๆ ที่มันลดความทุกข์มากกว่า) ถูกฝังอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เมื่อเรารู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ รู้สึกว่าไม่พร้อม ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ฝังแน่นและยากจะสั่นคลอน ตั้งแต่เราเริ่มเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปบนโลกใบนี้ เราก็รู้แล้วว่าเวลาได้เงินเราก็รู้สึกดีมากขึ้นด้วย

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้นก็เริ่มจางหายไป เพราะความสุขทางวัตถุหรือความต้องการทางสิ่งของในชีวิตไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ การเพิ่มขนาดหน้าจอทีวีที่ใหญ่อยู่แล้วหรือเพิ่มแรงม้าของรถยนต์ที่แรงอยู่แล้วก็ไม่ได้กระทบกับความสุขของเราอะไรเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำงานได้เงินเดือนเยอะ ๆ ควรหยุดทำงานหนัก (เพราะที่จริงแล้วมีงานวิจัยที่บอกว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นสร้างความสุขให้เราได้ไม่ว่าจะมีระดับรายได้มากแค่ไหนก็ตาม)​ แต่สิ่งที่อยากจะสื่อก็คือว่าเมื่อทำงานถึงจุดหนึ่งที่มีเงินเยอะมากพอ การทำงานหนักเพียงเพื่อจะได้มีเงิน ‘มากขึ้นไปอีก’ เพื่อซื้อวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ให้มากขึ้นนั้นเป็นอะไรที่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตส่วนใหญ่คือเรื่องของความสัมพันธ์ ซึ่งเงินแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเราพยายามวิ่งตามรายได้ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เท่าไหร่ นั่นหมายถึงการใช้เวลากับความสัมพันธ์และความรักกับคนที่สำคัญน้อยลงไปเท่านั้นด้วย

หลายคนอาจจะรู้สึกไม่พอใจกับข้อสรุปแบบนี้ เพราะมันเหมือนกับว่าเราพยายามทำงานหนัก หาเงินให้เยอะที่สุด เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิต แต่มันกลับกลายเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ เลยซะงั้น โชคดีที่ความจริงแล้วมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามันมีวิธีการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขที่แตกต่างออกไป โดยการใช้มันเพื่อซื้อประสบการณ์ ซื้อเวลา และใช้มันเพื่อสร้างโอกาสให้คนอื่นจะทำให้ความสุขของเราเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถสร้างรายได้ที่มากเพียงพอ สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้มันซื้อสามอย่างที่กล่าวไปนั่นเอง

แต่กุญแจสำคัญที่เชื่อมทั้งสามอย่างเข้าด้วยกันคือการมี ‘คนอื่น’ เข้ามาร่วมด้วยทั้งสิ้น ถ้าซื้อประสบการณ์ อาจจะไปพักผ่อน ดินเนอร์ หรือท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ความสุขในชีวิตของคุณจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อแชร์ประสบการณ์เหล่านั้นกับคนที่คุณรัก เพื่อนและครอบครัวคือส่วนประกอบสำคัญสำหรับความสุข และประสบการณ์สนุก ๆ กับพวกเขาก็จะสร้างความทรงจำอันน่าจดจำไปตลอดชีวิต ไม่เหมือนกับรองเท้าแบรนด์เนมหรือรถยนต์รุ่นใหม่ที่ไม่นานก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ตกรุ่น

เหมือนกันถ้าเราจ้างใครสักคนหนึ่งเพื่อมาทำงานที่ใช้เวลาเยอะ ๆ และก็ไม่ชอบทำด้วย (อย่างเช่นทำความสะอาดบ้าน หรือตัดหญ้าตกแต่งสวนที่บ้าน) ส่วนคุณเองก็ไม่ใช้เวลาให้เปล่าประโยชน์อย่างนั่งไถมือถือหรือปะทะคารมกับใครไม่รู้บนทวิตเตอร์ คุณก็สามารถเอาเวลานี้ไปเพิ่มความสุขได้กับคนอื่น แถมยังไม่พอยังได้ช่วยทำให้เงินที่มีเพียงพอแล้วของคุณกลายเป็นรายได้ให้กับคนที่ยังหาเงินเพื่อก่อร่างสร้างตัวให้มีความสุขมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นถ้าหากใช้เงินเพื่อการกุศล ช่วยเหลือบุคคลหรือองค์กรที่ช่วยสังคม สมองของคุณจะหลังสารโดปามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน ที่ยกระดับอารมณ์ของคุณให้ดีขึ้นด้วย

ถ้าเราวิ่งตามเพียงความต้องการดิบของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็จะวนลูปอยู่กับความรู้สึกที่ไม่เพียงพอ ไม่พอใจ ทำงาน หาเงิน ซื้อของ และหวังว่ามันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องเล่นเกมไร้สาระนั่นก็ได้ ถ้าเราหาเงินมาได้ ก็สามารถใช้มันซื้อความสุขเล็ก ๆ และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าเรามีไม่มากก็ใช้มันไปกับสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะนั้นคือพื้นฐานของการสร้างความสุขให้กับตัวเองและทุกคนจำเป็นต้องทำ เมื่อเรามีมากขึ้นหน่อยเพียงพอสำหรับเรื่องทั่วไปก็ลองหยุดอารมณ์ความอยากซื้อของที่ไม่จำเป็น เก็บเงินไปซื้อความสุข ใช้มันกับคนที่อยู่รอบตัวบ้างก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย และถ้าเราโชคดีมากพอที่จะมีเหลือมากหน่อย ก็เปลี่ยนให้มันเป็นการแชร์และแบ่งปันความรักให้คนรอบข้าง ทำให้มันกลายเป็นแหล่งของความสุขที่มีค่า นั่นแหละคือวิธีการใช้เงินซื้อความสุขที่ไม่มีเพดานมาปิดกั้นเลย

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส