เคยคิดไหมบางทีเรานั่งทำงานอยู่ แต่อยากใส่ใจว่าทำไม พี่คนนั้นงานยุ่งจัง แต่อยู่ดี ๆ ก็ลาออก แล้วบอกว่าอยากไปเจออะไรใหม่ ๆ เพราะรู้สึกว่าภายในบริษัทเริ่มมีความครุกรุ่น ทุกคนดูทำงานหนัก และดูเหมือนมีคนจับจ้อง เลยต้องแกล้งทำเป็นยุ่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วแทบไม่ได้ทำงาน หรือบางครั้งก็ใช้เวลานั้นในการหางานใหม่เสียด้วยซ้ำ เทรนด์นี้เรียกว่า “Ghostworking” นั่นเองค่ะ

แม้จะไม่ใช่พฤติกรรมใหม่แต่ Ghostworking กำลังสะท้อนปัญหาใหญ่ในความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในยุคปัจจุบัน

ผลสำรวจชี้ ! พนักงานอเมริกันกว่า 90% เคยหางานใหม่ในเวลางาน

ผลสำรวจจาก Resume Now พบว่า 92% ของพนักงานยอมรับว่าเคยหางานใหม่ระหว่างเวลางาน โดยในจำนวนนี้ 55% บอกว่า “ทำเป็นประจำ” ขณะที่อีก 37% บอกว่า “เคยทำบ้างเป็นบางครั้ง”

วิธีที่ใช้กันบ่อยได้แก่

  • ปรับเรซูเม่ (24%)
  • สมัครงานโดยใช้คอมพิวเตอร์บริษัท (23%)
  • รับโทรศัพท์จากนายหน้าหางานระหว่างทำงาน (20%)
  • แอบออกไปสัมภาษณ์ในช่วงเวลางาน (19%)

ไม่ใช่แค่แกล้งทำงาน แต่เป็นเกมจิตวิทยาระหว่างพนักงานกับบริษัท

Ghostworking อาจดูคล้ายกับแนวคิดในอดีต อย่าง “Quiet Quitting” ที่โบกมือลางานหนัก หรือ “Productivity Theater” ที่ผลงานไม่มีแต่ดูเหมือนทำงานหนัก แต่ใน Ghostworking คนทำงานไม่เพียงแค่แกล้งทำเป็นยุ่ง แต่ยังใช้เวลางานเพื่อมองหางานใหม่จริงจัง

เบื้องหลังพฤติกรรมนี้ คือการตอบโต้เงียบ ๆ ต่อการควบคุมขององค์กร ทั้งการใช้ระบบติดตามพฤติกรรม การลดตำแหน่งแบบไม่บอก (Quiet Cutting) และการสร้างวัฒนธรรมที่วัดคุณค่าจาก “ความดูยุ่ง” มากกว่าผลงานจริง

ตัวอย่างพฤติกรรม Ghostworking ที่พบบ่อย พนักงานบางคนใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพว่ากำลังทำงาน เช่น

  • ขยับเมาส์เรื่อย ๆ เพื่อให้ระบบคิดว่ายังทำงานอยู่ (Mouse Jiggling)
  • แวะมาออฟฟิศแค่แตะบัตรแล้วหายไป (Coffee Badging)
  • แอบเที่ยวในวันทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานจากบ้าน (Quiet Vacationing)
  • เดินถือสมุดรอบออฟฟิศ, พิมพ์ข้อความไร้สาระ, เปิดสเปรดชีตแต่ท่องเว็บ หรือแม้กระทั่งนัดประชุมปลอม

ผลสำรวจพบว่า 58% ของพนักงานแกล้งทำงานอยู่เป็นประจำ และอีก 34% เคยทำบ้างเป็นบางครั้ง โดยเหตุผลหลักคือ “ความกดดัน” ที่ต้องแสดงออกว่า “กำลังทำงานตลอดเวลา” โดยเฉพาะคนทำงานทางไกลที่ไม่มีใครเห็นหน้าตลอดวัน

พนักงานหมดไฟ ขาดแรงจูงใจ รู้สึกว่าบริษัทไม่เห็นคุณค่า ?

Keith Spencer ผู้เชี่ยวชาญด้านสายงานอาชีพ ชี้ว่า Ghostworking เป็นผลจากภาวะหมดไฟและการขาดการสื่อสารที่ดีในที่ทำงาน หลายคนไม่ได้ตั้งใจจะแกล้งทำงาน แต่รู้สึกว่าจำเป็นต้อง “แสดง” ว่ากำลังทำงานเพื่อเอาตัวรอด

ที่น่าคิดคือ แม้ 69% บอกว่าหากถูกจับตามากขึ้น จะทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ก็มีถึง 10% ที่ยืนยันว่าจะหาทางพักหรือแกล้งทำงานอยู่ดี ขณะที่อีก 3% บอกว่าไม่มีผล เพราะมีวินัยในตัวเองอยู่แล้ว

ทางออกที่ดี วางใจมากกว่าจับผิด

วิธีแก้ปัญหานี้ไม่ใช่การเพิ่มการตรวจสอบ แต่คือการสร้างวัฒนธรรมที่มีความไว้ใจกันมากขึ้น องค์กรควรเริ่มจากการรับฟัง และเข้าใจว่าเบื้องหลังพฤติกรรม Ghostworking มีเหตุผลเฉพาะของแต่ละคน เพราะสุดท้ายการที่เกิดการ ‘แกล้งทำงาน’ อาจจะมีต้นตอที่น่าจะมีความสมเหตุสมผลก็เป็นได้

สิ่งที่องค์กรสามารถทำได้ 

  1. พูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
  2. เปิดพื้นที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  3. ชื่นชมความสำเร็จของพนักงาน แม้จะเป็นเรื่องเล็ก
  4. สร้างโอกาสในการเติบโต เช่น อบรม เพิ่มเส้นทางเลื่อนตำแหน่ง

เทรนด์ Ghostworking ไม่ใช่เรื่องของ “ความขี้เกียจ” แต่เป็นสัญญาณเตือน

สุดท้ายแล้วการ “แกล้งทำงาน” อาจเป็นแค่ปลายทางของระบบที่ขาดความไว้วางใจ เพราะบริษัทวัดจากการที่ดูยุ่ง และละเลยผลงานจริง ๆ ที่ทำ แต่บางทีก็เกิดจาก ความขี้เกียจก็เป็นได้ค่ะ 

ง่าย ๆ เลยไม่ว่าจะทั้งพนักงานหรือบริษัท ควรที่จะทุ่มเท ตัวพนักงานก็ควรตั้งใจทำงานอย่างแท้จริงไม่ขี้เกียจฝังลึก ทำหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้เต็มที่ ส่วนบริษัทก็ไม่มานั่งจับจ้องหรือทำให้พนักงานรู้สึกถูกควบคุม รวมถึงใส่ใจในสิ่งที่พนักงานทำจริง ๆ มองผลงานที่ออกไปให้มากยิ่งขึ้น 

เพราะไม่เช่นนั้น พนักงานก็จะยิ่งซ่อนพฤติกรรม แสร้งว่าทำงานมากขึ้น และยิ่งทำให้กินแรงพนักงานที่ทำงานจริง ๆ กลายเป็นผลเสียเสมือนกับเนื้อร้ายที่ค่อย ๆ ลุกลาม และความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็จะยิ่งห่างออกไป การมาเจอกันตรงกลางทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ จะทำให้ทุกการกระทำนั้นมีความหมายมากกว่าเดิมได้ค่ะ