ช่วงปี 1960 ประเทศคอมมิวนิสต์จีนยังยากจน ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน แต่ก็ยังเป็นที่ยำเกรงของทั่วโลก เป็นประเทศใหญ่แต่ไม่มีพลังเศรษฐกิจ ตอนนั้นสงครามเย็นกำลังเดือดพุ่งร้อนเต็มที่ แต่ลึก ๆ แล้ว ทั้งสองประเทศคอมมิวนิสต์นี้แข่งขันกันในเรื่องระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์นานมาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา

ในยุคนั้นสหภาพโซเวียตต้องการให้จีนปกครองระบอบคอมมิวนิสต์แบบที่ผู้นำวลาดีมีร์ เลนิน เป็นคนคิดและวางแผนหลังจากล้มระบอบกษัตริย์ของรัสเซียได้ แต่จีนมีระบอบคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดมาร์กซิสม์ และต้องการมีลักษณะความเป็นจีน ตามที่ท่านประธานเหมาเจ๋อตงวางแผนไว้ 

ความขัดแย้งนี้เกือบจะทำให้สองประเทศห้ำหั่นทำสงครามกัน แต่ก็ต้องร่วมมือกันเพราะกำลังต้านโลกตะวันตกอยู่

แบ็กกราวน์อันนี้แสดงให้เห็นว่ามิตรภาพระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ไม่เคยแนบสนิทอย่างที่คนทั่ว ๆ ไปชอบอ้างถึง อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์รัฐบาลต่อรัฐบาลระหว่างจีนกับรัสเซีย ขณะนี้ต้องยอมรับว่าดีมาก ๆ เรามีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่อริ การที่ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน เป็นผู้นำคนเดียวที่เข้าร่วมเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์นั้น ได้ใจผู้นำจีนอย่างสี จิ้นผิงเป็นอย่างมาก ไม่น่าแปลกใจที่จีนตอบแทนด้วยการสนับสนุนท่าทีรัสเซียที่เรียกร้องไม่ให้องค์การนาโต (NATO) ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นหรือขยายแนวชายแดนความมั่นคงทางด้านตะวันออกของรัสเซีย

ในระดับประชาชน ความรู้สึกระหว่างคนจีนกับรัสเซีย ต้องบอกว่าไม่ค่อยดี ตามจริงความรู้สึกคนจีนต่อคนอเมริกันดีกว่าที่มีต่อคนรัสเซียหลายร้อยเท่า ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา นักบวชชาวคริสต์ของสหรัฐอเมริกามีบทบาทมากช่วยพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขในจีน มหาวิทยาลัยเยลจึงเป็นสถาบันศึกษาชั้นสูงแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่สอนภาษาจีนในปี 1871 ตอนนี้คนจีนไม่ชอบเรียนภาษารัสเซียเหมือนสมัยก่อนแล้ว หันมาเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ

ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายการทูตและการให้ความช่วยเหลือจีนและรัสเซียแตกต่างกันมาก ถึงแม้ว่าในตอนแรก ๆ จะมีลักษณะหมือนกันตรงที่ว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าระบอบคอมมิวนิสต์ดีกว่าทุนนิยมเพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียบกันภายใต้ร่มฟ้าเดียวกัน อันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิคอมมิวนิสต์

ในยุคนี้ความเจริญโดยทั่ว ๆ ไปของรัสเซียและจีนมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ว่าระบอบไหนสามารถตอบสนองความต้องการประชาชนในประเทศของตน จีนรุดหน้าไปไกลมากในทุกด้าน ใช้วิธีคิดแบบ “วิน – วิน” คือนโยบายที่มุ่งไปทางสร้างผลบวก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นแผนงานแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของจีนในระยะยาวต่อการเมืองและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ส่วนรัสเซียไม่มีวิสัยทัศน์แบบนี้อีกแล้ว ในช่วง 30 กว่าปีหลังการล้มละลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียต้องถูกโดดเดี่ยว หัวเดียวกระเทียมลีบ ทั้งในและนอกประเทศ พยายามรวบรวมประเทศไม่ให้เกิดมีรัฐอิสระที่จะกลายเป็นประเทศใหม่เหมือนในอดีต  มุ่งมั่นสิ่งท้าท้ายในประเทศ ข้อจำกัดนี้มีผลโดยตรงต่อคนรัสเซียที่ต้องยอมรับสไตล์การเป็นผู้นำอย่างปูติน คือแข็งกร้าวกึ่งเผด็จการ (รัสเซียมองตัวเองเป็นประเทศประชาธิปไตย) มีลัทธิเลือดชาตินิยมสูง ทำให้ปูตินอยู่ในอำนาจนานถึง 20 ปี

ตามจริง สัมพันธ์จีนกับรัสเซียมีความอ่อนไหวมาก ขึ้นอยู่กับระดับมิตรภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในอนาคต แน่นอนที่สุด ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้จะดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะจะทำลายการพึ่งพาในทุกมิติของสองมหาอำนาจที่ได้สร้างสมกันมาตั้งแต่ปี 1972 ถ้าโครงสร้างนี้ถูกทำลายจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสองประเทศ

การพึ่งพาระหว่างรัสเซียกับจีนเป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์มากกว่าสาเหตุอื่น ๆ ความเหนียวแน่นจะลดทอนลงทันทีที่มีความคืบหน้าการเจรจาการค้า G5 และด้านยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในอนาคต

สรุปได้ว่ารัสเซียกับจีนไม่รักกันจริง แต่ทั้งสองประเทศไม่หลอกซึ่งกันและกัน มีความจริงใจต่อกันมากว่าที่มีต่อสหรัฐอเมริกา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส