วันนี้ (9 สิงหาคม 65) ธนาคารซิตี้แบงก์ (Citibank) อัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังของปี 2565 โดยมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพคล่องทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในมหาอำนาจในโลกเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาก็พบการชะลอตัวของการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ขณะที่จีนกลับทยอยให้เห็นถึงการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ แม้ยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ก็ตาม

ด้าน GDP ไทย นักวิเคราะห์ซิตี้คาดอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว พร้อมคาดการณ์แบบเดิมว่า กนง. จะเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สามครั้งภายในปีนี้และปีหน้า เพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่เริ่มทยอยฟื้นตัว

จากข้อมูลดังกลาวส่งผลให้ภาพรวมของตลาดการลงทุนยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน นอกจากนี้นักวิเคราะห์ซิตี้ยังมีมุมมองบวกต่อตราสารหนี้คุณภาพสูงที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแนะนำการลงทุนครึ่งปีหลัง 2565 ด้วย ได้แก่ ลดการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่คาดการณ์ว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี ต่อด้วยการลงทุนในผู้นำอุตสาหกรรมระยะยาว เพื่อแสวงหาผลตอบแทนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีรายได้ดีอย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน ฟินเทค กลุ่มการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม ฯลฯ ปิดท้ายด้วยการลงทุนทางเลือกนอกเหนือจากสินทรัพย์หลัก เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว ควบคู่ไปกับการจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด

มร.เคน เพ็ง (Ken Peng) นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสภาวะสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังสูงในหลายประเทศ ปัญหาห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุล นโยบายและมาตรการด้านการเงินและธนาคารของแต่ละประเทศที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงปัญหาราคาพลังงานจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจ นำโดยสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังพบอุปสรรคจากทั้งปัญหาเงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและการปรับขึ้นค่าจ้าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการ ตลอดจนการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เดินหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้นักวิเคราะห์ซิตี้มองว่ากว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะกลับไปยังจุดเดิมก่อนเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน อาจใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี ขณะที่ประเทศจีน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ แม้ยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายควบคุมโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID Policy) โดยพบว่าดัชนี PMI ภาคบริการมีการดีดตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลจีนได้เตรียมออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจประเทศ

จากข้อมูลข้างต้นทำให้ภาพรวมตลาดการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง จากความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อตราสารหนี้คุณภาพสูงที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อัตราผลตอบแทนคงที่ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่พันธบัตรสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม นอกเหนือจากการถือครองเงินสดเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดียังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส