ปี 2565 ประเทศไทยและโลกต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น ภาวะเงินเฟ้อ และสงคราม ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่โจมตีโลกและทวีคูณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอ ทำให้เกิดกระแส Green Economy ที่ผู้นำทั่วโลกมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกันคือต้องเปลี่ยนผ่านทั้งธุรกิจและพลังงาน

ไทยต้องเปลี่ยนผ่านแบบ Least Disruptive Transition 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้นจะไม่เป็นไปแบบราบรื่นแน่นอน เพราะราคาพลังงานที่ผันผวนจากผลพวงของสงครามการค้า การลงทุนในพลังงานดั้งเดิมที่ยังคงเกิดใหม่ และการลงทุนในพลังงานทดแทนที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านต้องเกิดขึ้น ซึ่งควรเป็นไปในรูปแบบ  Least Disruptive Transition หรือ การเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าการเปลี่ยนผ่าน ก็จะต้องส่งผลกระทบอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดควรเริ่มจากไม่ให้การเปลี่ยนผ่านไปรบกวน 4 มิตินี้  ได้แก่ มิติแรก คือ ความมั่งคั่ง ไม่ควรบบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเร็วจนภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน, มิติที่ 2 ความยืดหยุ่น ต้องเปลี่ยนผ่านกับผู้ประกอบการที่พร้อม มีเงินทุนสำรองเป็นกันชน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินทุนที่ปล่อยออกไปกลายเป็น NPL , มิติที่ 3 ความยั่งยืน โดยภาคธุรกิจต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวนมาก ควรจัดเป็นงบประมาณประจำเพราะ เรื่องนี้ไม่ได้ทำตามเทรนด์ในระยะสั้น แต่จ้องทำตลอดไป และมิติที่ 4 ต้องเปลี่ยนผ่านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (มากจนเกินไป) เพราะการเปลี่ยนผ่านมักจะมีผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบาง หรือ SMEs ที่ปรับตัวไม่ทันเสมอ

ภาคการเงินคือส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน

อีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Green Economy ได้อย่างเรียบเนียนมากขึ้นก็คือภาคการเงินที่ควรออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สนับสนุน Green Economy ซึ่งควรนำเรื่องการดำเนินธุรกิจแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานประเมินความเสี่ยงและโอกาสของการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นภาคการเงินจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญ ​เพราะถ้าประเมินความเสี่ยงต่ำเกิน หรือ ผิดพลาดก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสเถียรภาพในภาพรวมด้วย

“Global Green Financing ในระดับโลกมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่าในช่วง ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ไทยเรามีสินค้าที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านบ้างแล้ว แต่ถ้าเทียบกับนานาชาติ เรายังมีน้อยและทำช้า ยังไม่สามารถปรับตัวได้ดีเท่าที่ควร อย่างต่างชาติเขามีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่รักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เป็นต้น”

ธปท. ทำคู่มือ Green Economy ให้สถาบันการเงิน

ทั้งนี้ การที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Green Economy ไม่ออกมาสู่ตลาด หรือ ออกมาน้อย เพราะขาดการกำหนดมาตรฐานกลางต้องมีผู้ตีความคำว่า Green ให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นภารกิจสำคัญของ ธปท. ที่นอกจากจะต้องคอยควบคุมให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปแบบส่งผลกระทบน้อยที่สุดแล้ว ยังตองเร่งจัดการให้สถาบันการเงินทำงานง่ายขึ้นในการออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Green Economy ด้วย

ทั้งนี้ ธปท.​ อยู่ระหว่างพัฒนาคู่มือแนวปฏิบัติของภาคสถาบันการเงิน (industry handbook) โดยภายในจะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมการกำหนดมาตรฐาน Green Economy แบ่งตามประเภทธุรกิจ เช่น ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยจะแบ่งออกเป็นเทียร์ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ คาดว่าจะเริ่มจำแนกแต่ละประเภทธุรกิจได้แล้วเสร็จ (Taxonomy) ภายในปี 2566 

“ผมได้เดินทางไปประชุมที่อังกฤษ คุยกับผู้ประกอบการและ Regulators ของเขา พบว่า สิ่งที่เรากำลังทำไม่ได้แตกต่างจากที่เขาทำกันเลย โดยเฉพาะอังกฤษถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ แต่ข่าวร้ายคือ เราทำไม่พอ ยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะเรื่องกรอบการดำเนินการ ต้องทำให้มากกว่านี้ เร็วและชัดเจนกว่านี้”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส