เรียกว่าเป็นกระแสที่ชวนให้หลาย ๆ คนกินข้าวกันไม่ลงเลยทีเดียวกับเรื่องการกินสิ่งปฏิกูลของร่างกายในการรักษาโรคอย่างอย่างปัสสาวะ อุจจาระ และขี้ไคล ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มีอะไรอยู่บ้าง แล้วกินได้หรือไม่?

อุจจาระ มีอะไรบ้างนะ

อุจจาระเป็นกากอาหารที่ผ่านกระบวนการย่อยในร่างกายเราเรียบร้อยแล้ว โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยน้ำทั้งหมด 75% ที่เหลือจะเป็นไขมัน โปนตีน คาร์โบไฮเดรต และแบคทีเรีย โดยแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ Campylobacter, E. coli, Salmonella และ Shigella

แน่นอนว่าการรับประทานอุจจาระไม่ใช่ทางเลือกในการรักษาที่ดีแน่นอน เพราะแบคทีเรียเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาหลายอย่าง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย (อุจจาระเหลว) อาเจียร และมีไข้เป็นต้น ที่ร้ายแรงกว่าคือหากในอุจจาระมีปรสิตหรือเชื้อไวรัสอย่าง ไวรัสตับอักเสบ A และตับอักเสบ E ก็จะส่งผ่านไปสู่ผู้ที่รับประทานด้วยเช่นเดียวกัน

ปัสสาวะ มีอะไรนะ

อันที่จริงเรื่องการดื่มปัสสาวะรักษาโรคนั้นมีการพูดถึงมานานแล้วพอสมควร บางแห่งอ้างว่าการดื่มน้ำปัสสาวะ (ของตัวเอง) สามารถรักษาได้หลายโรค เช่น ภูมิแพ้ โรคผิวหนัง มะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจ การติดเชื้อ เป็นต้น แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ยังไม่มีการยืนยันหรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถรักษาได้จริง

ถึงแม้ว่าการดื่มฉี่ (ย้ำอีกครั้งว่าของตัวเอง) ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ จะไม่ส่งผลอะไรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าน้ำเปล่า โดยปกติแล้วปัสสาวะในร่างกายเราจะไม่มีแบคทีเรียเจือปนอยู่ แต่เมื่อออกมาจากร่างกายแล้ว จะสามารถเจือปนกับสิ่งสกปรกภายนอกได้

อันที่จริงแล้วแม้แต่กองทัพบกของสหรัฐฯ เองก็สั่งห้ามทหารดื่มปัสสาวะของตัวเองแม้ว่าสถานการณ์จะแย่มากก็ตาม เนื่องจากในปัสสาวะที่ยังไม่มีการเจือปนของแบคทีเรียและอื่น ๆ จะมีเกลือและแร่ธาตุเข้มข้น ซึ่งหากเราดื่มเข้าไป ร่างกายจะต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อไปเจือจางปริมาณสารที่เราได้รับเพิ่มเข้าไป

ขี้ไคล มีอะไรนะ

ขี้ไคลเป็นหนังกำพร้าของผิวหนังที่จะหลุดออกมาเมื่อหมดอายุขัย ซึ่งจะหลุดออกมาเป็นปกติทุกวันอยู่แล้ว โดยปกติแล้วผิวหนังเราจะสัมผัสหรือเจอสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ตลอดเวลา เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น จึงอาจเป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรกต่าง ๆ ได้ ยังไงก็ไม่ควรจะนำมากินอยู่ดี เพราะอาจได้รับเชื้อโรคเข้าไปนั่นเอง

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะอุจจาระ ปัสสาวะ หรือขี้ไคล ก็ไม่ควรจะนำมารับประทานเนื่องจากอาจมีความสกปรกและทำให้เกิดโทษกับร่างกายแทนได้

ที่มา Healthline 1, 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส