หลังจากที่จีนได้ทำการส่งยานฉางเอ๋อ 3 ลงสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จ จีนก็ไม่รอช้าส่งยานฉางเอ๋อ 4 ขึ้นสู่อวกาศเพื่อเตรียมสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ต่อทันที และในวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมายานฉางเอ๋อ 4 ก็ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย

ด้านมืดของดวงจันทร์ เป็นคำพูดที่ใช้กล่าวถึงดวงจันทร์อีกด้านที่ห่างไกลจากโลก เนื่องจากมันอยู่อีกด้านกับโลกของเรา การส่งสัญญาณวิทยุไปยังยานอวกาศจึงทำได้ยาก ทำให้การสำรวจเป็นไปได้ยากไปด้วย  แต่! พี่จีนเค้าทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพราะเค้าได้ส่งดาวเทียมไปโคจรใกล้ๆ ดวงจันทร์เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณจากอีกด้านของดวงจันทร์มายังโลก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการสำรวจครั้งนี้จีนใช้หุ่นยนต์ในการสำรวจพื้นผิวบริเวณ South Pole-Aitken basin (ที่ราบขั้วใต้ ที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน ที่ราบนี้กว้างประมาณ 1,550 ไมล์ คาดกันว่าที่ราบนี้เกิดขึ้นจากอุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์เมื่อหลายพันล้านปีที่แล้ว) นั่นทำให้จีนจะได้เห็นพื้นผิวดวงจันทร์อย่างที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน การศึกษาที่ราบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับระบบสุริยะในอนาคตได้

ถึงแม้ว่าภารกิจฉางเอ๋อ 4 จะไม่สามารถคาดการณ์ถึงอายุที่แท้จริงของ South Pole-Aitken basin ได้ แต่อย่างน้อยบนยานก็ติดตั้งอุปกรณ์มากมายที่ช่วยในการสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ ทำให้สามารถศึกษาถึงองค์ประกอบ และโครงสร้างหินของดวงจันทร์ในพื้นที่นี้ได้ ในขณะเดียวกันก็จะทำการสำรวจท้องฟ้าบนดวงจันทร์เพื่อเก็บข้อมูลให้กับนักดาราศาสตร์บนโลกอีกด้วย

ฉางเอ๋อ 4 ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำรวจดวงจันทร์ ‘ฉางเอ๋อ’ ของจีน ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าในด้านเทคโนโลยียานอวกาศ จีนจึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องการสำรวจอวกาศที่มาแรงมากๆเลยทีเดียว

อ้างอิง