“ร่างกายต้องการทะเล” “อยากไปนั่งโง่ ๆ ริมทะเล” ประโยคเหล่านี้ที่เราได้ยินได้ฟังจากเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือได้เห็นตามสื่อโซเชียล หรือแม้แต่จากตัวเราเองเวลาที่เศร้า เหงา เครียด ไม่สบายใจก็มีแว่บหนึ่งที่ชวนนึกให้อยากไปผ่อนคลายด้วยการนั่งริมทะเล ฟังเสียงคลื่น ความต้องการอย่างนี้ไม่ใช่เกิดจากความอุปทานแต่อย่างใด และไม่ใช่เป็นเฉพาะคนเราชาวไทยนะครับ อาการต้องการทะเลนี่เป็นกันทั้งโลก และไม่ใช่เรื่องแปลกหรือคิดกันไปเองว่าการไปเที่ยวทะเลแล้วเรารู้สึกมีความสุข เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมายืนยันแล้วว่า “ทะเล” มีผลต่อสมองมนุษย์จริงและทำให้เรารู้สึกมีความสุขจริง

ทะเลเยียวยามนุษยชาติมานับศตวรรษแล้ว

ไม่ใช่แค่มนุษย์รุ่นเรา ๆ นี้ ที่มีความรู้สึกต้องการทะเล มีการศึกษาเรื่องทะเลกับการเยียวยาจิตใจมนุษย์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้ว วิลเลียม บูชาน แพทย์ชาวสก็อตต์ (1729 – 1825) เป็นแพทย์ที่สนับสนุนให้คนไข้ลงไปแช่ตัวในทะเล เพราะมีผลเยียวยาในการรักษาโรค โรงพยาบาลทางทะเลและชายฝั่งได้ทำการพิสูจน์ทฤษฎีนี้และพบว่าข้อวินิจฉัยของหมอวิลเลียมนั้นถูกต้อง แล้วยังเสริมเพิ่มอีกว่า “น้ำทะเลส่งผลในทางบวกต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก”

ทะเลส่งออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายและผ่อนคลายจิตใจเรา

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าเรื่องผลกระทบจากทะเลที่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์กันอย่างจริงจังมาก ถึงกับตั้งชื่อโพรเจกต์นี้ว่า “BlueHealth” หนึ่งในการค้นพบจากโพรเจกต์นี้คือ เสียงของคลื่นกระทบฝั่งไปกระตุ้นพื้นที่ในสมองส่วนที่เรียกว่า “prefrontal cortex” สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ และสะท้อนความเป็นตัวตนเราเอง เมื่อได้ยินเสียงทะเลเสียงคลื่น เจ้า prefrontal cortex ก็จะขยายขอบเขตและพัฒนาความตระหนักรู้ตัวตน (self awarness) ทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดี

แม้แต่เสียงคลื่นก็ยังส่งผลต่อสภาพจิตเราด้วยเช่นกัน บางทีก็ฟังดูเหมือนเวอร์เกินจริงนะ ทะเลทำไมมีผลต่อสภาพจิตและร่างกายเราขนาดนั้น แต่ก็มีการพิสูจน์มาแล้วเช่นกันว่า คลื่นทะเลจะปล่อยประจุไฟฟ้าลบออกมาแล้วร่างกายเราจะดูดซับไว้ กระบวนการนี้จะส่งผลให้ร่างกายเราดูดซับออกซิเจนได้มากขึ้น และเกิดการหมุนเวียนของ “เซโรโทนิน” ในร่างกาย , เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีชนิดหนึ่งทีร่างกายสร้างขึ้น มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร รวมไปถึง การนอนหลับ มีการเปรียบเปรยว่า เมื่อร่างกายหลั่งสารเซโรโทนินออกมา เราจะรู้สึกผ่อนคลายเหมือนกับตอนเล่นโยคะเสร็จ

เสียงทะเลช่วยลดความตึงเครียด

ในร่างกายเรามีฮอร์โมนอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า “คอร์ติซอล” ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่ตอบสนองต่อความเครียด เมื่อมีเรื่องกวนใจหรือทำให้เรากังวล ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอลเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมรบนั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พิสูจน์มาแล้วเช่นกันว่า เมื่อได้ยินเสียงทะเลจะช่วยลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล ทำให้สภาพจิตใจรู้สึกสงบผ่อนคลายมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อสันนิษฐานอีกว่า เสียงของทะเลเปรียบได้กับเสียงของหัวใจแม่เต้นที่เราได้ยินตอนยังอยู่ในท้อง ซึ่งเสียงนี้จะส่งผลให้มนุษย์เรารู้สึกปลอดภัยเหมือนได้รับการปกป้องคุ้มครอง

มองทะเลสิแล้วจะรู้สึกสบายใจ

ไมเคิล เมอร์เซนิซ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา ได้ออกมาสนับสนุนข้อดีของทะเลว่า “เมื่อเราพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเดินไปตามชายหาด มองออกไปในทะเล จิตใจเราจะสัมผัสได้ว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย วางใจได้” อาจจะยังไม่ชัดเจน ไมเคิลได้ขยายความเปรียบเทียบว่า ถ้าวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอเสือตัวหนึ่ง เสืออาจขย้ำเราได้ หรือเดินในตรอกซอกซอยมืด ๆ ก็อาจจะเจอโจรมาทุบหัวแบะ ปล้นจี้เราได้ แต่ทะเลเป็นสถานที่เปิดโล่งมองไปได้ไกล ๆ สามารถปล่อยใจผ่อนคลายได้จากอันตรายรอบตัว แต่ถ้าน้ำทะเลลดฮวบทันทีก็รู้นะว่าต้องทำอย่างไรต่อ

ถ้าไปทะเลในวันฟ้าโปร่ง เราได้จะได้รับสารเคมีที่ช่วยเพิ่มระดับความสุข

อย่าลืมนะครับว่าทฤษฎีทั้งหมดนี้ มาจากนักวิทยาศาสตร์ฝั่งตะวันตก บางข้อก็ใช้กับแดดประเทศไทยไม่ได้ อย่างเช่นข้อนี้ พลังงานความร้อนที่ร่างกายได้รับในขณะที่นอนอาบแดด จะไปช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ระบบนี้จะรับผิดชอบในการหลั่งสาร “เอ็นโดรฟีน” ซึ่งเรารู้จักกันดีในฐานะ สารแห่งความสุข เป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาหลังออกกำลังกายและทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งช่วยให้รู้สึกดีหรือสบายตัวได้ แต่ไม่เพียงถูกขนานนามว่าเป็นสารแห่งความสุขแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้านอีกด้วย ทั้งบรรเทาความเจ็บปวด ช่วยให้คนท้องคลอดลูกง่ายขึ้น บรรเทาอาการซึมเศร้า คลายเครียด เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ยังไม่เคยสัมผัสความสุขเวลาที่เจอแดดตอนกลางวันเลยจริงจริ๊ง

อ่านจบแล้วยัง…………ไปต๊ะเลกันเถอะ

 

อ้างอิง : brightside