ตื่นเต้นกันไปเบอร์ใหญ่กับ ข่าวร้อนโลกแตกวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2020 ตามการคำนวณปฏิทินมายาล่าสุด เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ใช่ว่าวันดังกล่าวจะเป็นวันธรรมดาไร้เรื่องตื่นเต้นเสียทีเดียว เพราะเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดของปี แถมยังมีสุริยุปราคาบางส่วนมาให้ยลกันอีกด้วยในช่วงเวลาประมาณ 13:00 – 16:10 น. โดยดวงอาทิตย์จะปรากฏในลักษณะเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น.

อะไรคือวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุด 

การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีในหนึ่งปี ทำให้โลกมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (ระยะห่างเฉลี่ย 152 ล้านกิโลเมตร) แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลสำคัญต่อการเกิดฤดูกาลหรือความสั้นยาวของวันแต่อย่างใด เพราะเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิจนเกิดเป็นฤดูกาลได้ 

สิ่งสำคัญคือ การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ต่างหาก ด้วยความเอียงนี้จึงทำให้แสงอาทิตย์สาดส่องไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมีนาคม ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อย ๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดเช่นกัน จึงทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านาน และมีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี

เพื่อบ่งบอกถึงระยะเวลาอันยาวนานของดวงอาทิตย์ในวันนั้น จึงเกิดคำเรียกว่า วันครีษมายัน (อ่านว่า ครีด-สะ-มา-ยัน) ขึ้น ในภาษาอังกฤษคือคำว่า Summer Solstice คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ นั่นเอง 

และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง วันดังกล่าวจึงนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

แต่ความพิเศษของวันที่ 21 มิถุนายน นี้ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น มันยังมีปรากฏการณ์พิเศษที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นอย่าง ‘สุริยุปราคาบางส่วน’ ให้เราชมกันได้ในประเทศไทยด้วย

สุริยุปราคาบางส่วนในไทย เห็นได้แค่ไหน 

สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน นี้ เป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนนาน 38 วินาที 

สำหรับประเทศไทย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า จะเห็นเป็น ‘สุริยุปราคาบางส่วน’ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 13:00 – 16:10 น.  โดยดวงอาทิตย์จะปรากฏในลักษณะเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. สามารถสังเกตได้ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน เงาของดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดในบริเวณภาคเหนือ ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถึงประมาณร้อยละ 63 ส่วนกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังลดหลั่นลงมาที่ประมาณร้อยละ 40 และภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น 

อยากชมสุริยุปราคาต้องทำอย่างไร ต้องมีตัวช่วยไหม

เพื่อให้การชมสุริยุปราคาเป็นไปอย่างราบรื่น ไร้อันตราย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT จึงฝากมาเตือนว่า ***ห้ามมองดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่าเด็ดขาด*** เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ ทั้งยังรวบรวมวิธีการสังเกตสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย มาให้เราได้ศึกษาและเตรียมพร้อมกันก่อนรับชมกันด้วย ซึ่งสรุปใจความแล้ว มีวิธีการสังเกตโดยทั่วไป 2 แบบ ดังนี้ 

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ  เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์ แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นกรองแสงแบล็กพอลิเมอร์หรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

ห้ามใช้ ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะมีสีดำสนิทก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะอุปกรณ์ดังกล่าว                มีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ 

นอกจากนี้ แม้จะใช้อุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ก็ยังไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูแสงของดวงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม  การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน 

วิธีการนี้มีหลากหลาย ทั้งการใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป  หรือการใช้กล้องรูเข็มอย่างง่าย

การประดิษฐ์กล้องรูเข็มก็ทำได้ไม่ยาก โดยใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ ให้เจาะรูเล็ก ๆ บนวัสดุที่ต้องการ แล้วนำไปตั้งไว้กลางแจ้ง แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน ขนาดของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง จะมองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

ส่วนการบันทึกภาพ นายศุภฤกษ์ เน้นย้ำให้ทำอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากถ่ายภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล ก็อย่าเผลอมองไปยังดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ส่วนกล้องถ่ายภาพ DSLR ก็มีติดเลนส์กำลังขยายสูง สามารถรวมแสงและความร้อนได้ จึง ห้าม ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยปราศจากแผ่นกรองแสง    และ ห้าม ใช้ตาเล็งดวงอาทิตย์จากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด 

นอกจากการสังเกตการณ์เองแล้ว NARIT ยังจัด LIVE ถ่ายทอดสดให้รับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนกันอย่างจุใจ โดยจะถ่ายทอดปรากฏการณ์ตั้งแต่เวลา 13:00 – 16:10 น. ส่งตรงมาจาก 4 ภูมิภาค ให้เทียบความแตกต่างกันจะ ๆ

  • ภาคเหนือ : ถ่ายทอดจากอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม   จ. เชียงใหม่ 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
  • ภาคกลาง : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
  • ภาคใต้ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา

ใครสนใจก็ลองไปตามรายละเอียดข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ NARIT หรือ ใน เฟซบุ๊กNARIT ดูนะครับ หากพลาดชมสุริยุปราคาครั้งนี้จะต้องรอชมสุริยุปราคาบางส่วนอีกที ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 หรือต้องรอชมอีกที 7 ปีหน้าเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก:  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส