หลากเหตุการณ์น่าสับสนวุ่นวายรอบโลก ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวอย่างหนักหน่วงในสหรัฐฯ พิษเศรษฐกิจและภัยพิบัติทางธรรมชาติรอบโลก ก็ชวนให้หลายคนรู้สึกหดหู่ เสมือนเข้าสู่กลียุคได้แล้ว ยิ่งมีข่าวพูดถึงวันสิ้นโลกว่า แท้จริงแล้วที่ปฏิทินมายาเคยสิ้นสุดไปเมื่อปี ค.ศ. 2012 นั้นคำนวณผิด มันจะสิ้นสุดในสัปดาห์หน้านี้ต่างหาก ก็ยิ่งชวนให้คิดเตลิดกันเข้าไปใหญ่ เราจึงขอรวบรวมข้อมูลที่มาที่ไปมาให้อ่านกันสักนิดก่อนคิดจะเชื่อกัน

ปฏิทินมายาเคยทำนายว่าโลกสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 ?!

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 2012 เกิดความตื่นตัวขึ้นเมื่อมีการตีความว่า 21 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็น ‘วันเหมายัน’ ของปีนั้นพอดิบพอดี (วันที่กลางคืนยาวนานที่สุดของปี… ช่างได้บรรยากาศเหลือเกิน) โลกจะถึงกาลสูญสิ้น เหตุเพราะปฏิทินมายาหรือปฏิทินของชาวมายัน (Mayan Calendar) ได้คำนวณปฏิทินไว้สิ้นสุดถึงวันนั้น (ปฏิทินมายาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3,114 ปีก่อนคริสตกาล และมีอายุ 5,125 ปี)

นานาหนังสือและสื่อมากมายที่พูดถึงวันสิ้นโลกตามการสิ้นสุดของปฏิทินมายาในปี ค.ศ. 2012

เรื่องดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา ร้อนถึงนาซาต้องออกมาชี้แจงและคอนเฟิร์มว่า โลกไม่แตกนะจ๊ะ ถ้าจะมีวัตถุใด ๆ มาทำให้โลกแตกหรือดับสูญได้ สิ่งนั้นต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่นักวิทยาศาสตร์จะสังเกตเห็นล่วงหน้าได้เป็นสิบปี เพราะงั้นอย่าได้กังวลไปเลย 

คำนวณผิด ไม่ใช่ ค.ศ. 2012 แต่เป็น ค.ศ. 2020 ต่างหาก!

เมื่อวันดังกล่าวผ่านพ้นไปโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงไม่ได้มีใครหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงอีก จวบจนกระทั่งไม่กี่วันก่อนที่จู่ ๆ มีนักวิทยาศาสตร์หนุ่มนามเปาโล ตากาล็อกอน (Paolo Tagalogun) เกิดทวิตข้อความขึ้นมาว่า การเปลี่ยนปฏิทินจากแบบจูเลียน (Julian Calendar) ไปเป็นปฏิทินแบบเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) ในศตวรรษที่ 18 ทำให้จำนวนวันในปฏิทิน 11 วันหายไปทุกปีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

“นับตั้งแต่การเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน รวมเป็นเวลา 268 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1752-2020) เมื่อคูณด้วยจำนวนวันที่หายไป 11 วัน จะเท่ากับ 2,948 วัน เมื่อหารให้เป็นปีด้วย 365 วัน จะเท่ากับ 8 ปี พอดี”

และวันที่ว่าก็เหลืออีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว เพราะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2020 พอดิบพอดี ซึ่งก็มาตรงกับลูปของวันครีษมายันของปีนี้ (วันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี) แถมยังเป็นวันที่เกิดสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยอีกด้วย

ด้วยความพอเหมาะพอเจาะแบบนี้ วันดังกล่าวจึงเป็นที่พูดถึงในสื่อต่าง ๆ ในต่างประเทศอย่างครึกโครม

อย่างไรก็ตาม เปาโลผู้โพสต์ทวิตนี้ได้ลบข้อความดังกล่าวออกจากทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสข่าวที่โหมกระพือได้แล้ว

เช็กก่อนเชื่อ ชัวร์หรือมั่ว ?!

ทีนี้มาดูกันสิว่า ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อถือมากแค่ไหน

อย่างแรกเลย นี่ไม่ใช่การทำนายวันโลกาวินาศครั้งแรกที่มาจากอารยธรรมโบราณ ตั้งแต่อดีตมีการพยากรณ์เกี่ยวกับวันสิ้นโลกไว้อยู่หลากหลายรูปแบบ และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรูปแบบใดที่เข้าเค้าหรือแม่นยำเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่หนักแน่นพอใช่ไหมล่ะ สิ่งที่ไม่เกิดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดในอนาคต เพราะแบบนั้นเรามาดูเหตุผลข้อต่อมากัน นั่นก็คือที่ตัวปฏิทินมายาเอง

ที่จริงแล้ว ปฏิทินมายาไม่ได้มีการเขียนชี้ชัดว่า วันนี้คือวันสุดท้ายของโลกเรา เป็นไปได้ว่า เป็นแค่การสิ้นสุดของวงรอบ หรือ การเขียนคำนวณที่มาจบตรงวันนั้นเท่านั้นเอง ไม่ต่างอะไรกับการที่เราโยนทิ้งปฏิทินปีเก่าไป แล้วหันมาใช้อันใหม่วนไป หรือแบบเดียวกับตอนที่เราเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ในปี ค.ศ. 2000 นั่นแหละ 

ทีนี้มาดูเหตุผลด้านการคำนวณกันบ้าง ฟิล เพลท (Phil Plait) นักดาราศาสตร์เจ้าของแอกเคานต์ @BadAstronomer ได้ออกมาอธิบายถึงข้อผิดพลาดในการคำนวณนี้ว่า 

“การคำนวณนี้มันผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะปฏิทินเกรกอเรียนไม่ได้ทำให้จำนวนวันสูญหายไป 11 วันต่อปี! จริง ๆ แล้ว ปฏิทินจูเลียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีตนั้นค่อนข้างแม่นยำ แต่จัดการกับวันเหลื่อมปีได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ดังนั้น หลายร้อยปีที่ผ่านมา หลายประเทศจึงเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน ซึ่งซับซ้อนกว่าแต่ก็คำนวณวันดังกล่าวได้แม่นยำกว่าแทน  ในตอนที่เปลี่ยนนั้น พวกเขาจะต้องคำนวณวันล่วงหน้าหลายวันเพื่อชดเชยวันที่พลาดไป ซึ่งโดยปกติจะประมาณ 10 หรือ 11 วัน แต่จะทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ทุกปี ดังนั้นการกล่าวอ้างว่า 8 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนวันมหาศาลถูกมองข้ามไป จึงเป็นเรื่องที่พลาดมหันต์”

“อีกเรื่องคือ และแม้จะเป็นแบบนั้น มันก็ไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากวันในปฏิทินมายามาเป็นวันในปฏิทินเกรกอเรียน ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะนำเอาวันในแบบปฏิทินจูเลียนมาคิดอีก นั่นมันไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลย”  

ภาพจากบทความของ ฟิล เพลท (Phil Plait)

และหากคิด ๆ ดูแล้ว การที่ผู้โพสต์ทวิตครั้งแรกได้ลบข้อมูลนี้ออกไปก็อาจจะเพราะนึกได้แล้วว่า ตนเองคำนวณผิดก็เป็นได้ 

เอาล่ะ มีข้อมูลอีกด้านออกมาอธิบายแบบนี้แล้วก็ลองคิดตามกันดู ก่อนจะเชื่อหรือแตกตื่นนะครับ 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส