4 ส.ค. โครงการพัฒนาต้นแบบ Starship ของ SpaceX ที่มีเป้าหมายสำหรับขนส่งลูกเรือหรือสัมภาระออกสู่วงโคจรของโลกแล้วมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์และดวงอังคารได้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้น เมื่อต้นแบบ Starship SN5 สามารถบินขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ศูนย์ทดสอบใน Boca Chica ได้สูง 150 ม. ด้วยการทดสอบจุดระเบิดเครื่องยนต์ Raptor เพียงตัวเดียวให้ทำงานและขับดัน SN5 ลอยพุ่งขึ้นไปในระยะต่ำและกลับมาลงจอดในแนวตั้งได้อย่างนิ่มนวล

การทดสอบครั้งนี้ต้นแบบ Starship SN5 มีเฉพาะถังเชื้อเพลิงที่มีความสูง 30 เมตรพร้อมกับได้ติดตั้งเครื่องยนต์ Raptor เพียงตัวเดียว ซึ่งยังไม่ได้ติดตั้งส่วนของยานอวกาศและส่วนของครีบ ส่วนในอนาคตการบินขึ้นสู่อวกาศจะต้องติดตั้งเครื่องยนต์ Raptor ทั้งหมดถึง 31 เครื่องด้วยกัน

SpaceX เคยสร้างต้นแบบ Starship รุ่นก่อนที่เรียกว่า Starhopper ซึ่งเคยผ่านการบินทดสอบในระดับความสูง 150 เมตรเมื่อปีที่แล้ว หลังจาก Starhopper ก็ได้มีการสร้างยานต้นแบบใหม่ที่เรียกว่า Starship Mark 1 หรือ MK1 ซึ่งซีอีโอสัญญาว่าจะสามารถบินขึ้นไปที่ระยะ 65,000 ฟุตหรือประมาณ 20 กิโลเมตรแล้วกลับมาและลงจอด แต่ MK1 ได้พังเสียหายในการทดสอบแรงดันของถังเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019

ต่อมา SpaceX ได้สร้างต้นแบบใหม่ในชื่อ Starship SN1 และทำการทดสอบเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ซึ่งล้มเหลวโดยระเบิดในระหว่างทดสอบแรงดันไนโตรเจนเหลว ต่อมา Starship SN2 ได้ถูกทดสอบเมื่อ 8 มีนาคมซึ่งสามารถผ่านการทดสอบแรงดันที่อุณหภูมิต่ำและแรงขับของเครื่องยนต์ได้ จากนั้น Starship SN3 ได้ถูกทดสอบเมื่อ 3 เมษายนซึ่งล้มเหลวโดยพังลงมาในระหว่างการทดสอบแรงดันด้วยความผิดพลาดในการกำหนดค่าการทดสอบ และ 27 เมษายน Starship SN4 ได้ผ่านการทดสอบแรงดันไนโตรเจนเหลว ต่อมา 5 พฤษภาคม Starship SN4 ได้ผ่านการทดสอบ Static Fire ที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนตฺ์ Raptor เป็นครั้งแรก แต่ในวันที่ 29 พ.ค. SN4 เกิดระเบิดหลังจากการทดสอบเครื่องยนต์ก่อนที่จะทดสอบบิน 150 ม. ต่อมา 30 ก.ค. SN5 ได้ผ่านการทดสอบ Static fire และผ่านการบินทดสอบในระยะต่ำ 150 ม. ในที่สุด

ส.ค. นับว่าเป็นเดือนแห่งความสำเร็จของ SpaceX ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแคปซูล Crew Dragon ได้นำนักบินอวกาศ Bob Behnken และ Doug Hurley ออกจากสถานีอวกาศนานาชาติกลับสู่โลก ซึ่งเท่ากับว่าภารกิจ Demo-2 ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ และการทดสอบบินของต้นแบบ Starship SN5 ในช่วง 150 ม. ได้สำเร็จซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งในการมุ่งสู่อวกาศเพื่อตะลุยดาวอังคาร

ที่มา : cnet

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส