จากข่าวสนิมบนดวงจันทร์ ทำให้เรานึกได้ว่า นอกจากแร่สีแดงที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นบนนั้นแล้ว ยังมีของอีกหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่บนดวงจันทร์ด้วย แต่คราวนี้มันไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ แต่เป็นเพราะน้ำมือมนุษย์ต่างหาก

ในทุกการเดินทาง เราต่าง ‘ทิ้ง’ อะไรบางอย่างเอาไว้เบื้องหลัง คำกล่าวนี้ไม่ผิดนัก และสำหรับการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ดูเหมือนจะมีของที่ทิ้งเอาไว้มากมายเสียยิ่งกว่าภาพจำของมวลมนุษย์ชาติ บางอย่างก็เป็นที่เข้าใจได้ บางอย่างก็เหนือคาดเหลือเชื่อ จะมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูกัน

เหล่าของที่ทิ้งไว้เพื่อภารกิจ 

นาซาได้จัดทำบันทึกรวบรวมรายการวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น และได้ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ พบว่ามันมีจำนวนถึง 796 รายการ (บันทึกนี้อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2012 ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันนี้น่าจะมีของที่ทิ้งไว้เพิ่มขึ้นอีก) โดย 765 รายการมาจากภารกิจของสหรัฐอเมริกา แถมยังกระจัดกระจายไปทั่ว ขัดกับภูมิทัศน์อันโดดเดี่ยวของดวงจันทร์เสียจริง

แล้วเหตุใดจึงต้องทิ้งของไว้ให้บนดวงจันทร์ด้วยกันเล่า แน่นอนว่าในแต่ละภารกิจสำรวจ บางครั้งการทิ้งไว้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างอาจจะเกิดความเสียหายขณะร่อนลงจอด หรือปฏิบัติภารกิจไปแล้ว เกิดมีเหตุให้อุปกรณ์ขัดข้อง จึงจำต้องทิ้งไว้ ในขณะที่ของบางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่วางแผนไว้อยู่แล้วว่าต้องไปทิ้งไว้บนนั้น 

ทิ้งไปทั้งยาน พลีชีพเพื่อการเดินทางของมนุษยชาติ

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่อให้ได้ภาพของดวงจันทร์ ที่ช่วยกำหนดขอบเขตพื้นที่ลงจอดที่เป็นไปได้ ยานอวกาศแรนเจอร์ (Ranger spacecraft) หลายลำที่ปฏิบัติภารกิจที่ไม่ค่อยมีใครรู้นี้ มีหลายลำที่ไม่สามารถทำภารกิจลุล่วง ยานแรนเจอร์ลำที่ 4 6 7 8 และ 9 ชนเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์ หรือยานสำรวจดวงจันทร์  (Lunar Orbiters) ที่โคจรรอบดวงจันทร์ และพุ่งชนดวงจันทร์ทันทีหลังบันทึกภาพเสร็จสิ้น

Ranger block I spacecraft (NASA)
Ranger block I spacecraft (NASA)
ภาพถ่ายสุดท้ายจาก ยานอวกาศแรนเจอร์ 7 ก่อนพุ่งชนดวงจันทร์
Credit: lpi.usra.edu

กระจกสะท้อนเลเซอร์อันโด่งดัง ผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลสำคัญแก่โลก

ยานสำรวจลูโนฮอด 1 เดินทางไปกับยานลูนา 17 ของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1970 เพื่อปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ บนยานสำรวจนั้นมี ‘กระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ (Retroreflector mirrors)’ เพื่อใช้วัดระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และหาวงโคจรของดวงจันทร์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น ทว่า หลังจากการติดต่อระหว่างยานกับโลกสิ้นสุดลงในปีถัดมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ชะตากรรมของยานสำรวจที่บรรทุกกระจกนี้อีกนานถึง 40 ปี เลยทีเดียว

อุปกรณ์สะท้อนแสงหรือกระจกที่ว่านี้ ยิ่งมีจำนวนกระจกที่อยู่บนดวงจันทร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่มากและแม่นยำขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของกระจกสะท้อนแสงเลเซอร์บานแรกถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด จำเป็นยิ่งต่อการสร้างแผนที่การโคจรที่สมบูรณ์

โชคยังเข้าข้างอยู่บ้างที่ยานอวกาศลูนาร์ริคอนนิเซนซ์ (Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ของนาซาพบตำแหน่งของลูโนฮอด 1 ในภายหลังเมื่อปี 2010 แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่มีความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งไม่ถึง 1 เซนติเมตร และมีค่าสัญญาณสะท้อนที่สว่างกว่ากระจกของลูโนฮอด 2 ถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ทั้งยาน LRO ของนาซา และยานในภารกิจของอะพอลโล ก็มีอุปกรณ์สะท้อนแสงขนาดหย่อมติดตั้งอยู่กับยานด้วยเช่นกัน นั่นก็เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของแผงกระจกรุ่นเก๋า เนื่องจากตัวสะท้อนแสงรุ่นก่อนหน้าน่าจะส่งสัญญาณกลับมาอ่อนลง ทำให้ยากต่อการใช้ศึกษาขึ้นเรื่อย ๆ 

ส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สะท้อนแสงเลเซอร์ (Lunar laser ranging retroreflector array) ในภารกิจอะพอลโล 15 ที่วางอยู่บนดวงจันทร์
Credits: NASA/D. Scott

นอกจากการวัดระยะทางและอัตราการโคจรที่แม่นยำแล้ว กระจกที่ถูกทิ้งไว้เหล่านี้ยังช่วยให้เราค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือโลกและดวงจันทร์ค่อย ๆ ถอยห่างออกจากกันในอัตราประมาณ 1.5 นิ้ว (3.8 เซนติเมตร) ต่อปี ช่องว่างที่กว้างขึ้นนี้เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์แรงโน้มถ่วงระหว่างดาวทั้งสองนั่นเอง

สิ่งละอันพันละน้อยเบื้องหลังภารกิจ

นอกจากสิ่งประดิษฐ์ใหญ่ ๆ แล้ว แต่ละภารกิจยังมีอุปกรณ์สนับสนุนนั่นนิดนี่หน่อยทิ้งไว้เบื้องหลังอีกหลายอย่าง อาทิ ‘ระบบช่วยชีวิตแบบพกพา (Portable Life Support Systems)‘ ในชุดของนักบินอวกาศ ซึ่งภายในยังมีแบตเตอรี่ รีโมตคอนโทรล และวาล์วที่เกี่ยวข้องที่ถูกทิ้งไว้เช่นกัน 

เพราะมันไม่มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าบนดวงจันทร์ ดังนั้นนักบินอวกาศจึงต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นเติมพลังให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ  ซึ่งต้องใช้พลังงานในปริมาณมาก ดังนั้นในทุกภารกิจของอะพอลโล นักบินอวกาศจึงต้องนำ’เครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (Radioisotope Thermal Generator: RTG) ‘ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลูโตเนียมไปด้วยเสมอ

ภาพเครื่องไอโซโทปบนดวงจันทร์ ในภารกิจอะพอลโล
Credit:

นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลและเก็บตัวอย่างในแต่ละภารกิจเอง ก็ถูกทิ้งไว้ที่นั่นหลังใช้งานเสร็จเช่นกัน มีทั้ง ‘แมกนีโตมิเตอร์’ ‘อุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหว’ ‘เครื่องตรวจจับอิออน’ รวมทั้ง ‘กล้อง’ ทั้งแบบบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอที่ใช้ในการส่งภาพกลับมายังโลก รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กันหลายอย่างทั้ง ‘เลนส์’ ทริกเกอร์ ที่ยึดจับและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

ความทรงจำคือสิ่งที่เหลืออยู่ นำไปสู่ของแปลกเหนือคาดที่ถูกทิ้งไว้

เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงว่าครั้งหนึ่งเคยไปเหยียบบนดวงจันทร์นาซาจึงอนุญาตให้นักบินอวกาศนำของส่วนตัวในจำนวนจำกัดไปทิ้งไว้บนดวงจันทร์ได้ ในบรรดาของเหล่านี้ก็มีตั้งแต่ของธรรมดา ๆ อย่างในภารกิจอะพอลโล 16 นักบินอวกาศ ชารล์ส ดุก (Charles Duke) ได้ทิ้ง’ภาพครอบครัว‘ ที่บรรจุอยู่ในซองพลาสติกป้องกันความเสียหายจากฝุ่นบนดวงจันทร์ ในภารกิจอะพอลโล 15 ก็มีการทิ้ง ‘ไมโครฟิล์ม‘ เอาไว้ หรืออย่างในภารกิจอะพอลโล 11 ที่โด่งดังที่นอกจากนักบินอวกาศชาวอเมริกาจะนำธงไปปักไว้แล้ว สิ่งรำลึกอย่าง’แผ่นดิสก์ที่บรรจุข้อความจากผู้นำ 74 ประเทศ‘ และสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอย่าง’กิ่งมะกอกทองคำ‘ อันเล็กขึ้นไปวางไว้ด้วย

กิ่งมะกอกทองคำ‘ ที่นักบินอวกาศอะพอลโล 11 วางทิ้งไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์
Credit: NASA

แต่นั่นก็ยังไม่แปลกเท่าไหร่ใช่ไหมละ งั้นเรามาดูของอย่างอื่นที่เหนือคาดกันบ้างดีกว่า 

หยิบ-ดื่ม-ระบายออก นานาเครื่องมือเพื่อการดำรงชีพในอวกาศ

เพื่อยังชีพในสภาวะสุญญากาศ ‘เครื่องมือหยิบจับ (Extension tools)’ พร้อมที่คีบและที่ยึดจับ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก มันช่วยให้นักบินอวกาศสามารถหยิบ และเข้าถึงสิ่งที่ยากที่จะถือหรือฉกฉวยไว้ในถุงมือหนาของชุดอวกาศได้ และเพราะชุดอวกาศอีกเช่นกัน แค่การจิบน้ำธรรมดาก็ไม่สามารถทำในอวกาศได้ จึงมี’อุปกรณ์สำหรับดื่มน้ำ (In-suit drinking devices)‘ ที่ได้รับการออกแบบมาให้ใช้กับชุดอวกาศ และแน่นอนเมื่อใช้เสร็จแล้วมันก็ถูกทิ้งไว้อยู่บนนั้นเช่นกัน

เมื่อมีการกินดื่มแล้วย่อมมีการขับถ่ายตามมา แม้ว่านักบินอวกาศจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่อุจจาระหรือปัสสาวะในระหว่างการเดินทาง แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น พวกเขาจึงต้องขับถ่ายในชุดอุปกรณ์เก็บอุจจาระและปัสสาวะที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ 

ในระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์นักบินอวกาศอาศัย ‘ถุงพลาสติกที่ผูกติดกับก้นเพื่อรับรองอุจจาระ’ ส่วนบนดวงจันทร์นักบินอวกาศใช้ ‘ผ้าที่มีคุณสมบัติดูดซับสูงสุด’ แทน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘ผ้าอ้อม’ นั่นเอง (โอ้ แค่คิดตามก็รู้สึกลำบากแล้ว)

นอกจากนี้ สำหรับกรณีฉุกเฉิน ยังมีถุงที่เรียกว่า ‘Emesis bags’ ที่มีหน้าที่เหมือนถุงอาเจียนที่เรารู้จักกันอีกด้วย และแน่นอนที่สุด ขนาดอุปกรณ์แพง ๆ หลายอย่างยังต้องทิ้งไว้บนดวงจันทร์ นับประสาอะไรกับของเสียกัน พวกมันก็ถูกใส่ไว้ในถุงเฉพาะที่ว่าแล้วก็กองทิ้งไว้บนดวงจันทร์นั่นแหละ

เปลญวน ไม้กอล์ฟ และลูกกอล์ฟ = การพักผ่อนบนดวงจันทร์???

อาจฟังดูประหลาดที่มนุษย์อวกาศจะนำ ‘เปลญวน’ ขึ้นไปดวงจันทร์ทำไม แต่มโนภาพที่เรามีเกี่ยวกับเปลญวนคือ แขวนไว้ระหว่างต้นไม้สองต้นริมหาดที่ไหนสักแห่งใช่ไหม แม้จะใช้เพื่อเอนนอนเหมือนกันแต่เปลญวนอวกาศนั้นใช้ขึงในยานอวกาศเพื่อให้นักบินอวกาศพักผ่อน เมื่อสิ้นสุดการทำงานแปดชั่วโมงของวัน และเมื่อใช้งานเสร็จมันก็ถูกทิ้งไว้บนดวงจันทร์เช่นกัน 

ภาพแสดงการใช้เปลญวนในยานอวกาศ
Credit: NASA

หลายคนอาจจะเคยเห็นรูปหรือวีดิโอที่อลัน เชปเพิร์ด (Alan Shepard) นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกา ตีกอล์ฟผ่านตากันมาบ้าง แน่ละ ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงต่ำ จึงน่าจะตีกอล์ฟได้ไกลและสนุกกว่าเดิมใช่ไหม อลันก็คิดแบบนั้นเช่นกัน เขาถึงกับลงทุนทำ ‘ไม้กอล์ฟ’ โดยติดหัวไม้กอล์ฟเบอร์ 6 (6-iron golf club head) สำหรับการตีในระยะไกล เข้ากับไม้ที่ใช้เก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ด้วยเงินของตนเอง และนำ ‘ลูกกอล์ฟ’ 2 ลูก ขึ้นไปตีบนดวงจันทร์ หลังเห็นลูกกอล์ฟเคลื่อนไกลออกไปในอวกาศห่างออกไปเรื่อยๆ อย่างสาแก่ใจ ไม้กอล์ฟดัดแปลงและลูกกอล์ฟก็ถูกทิ้งไว้อยู่ที่นั่น

VDO ที่อลัน เชปเพิร์ด ตีกอล์ฟบนดวงจันทร์

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

อะพอลโล 15 กับบรรดาของแปลกที่ถูกทิ้งไว้

อะพอลโล 15 ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่นักบินอวกาศทิ้งของแปลกไว้ได้น่าฉงนสุด ๆ เริ่มกันที่ ‘กางเกงอวกาศ ICG (Inflight coverall garment trousers)’ ภายใต้ชุดอวกาศที่ดูฟูเทอะทะ นักบินอวกาศต้องใส่กางเกงที่ทำจากผ้าเนื้อบางที่มีระบบลดความร้อน เพิ่มความเย็นให้แก่ร่างกาย โดยมีโครงข่ายของท่อเล็ก ๆ ให้น้ำไหลเวียน และเมื่อใช้งานเสร็จมันเป็นเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ถูกทิ้งไว้อยู่บนนั้น 

ถัดจากกางเกงก็มี ‘ขนนกและค้อน’ ถูกทิ้งไว้เช่นกัน พวกมันคือของที่ใช้ทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงอันลือลั่นบนโลก เมื่อคิดได้เช่นนั้นนักบินอวกาศเลยพกของ 2 อย่างนี้คือไปบนดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน และผลก็คือ มันช่วยแสดงให้เห็นว่า หากปราศจากซึ่งอากาศ วัตถุทั้งสองที่มีมวลต่างกันตกลงมาในอัตราเดียวกันได้อย่างไร และมันทั้งคู่ถูกทิ้งไว้ที่นั่น 

นอกจากของในภารกิจ ของส่วนตัวของนักบินอวกาศที่พกขึ้นไปเพื่อทิ้งไว้เป็นที่ระลึกของภารกิจนี้ก็ประหลาดเช่นกัน เจมส์ ไอร์วิน (James Irwin) ได้ทิ้งของหลายอย่างทั้ง ‘หนังสือไบเบิล’ ‘ภาพเซลฟี’ ที่ไม่รู้ว่าถ่ายเมื่อไหร่ อย่างไร และเหตุใดจึงต้องเป็นภาพเซลฟี ทั้งที่ยุคนั้นภาพเซลฟียังไม่เฟื่องฟู และอันที่จริงเขาวางแผนที่จะนำ ‘ธนบัตรมูลค่า 2 ดอลลาร์’ ที่นำติดตัวไปในกล่องส่วนตัวกลับมาขายหลังเดินทางกลับมาโลกด้วย ทว่า นำกลับมาเพียงไม่กี่ใบ ที่เหลือดันลืมมันทิ้งไว้บนดวงจันทร์ซะนี่ 

ธนบัตรที่นักบินอวกาศนำกลับมาประมูลบนโลก และทำให้นาซาสั่งแบนไม่ให้นักบินอวกาศพกเงินขึ้นไปอวกาศในเวลาต่อมา
Credit: jeffersonspacemuseum.com

ปิดท้ายด้วย ‘อุปกรณ์ทำความสะอาด’ จากภารกิจอะพอลโล 17

นอกเหนือจากอุปกรณ์มาตรฐานและอุปกรณ์ทดลองต่าง ๆ รวมถึงยานสำรวจแล้ว นักบินอวกาศของอะพอลโล 17 ดูเหมือนจะทิ้งสิ่งของส่วนตัวแปลกอย่างอื่น ๆ ไว้เบื้องหลังด้วย เริ่มต้นที่ ‘กระจกพกพาอันเล็ก  (Wrist mirror)’ ที่มีวัตถุประสงค์การใช้บนโลกและบนดวงจันทร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะใช้ส่องภาพสะท้อน แต่บนดวงจันทร์นักบินอวกาศใช้มันประหนึ่งไฟฉาย โดยใช้เปลี่ยนแปลงลำแสงจากดวงอาทิตย์ ให้ส่องไปยังบริเวณที่มืดมิดมืด จึงอาจกล่าวได้ว่า กระจกอันเล็กนี้ได้กลายเป็นไฟฉายพลังแสงอาทิตย์อย่างแท้จริงบนดวงจันทร์ และหลังใช้งานเสร็จมันก็ถูกทิ้งไว้ที่นั่น 

นอกจากนี้ ยังมี ‘สบู่ป้องกันแบคทีเรีย’ และ ‘ชุดดูแลรักษาความสะอาดส่วนบุคคล‘ ที่ถูกทิ้งไว้เช่นกัน และหนึ่งในนั้นมี ‘กรรไกรตัดเล็บ’ ด้วย ซึ่งก็น่าสงสัยว่ามันได้ใช้หรือไม่ในภารกิจที่มีระยะเวลาเดินทางที่สั้นเพียง 12 วัน เท่านั้น หรือบางทีนักบินอวกาศอาจจะอยากลองตัดเล็บในพื้นที่ที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ และแอบทิ้งเศษเล็บของตัวเองไว้ที่นั่นก็ได้ใครจะรู้ 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส