วันนี้ (14 กันยายน 2563) – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ได้ลงข่าวการค้นพบที่น่าตื่นเต้น นั่นคือการค้นพบ ‘สัญญาณของสิ่งมีชีวิต’ ที่อาจอยู่รอดในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์!

ทีมนักดาราศาสตร์นำโดยเจน กรีฟส์ (Jane Greaves) จากมหาวิทยาลัยคาร์ดริฟฟ์ (Cardiff University) สหราชอาณาจักร เผยถึงการค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด จึงมักถูกเปรียบว่าเป็นฝาแฝดกับโลก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ดาวศุกร์มีสภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ ส่งผลให้ดาวมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยสูงถึง 464 องศาเซลเซียส และมีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นเต็มไปด้วยแก๊สของกรดกำมะถัน จึงทำให้เดิมนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ดาวศุกร์ไม่น่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ในชั้นบรรยากาศที่ความสูงราว 50 กม. เหนือพื้นผิวกลับมีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส คาดว่า ชั้นเมฆในบรรยากาศของดาวศุกร์อาจมีองค์ประกอบทางเคมีเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตได้ และหากมันมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง ก็อาจจะอาศัยรังสียูวีจากดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน สอดรับกับการดูดกลืนรังสียูวีปริศนาบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์พอดี

เพื่อค้นหาคำตอบ นักดาราศาสตร์จึงอาศัยการศึกษาสเปกตรัมที่ชั้นบรรยากาศนั้นปลดปล่อยออกมา เพื่อดูว่าโมเลกุลในชั้นบรรยากาศมีลักษณะดูดกลืนหรือเปล่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างไร สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของโมเลกุลชนิดใด

หลังจากศึกษาชั้นบรรยากาศด้วยวิธีดังกล่าว ทีมผู้ศึกษาได้ค้นพบสเปกตรัมที่เกิดขึ้นจากโมเลกุลของ ‘ฟอสฟีน(Phosphine)’ เป็นครั้งแรก ผ่านทางกล้องโทรทรรศน์ James Clerk Maxwell Telescope (JCMT) บนยอดเขาโมนาเคอา ในหมู่เกาะฮาวาย เพื่อความมั่นใจพวกเขาจึงได้ศึกษาซ้ำด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 45 ตัวของ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) ในทะเลทรายของประเทศชิลี และยืนยันการค้นพบโมเลกุลฟอสฟีนบริเวณชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในที่สุด

ฟอสฟีน เป็นสารประกอบระหว่างธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน ซึ่งในโลกของเรานั้น แหล่งกำเนิดของฟอสฟีนมีเพียงแค่สองรูปแบบเท่านั้น นั่นคือ อุตสาหกรรม หรือเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน แต่เพื่อความชัดเจน นักดาราศาสตร์จำต้องหาให้ได้ว่ามีกลวิธีใดอีกหรือไม่ ที่อาจทำให้เกิดโมเลกุลของฟอสฟีนบนดาวศุกร์ได้

วิลเลียม เบนส์ (William Bains) และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) จึงลองประเมินกลไกตามธรรมชาติที่อาจจะผลิตฟอสฟีนได้บนดาวศุกร์ แต่ไม่ว่าจะพิจารณาเช่นไร ก็พบว่าแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถผลิตฟอสฟีนแม้เพียงเสี้ยวของปริมาณที่ค้นพบได้ แต่เมื่อทีมพิจารณาว่า มันมีแหล่งกำเนิดจากสิ่งมีชีวิต กลับพบว่าสมมติฐานนี้สามารถผลิตฟอสฟีนได้ในปริมาณเพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่ตรวจพบในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้

อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังไม่ใช่การยืนยันการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ เพราะนี่เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ส่งสัญญาณน่าสงสัยออกมาเท่านั้น ยังมีสภาวะอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น มีกรดกำมะถันเข้มข้นในชั้นบรรยากาศในระดับที่ไม่เอื้อให้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ หรือหากมีสิ่งทีชีวิตอยู่จริง สิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจอาศัยเงื่อนไขของการดำรงชีพแตกต่างไปจากที่เรารู้จักโดยสิ้นเชิง ตอกย้ำว่ายังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมาก และอาจทำให้เราต้องมาพิจารณานิยามของ ‘สิ่งมีชีวิต’ ใหม่ก็ได้ ซึ่งนักวิจัยกำลังเร่งศึกษาต่อไป

สำหรับ กล้องโทรทรรศน์ JCMT ที่ค้นพบฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศ เป็นหอดูดาวที่บริหารโดยเครือข่าย ‘หอดูดาวในเอเชียตะวันออก’ หรือ East Asian Observatory (EAO) ซึ่ง NARIT ที่เป็นหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย ได้ร่วมลงอนุสัญญานามเป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วยไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ อาจมีชื่อของนักดาราศาสตร์ไทยรวมอยู่ในการค้นพบครั้งถัดไปก็ได้

อ้างอิง

เพจ FB สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส