ข่าวคราวความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในอวกาศมีออกมาเป็นระยะตามทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและตั้งข้อสังเกต ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) สถาบันเอ็มไอที (MIT) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) เผยทฤษฎีใหม่ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตซ่อนตัวอยู่บนดาวที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุดอย่างดาวศุกร์

ดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกประมาณ 47 ล้านกิโลเมตร มีการตั้งข้อสงสัยมาตั้งแต่ปี 1970 แล้วว่า ทำไมชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์จึงมีไฮโดรเจนและไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ รวมถึงปกคลุมไปด้วยแอมโมเนียที่บรรยากาศชั้นบน ซึ่งบนโลกของเราแอมโมเนียเป็นผลพลอยได้จากของเสียของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ และนั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตบางประเภทอาศัยอยู่ และทีมนักวิจัยจากทั้ง 3 สถาบันต้องการหาคำตอบว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์จริงหรือไม่

ในอดีตเชื่อว่าไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตใด ๆ ดำรงชีวิตบนดาวศุกร์ได้เพราะมันมีอุณหภูมิสูงและมีความเป็นกรดสูงมาก โอกาสเดียวที่จะช่วยให้รอดชีวิตคือไมโครไบโอม (Microbiomes – จุลินทรีย์ที่พบบนผิวหนัง) ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเมื่อนำมารวมกับแอมโมเนียที่พบในบรรยากาศของดาวศุกร์ ทำให้ทีมนักวิจัยคิดค้นทฤษฎีที่น่าสนใจขึ้นมา

Life on venus
เครดิตภาพ: Freepik

จากรายงานของเว็บไซต์ The Independent เผยว่า ทีมนักวิจัยตั้งทฤษฎีว่าในทางเทคนิคแล้วแอมโมเนียจะเริ่มต้นทำปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่างจนทำให้เมฆกรดบนดาวศุกร์ลดต่ำลงเหลือศูนย์ (ซึ่งถือว่ายังสูงมาก) แต่หากมันลดต่ำลงจริงก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตเติบโตบนนั้นได้

ด็อกเตอร์วิลเลียม เบนส์ (Dr.William Bains) จากสถาบันฟิสิกส์และดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University’s School of Physics and Astronomy) ผู้ร่วมศึกษาปรากฏการณ์นี้กล่าวว่า “เรารู้ว่าบนโลก สิ่งมีชีวิตสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด แต่อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรเป็นกรดสูงเท่าดาวศุกร์ แต่หากมีปัจจัยอะไรทำให้แอมโมเนียเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นกลางได้ ก็จะเพิ่มโอกาสให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้มากขึ้น

แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากหากสิ่งมีชีวิตอยากอยู่รอดบนดาวศุกร์เพราะมันแทบจะไม่มีน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต แต่หากดาวศุกร์มีความเป็นกลางมากขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสในการเติบโตของสิ่งมีชีวิตได้ แม้จะเป็นโอกาสเพียงเล็กน้อยแต่ก็คุ้มค่าที่จะติดตามพิสูจน์เรื่องนี้”

ในปี 2023 จะมีภารกิจทางอวกาศมากมาย หนึ่งในนั้นคาดว่าอาจมุ่งหน้าไปสำรวจดาวศุกร์ และเป้าหมายหลักของภารกิจคือการตรวจสอบอนุภาคของเมฆเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเราอาจไม่ได้รับตัวอย่างที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมมาวิเคราะห์จนกว่าจะถึงช่วงปี 2030 ดังนั้นคำตอบเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ก็อาจยังต้องรอคอยต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส