เทคโนโลยีแบบใหม่สามารถปลูกถ่ายกระจกตาให้แก่ชายวัย 78 ปี ที่มีลักษณะตาบอดตามกฏหมาย ให้สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องใช้เนื้อเยื่อจากผู้บริจาค

เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท CorNeat โดยอาศัย Boston Keratoprosthesis (KPro) เป็นรากเทียม หรือกระจกตาเทียมที่สามารถรวมเข้ากับผนังตาได้โดยตรง ใช้ในกรณีที่กระจกตามีความผิดปกติ มีแผลเป็น หรือผิดรูป โดยไม่มีเนื้อเยื่อจากผู้บริจาค ซึ่งทันทีหลังการผ่าตัด ชายคนนี้สามารถจดจำครอบครัวของตนเอง และสามารถอ่านตัวเลขจากกระดานวัดค่าสายตาได้ทันที

Cornea หรือ กระจกตา เป็นชั้นบนสุดของดวงตามีความใส สามารถเป็นแผล หรือเกิดความเสื่อมสภาพจากสาเหตุต่าง ๆ ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การปลูกถ่ายกระจกตาเทียมเป็นเรื่องซับซ้อน จึงมักเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดกระจกตา ในทางตรงกันข้ามการปลูกถ่าย CorNeat เป็นวิธีที่อาศัยการผ่าและเย็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ด้วยวัสดุแบบ Biomimetic ที่พัฒนาขึ้นจาก CorNeat ทำให้เนื้อเยื่อของดวงตา และกระจกตาเทียม สามารถผสานกันได้อย่างรวดเร็ว ( Biomimetic คือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการลอกเลียนแบบทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ด้านโครงสร้าง พื้นผิว องค์ประกอบทางเคมี ฯลฯ )

Dr. Gilad Litvin ผู้ก่อตั้งบริษัท CorNeat Vision ระบุว่ายังมีผู้ป่วยอีก 10 รายที่ได้รับการอนุมัติให้ทดลองเปลี่ยนกระจกตาด้วยเทคโนโลยีนี้ในอิสราเอล และเขามีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในแคนาดาภายในเดือนนี้ อีก 6 แห่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติในฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ แม้ว่ารากเทียมจะไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบ แต่มันสามารถทำงานได้ดีกว่าตาเทียม ( Robotic eye ) การได้เห็นเพื่อนมนุษย์สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และวิเศษมากเลยทีเดียว

อ้างอิง Engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส