ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘การเป็นอมตะ’ ถือเป็นหนึ่งในความปราถนาที่ยิ่งใหญ่ทีั่สุดของมนุษย์ ในตอนนี้กลุ่มนักวิจัยจากสิงคโปร์ได้ทำการสำรวจเพื่อหาคำตอบว่า ระบบร่างกายของมนุษย์เอื้ออำนวยให้เราสามารถมีอายุขัยยืนยาวที่สุดได้กี่ปี

นักวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ‘เจโร (Gero)’ ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงในวารสาร Nature Communication อธิบายถึงจังหวะของการแก่ โดยตั้งอายุขัยของมนุษย์ไว้สูงสุดที่ 120 – 150 ปี และกล่าวว่า ความตายเป็นคุณสมบัติทางชีวภาพที่แท้จริงซึ่งไม่ขึ้นกับปัจจัยความเครียด

ในการศึกษาประเด็นดังกล่าว นักวิจัยได้เข้าไปตรวจนับเม็ดเลือดของประชากรต่างวัย 500,000 คนในอเมริกา สหราชอาณาจักร และรัสเซีย โดยทีมวิจัยได้ข้อสังเกตว่า เมื่ออายุของเราเพิ่มขึ้น ความสามารถในการสร้างเม็ดเลือดใหม่จะลดลงเรื่อย ๆ อีกทั้งประมาณและขนาดก็จะลดลง จนถึงจุดที่เราไม่สามารถฟื้นตัวจากการบาดเจ็บและปวดไข้ได้อีกต่อไป และนำไปสู่ ‘การสิ้นอายุขัย’ หรือ ‘ความตาย’ ในที่สุด

งานชิ้นนี้อธิบายว่า ทำไมวิธีการที่ใช้ป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความแก่ถึงทำได้แค่ยืดอายุเฉลี่ย แต่ไม่สามารถยืดอายุขัยสูงสุดได้ นอกเสียจากว่า จะมีการพัฒนากระบวนการหยุดการแก่ตัวขึ้นมา

อันเดรย์ กุดคอฟ (Andrei Gudkov) จาก รอสเวลล์ พาร์ค (Roswell Park) ศูนย์มะเร็งครบวงจร

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า งานวิจัยดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้มีการพัฒนายาเพื่อช่วยชะลอกระบวนการของร่างกาย และช่วยยืดอายุขัยให้กับมนุษย์ได้ในอนาคต

จากสถิติที่เคยมีมาพบว่า จานน์ แกลมองต์ (Jeanne Calment) เป็นชาวฝรั่งเศสที่มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยเธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1997 ด้วยอายุ 122 ปี 5 เดือน 14 วัน (44,724 วัน)

อ้างอิง: IndiaToday

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส