ผลการศึกษาใหม่ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และมหาวิทยาลัยเกรอน็อบล์ แอลป์ (Université Grenoble Alpes) พบว่าข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนมักจะมียอด Engagement สูงกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า!

การศึกษานี้เป็นการสำรวจโพสต์ต่าง ๆ ใน เพจ Facebook เกี่ยวกับผู้เผยแพร่ข่าวกว่า 2,500 แห่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ถึง มกราคม 2021 ซึ่งทีมวิจัยพบว่า เพจที่มักจะโพสต์ข่าวที่ให้ข้อมูลคาดเคลื่อนไม่เป็นความจริงเป็นประจำจะมีจำนวนการกดถูกใจ การแชร์ และการคอมเมนต์ที่สูงกว่าข่าวจริง

ยอด Engagement ที่พุ่งขึ้นสูงจะพบได้บ่อยในทุกแง่มุมเกี่ยวกับการเมือง แต่ผู้แพร่ข่าวฝั่งการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งอาจหมายถึงกลุ่มที่มีความเชื่อทางอนุรักษ์นิยม กลุ่มชาตินิยม เน้นการปกครองแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข หรืออาจหมายถึงกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดแบบพรรครีพับลิกัน มักจะมีแนวโน้มที่แบ่งปันข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดมากกว่าผู้เผยแพร่ข่าวในกลุ่มอื่น ๆ

การศึกษาดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ในส่วนหนึ่งของการประชุม 2021 Internet Measurement Conference ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเผยแพร่ผลการศึกษาออกมาก่อนงานประชุมเช่นกัน

สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นการสำรวจจากยอด Engagement ซึ่งโฆษกของ Facebook ได้ออกมาอธิบายว่า ยอด Engagement บ่งบอกจำนวนครั้งที่ผู้ใช้มีการโต้ตอบกับเนื้อหาต่าง ๆ เช่น การกดถูกใจ คอมเมนต์ หรือแชร์ ซึ่งแตกต่างกับ Reach ที่บ่งบอกจำนวนคนที่เห็นเนื้อหา

ก่อนหน้านี้ Facebook มีความพยายามที่จะเผยแพร่รายงานความโปร่งใสออกมาในเดือนสิงหาคม โดยจะเป็นการระบุโพสต์ที่มียอดการเข้าชมสูงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายนถึงมิถุนายน) และภายในไม่กี่วันต่อมา Facebook ก็ลบแผนที่จะปล่อยรายงานช่วงไตรมาสที่ 1 ออก เพราะโพสต์ที่มียอดการเข้าชมสูงที่สุดให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และการเสียชีวิตของหมอในฟลอริดา ซึ่งเป็นโพสต์ที่ถูกใช้โดยกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาเพื่อสร้างความแคลงใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีน

อ้างอิง: The Verge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส