กสทช. สหรัฐฯ (FCC) ได้อนุมัติโครงการเครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ของโบอิ้ง (Boeing) ที่ได้ยื่นขออนุญาตครั้งแรกในปี 2017 ให้สามารถสร้าง ปล่อย และบริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์บนอวกาศเพื่อให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าตามบ้าน องค์กรธุรกิจ และภาครัฐทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก

โบอิ้งมีแผนจะปล่อยดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) จำนวน 147 ดวง โดยปล่อยดาวเทียม 132 ดวงในวงโคจรต่ำของโลกที่ระดับความสูง 1,056 กม. และอีก 15 ดวงจะอยู่ในระดับความสูงระหว่าง 27,355 – 44,221 กม. ซึ่งทำงานอยู่สูงกว่าดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่อยู่ในระดับความสูงระหว่าง 346 – 563 กม. จึงอาจมีผลต่อความล่าช้าของสัญญาณ และตามกฎข้อบังคับโบอิ้งจะต้องปล่อยดาวเทียมครึ่งหนึ่งภายในเวลา 6 ปีและอีก 9 ปีในการปรับใช้กลุ่มดาวเทียมที่เหลือ

ดาวเทียมทั้งหมดจะใช้ย่านความถี่ V-band ที่มีสเปกตรัมสูงกว่าย่าน Ka-band และ Ku-band ที่ใช้อยู่ในดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งความถี่ย่าน V-band จะช่วยให้อัตราการถ่ายโอนข้อมูลเร็วขึ้น แต่เสี่ยงที่จะถูกรบกวนด้วยเม็ดฝนและมีปัญหาในการทะลุผ่านวัตถุที่เป็นของแข็ง

ปี 2019 สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้เรียกร้องให้ FCC ปฏิเสธแผนของโบอิ้งโดยอ้างว่าจะรบกวนแล้วเป็นอันตรายต่อระบบอื่น ๆ หรือไม่ก็ควรกำหนดเงื่อนไขไม่ให้สร้างความเสียหายต่อการดำเนินงานของผู้ให้บริการรายอื่น

FCC ได้อนุมัติให้โบอิ้งสามารถให้บริการดาวเทียมแบบประจำที่โดยใช้ย่านความถี่ V-Band ได้ และอนุญาตให้ดาวเทียมแต่ละดวงสามารถสื่อสารระหว่างกัน (Cross Link) ด้วยย่านความถี่ V-Band ในบางความถี่ได้ แต่ก็ไม่ได้สมหวังทั้งหมดเพราะ FCC ไม่อนุญาตให้ดาวเทียมสื่อสารระหว่างกันโดยใช้ความถี่ในย่าน Ka-band และบางส่วนของย่าน V-Band

โบอิ้งกำลังเป็นน้องใหม่ในตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ซึ่งมีรุ่นพี่คือ สเปซเอ็กซ์ที่ปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ไปแล้วทั้งหมด 1,791 ดวงและกำลังจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้านี้ อีกรายก็คือ วันเว็บ (OneWeb) จะเริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่แถบอาร์กติกในปลายปี 2021 และยังมีโครงการ Kuiper ของแอมะซอน (Amazon) ซึ่งมีแผนจะปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ตดวงแรกในปลายปี 2022 

ที่มา : engadget, theverge และ spacenews

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส