โควิด-19 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายมาเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว แต่แน่นอนว่ามันก็ยังคงมีปัญหาเพราะแม้หน้ากากจะเกรดดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเวลาใส่ก็ยังมีช่องว่าง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการหายใจรับอนุภาคไวรัสเข้าไปในร่างกายได้อยู่ดี แต่นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรได้ทำการทดสอบและพบว่า การสวม ‘ถุงน่อง’ ของคุณสุภาพสตรีทับหลังใส่หน้ากากนั้นมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการช่วยให้หน้ากากกระชับกับใบหน้า ไร้ช่องว่าง และช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากที่สุด

หน้ากากอนามัย โควิด-19

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร PLOS ONE ซึ่งเป็นการวิจัยทดลองเพื่อค้นหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการสวมหน้ากากอนามัยไม่ให้มีช่องว่างเพื่อป้องกันไวรัสได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องกระชับและพอดีกับใบหน้าด้วย เพราะแม้การสวมหน้ากากอนามัยที่ขายอยู่ตามท้องตลาดจะสามารถปกป้องการหายใจเอาสารคัดหลั่งที่มีไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ดีพอสมควรแล้ว แต่หน้ากากที่ผู้บริโภคนิยมใช้กัน ทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) แบบที่หาได้ทั่วไป หรือหน้ากากทางการแพทย์แบบ KN95 ก็มักจะมีปัญหาอยู่ที่ในระหว่างสวมใส่ ก็ยังคงมีช่องว่างด้านข้าง รวมทั้งช่องว่างตรงสันจมูกเหลืออยู่ ซึ่งก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงได้พยายามค้นหาวิธีการลดช่องว่างระหว่างหน้ากากด้วยการดัดแปลงอุปกรณ์หาง่ายใกล้ตัวมาปรับใช้ โดยได้คัดเลือกอาสาสมัคร 4 คนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อทดลองกับวิธีการและอุปกรณ์ต่าง ๆ 7 วิธี ได้แก่ การใส่หน้ากากแบบปกติ การใช้เทปติดขอบหน้ากากเข้ากับใบหน้า การอุดช่องว่างด้านข้างหน้ากากด้วยผ้าก๊อซ การทำวิธีการมัมมี่ หรือการใช้ผ้าก๊อซมัดหน้ากากเข้ากับใบหน้า การผูกปมสายรัดหน้ากากแล้วคล้องกับหู การใช้แถบยางยืดรัดรอบหน้า และการใช้ถุงน่องพันทับกับหน้ากาก โดยผู้วิจัยจะทำการทดสอบการวัดความเข้มข้นของอนุภาคทั้งภายในและภายนอกหน้ากาก ซึ่งเป็นการวัดในเชิงปริมาณเพื่อหาว่าวิธีใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการสวมหน้ากากให้ปลอดภัย และประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากแต่ละชนิดด้วย

หน้ากากอนามัย โควิด-19
ภาพตารางการทดสอบเปรียบเทียบการสวมหน้ากากอนามัยแบบต่าง ๆ ทั้งแบบ KN95 (ซ้าย) และแบบ Surgical Mask (ขวา) โดยเปรียบเทียบ 7 วิธี ได้แก่ (ด้านบนสุด) สวมใส่แบบปกติ พันสายแบบไขว้ ใช้เทปปิดด้านข้างหน้ากาก
ใช้ถุงน่องสีขาว ถุงน่องสีดำ ใช้ผ้าก๊อซพัน (วิธีแบบมัมมี่) การใช้หนังยางรัดด้านหน้าของหน้ากาก และการใช้ผ้าก๊อซอุดช่องว่างรอบ ๆ หน้ากาก

หลังจากการทดสอบ นักวิจัยพบว่า การสวมถุงน่องทับหน้ากากนั้นให้ประสิทธิภาพในการป้องกัน และปกปิดช่องว่างรอบ ๆ จมูกและปากได้ดีที่สุด โดยนักวิจัยได้กล่าวในรายงานว่า การสวมใส่หน้ากากที่กระชับพอดี จะช่วยลดช่องว่างระหว่างใบหน้าของผู้สวมใส่กับขอบของหน้ากาก ทำให้อากาศที่หายใจออก ถูกกรองด้วยวัสดุที่ทำหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะสามารถลดปริมาณอนุภาคไวรัสได้มากถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับการใส่หน้ากากอนามัยแบบปกติ

หน้ากากอนามัย โควิด-19
ภาพแสดงให้เห็นว่า แม้ทุกวิธี โดยเฉพาะการสวมถุงน่อง จะสามารถปิดช่องว่างด้านข้างหน้ากากได้ค่อนข้างดี แต่ทุกวิธี ไม่สามารถปิดช่องว่างระหว่างจมูกได้ดีนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านวัสดุที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ และรูปจมูกของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน

แต่แน่นอนว่า แม้การใส่ถุงน่องจะช่วยให้สามารถป้องกันอนุภาคไวรัสในอากาศได้เป็นอย่างดี แต่มันก็ยังมีปัญหาในหลาย ๆ อย่าง เช่น ในกรณีการใช้ถุงน่อง หรือแม้แต่การใช้หนังยางรัด ก็มีแนวโน้มที่จะกดทับที่หู จมูก และใบหน้าจนอาจทำให้เจ็บปวด และขัดขวางการไหลเวียนของเลือดบริเวณใบหน้าได้ และในการทดลองทุกแบบ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างบนจมูกอันเนื่องมาจากความยืดหยุ่นของวัสดุที่ยังไม่เพียงพอ และรูปจมูกที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคนได้ดีเท่าไร รวมทั้งยังมีปัญหาในการพูดและรู้สึกเกะกะสายตาเป็นครั้งคราว และหากต้องคิดถึงในเชิงผลกระทบทางสังคม การสวมถุงน่องบนใบหน้าก็อาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสมนัก

‘ยูจีเนีย โอ เคลลี’ (Eugenia O’Kelly) ผู้วิจัยร่วมเผยว่า แม้การใช้ถุงน่องร่วมกับหน้ากากอนามัยจะมีประสิทธิภาพดี แต่ก็อาจจะดูไม่ค่อยสบายใจนักหากจะต้องใช้จริง ๆ เว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์จะรุนแรงและมีความเสี่ยงสูง วิธีนี้ก็อาจดูมีความสมเหตุสมผลในการใช้ แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยากหากจะให้สวมใส่แบบนี้ทุก ๆ วัน ซึ่งทีมนักวิจัยหวังว่า การวิจัยนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ออกแบบหน้ากากรูปแบบใหม่ที่ “เน้นการทำให้ขอบของหน้ากากสัมผัสกับใบหน้าอย่างแน่นหนา” มากกว่าเดิม (และจะดีมากถ้าหากว่าสวมแล้วหายใจโล่งด้วย อันนี้ผู้เขียนเติมเอง)


หน้ากากอนามัย โควิด-19

การใส่หน้ากากอนามัยให้ปลอดภัย ตามคำแนะนำของ ‘ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา’ (CDC)

‣ ในระหว่างสวมใส่ ควรสวมปิดจมูกและปากอย่างมิดชิด แนบชิดกับด้านข้างใบหน้าโดยไม่มีช่องว่าง
‣ ใช้สายคล้องหู หรือสายใด ๆ รัดที่บริเวณศีรษะเท่านั้น และบีบเส้นลวดบนจมูกให้เข้ารูปพอดีกับจมูกและใบหน้า
‣ ระหว่างใส่ ให้จับเฉพาะบริเวณห่วงคล้องเท่านั้น ห้ามจับหน้ากากขณะสวมใส่
‣ สำหรับบุคคลทั่วไป หน้ากากอนามัยชนิด KN95, N95 หรือ KF94 ไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกครั้งที่ใช้ แต่ไม่ควรใช้เกิน 2-3 ครั้ง เนื่องจากสายรัดจะเสื่อมประสิทธิภาพลงทุกครั้งที่สวมใส่
‣ หากสวมใส่หน้ากากในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง หรือห่างจากตัวบุคคล สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก 2-3 ครั้ง แต่หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและแออัด แนะนำให้ทิ้งโดยทันที
‣ พับ ผูกปม และเย็บหน้ากากให้พอดีกับรูปหน้า
‣ ตรวจสอบช่องว่างด้วยการเอามือแตะขอบด้านนอกของหน้ากากแล้วลองหายใจ หากสวมหน้ากากเข้ารูป จะรู้สึกว่ามีลมอุ่น ๆ ออกมาทางด้านหน้าของอากาศ และอาจทำให้หน้ากากกระเพื่อมเข้าออกทุกครั้งที่หายใจ
‣ ผู้ชายที่มีหนวดเครา อาจทำให้สวมใส่หน้ากากให้เข้ารูปพอดีได้ยาก อาจต้องโกน หรือเล็มหนวดเคราให้สั้นลง หรือสวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง และดันหน้ากากให้กระชับและชิดเข้ากับใบหน้าให้ได้มากที่สุด
‣ การสวมหน้ากาก 2 ชั้น โดยสวมหน้ากากใช้แล้วทิ้งไว้ด้านใน และสวมหน้ากากผ้าไว้ด้านนอก ห้ามสวมหน้ากากใช้แล้วทิ้งหรือหน้ากากผ้า 2 อันซ้อนกัน และหน้ากาก KN95 ไม่เหมาะในการสวมหน้ากาก 2 ชั้นร่วมกับหน้ากากชนิดอื่น ๆ
‣ ทุกครั้งที่สวมใส่และถอด ควรจัดเก็บในถุงกระดาษ ซอง หรือกล่องพลาสติก และล้างมือทันที
‣ หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (KN95, N95 หรือ KF94) ไม่ควรนำมาทำความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำ


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส