ในที่สุดกระบองเพชรสุดแรร์มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญ (37.5 ล้านบาท) ที่โตในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลกก็ได้กลับบ้าน หลังถูกขโมยไปอย่างผิดกฎหมาย

กระบอกเพชรสกุลโคเปียโป (Copiapoa) และเอริโอไซซ์ (Eriosyce) เติบโตในทะเลทรายอาตากามา (Atacama) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งอย่างมากบริเวณทางเหนือของประเทศชิลี กระบองเพชรทั้งสองสกุลมีความนิยมในหมู่นักสะสมพืชในบ้านและการจัดสวนบางกลุ่ม อย่างไรก็ตามชิลีกลับมีกฎหมายไม่ให้ส่งออกกระบอกเพชรออกนอกประเทศ จึงทำให้มีการลักลอบนำออกไปขายนอกประเทศในราคาที่สูงมาก

ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถยึดต้นกระบองเพชรดังกล่าวจำนวน 1,035 ต้น ซึ่งมีการแอบลักลอบค้าขายในประเทศอิตาลีในช่วงปี 2020 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ออกมาประกาศว่า การยึดต้นกระบองเพชรที่ถูกลักลอบนำไปขายครั้งนี้ว่า เป็นการร่วมมือระหว่างทางการอิตาลีและชิลี ในชื่อ ‘Operation Atacama’ หรือ ‘ปฏิบัติการอาตากามา’ ซึ่งมีการวางแผนและดำเนินการเป็นปี

กระบองเพชรที่ถูกกู้คืนมาจำนวน 107 ต้นได้ตายลงในระหว่างการดำเนินการ จำนวน 84 ต้นยังคงอยู่ที่ประเทศอิตาลี และอีก 844 ต้นที่เหลือถูกส่งกลับชิลีในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา และจะถูกโยกย้ายกลับคืนสู่ธรรมชาติหลังมีการกักตัวเพื่อตรวจสอบว่า ไม่มีศัตรูพืชหรือโรคติดมา เพราะจะทำให้เกิดผลเสียกับพืชทะเลทรายอื่น ๆ

โคเปียโปและเอริโอไซซ์เป็นหนึ่งในพืชที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยสามารถมีราคาสูงถึง 1,500 เหรียญ (ประมาณ 47,000 บาท) ต่อต้นในตลาดมืดของยุโรปและเอเชีย โดยต้นกระบองเพชรที่ถูกยึดกลับมาในปฏิบััติการอาตากามารวมแล้วมีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 ล้านเหรียญ (37.5 ล้านบาท) เลยทีเดียว

อ้างอิง: LiveScience

แหล่งที่มาภาพหน้าปก: IUCN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส