ฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีให้เห็นมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในสำนักงาน สถานศึกษาและภายในบ้าน ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยหน่วยจัดเก็บข้อมูลแบบอื่น เช่น ซีดีรอมและดีวีดีรอม จนล่าสุดที่ใช้กันทั่วไปก็คือ แฟลชไดรฟ์ หรือ SSD, HDD External เพราะมีความจุในการจัดเก็บข้อมูลได้มากกว่าและถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วกว่า

ในขณะที่หลายคนเลิกใช้ฟลอปปีดิสก์กันไปนานเป็นสิบปีแล้ว ล่าสุดมีข่าวจากแดนซามูไรว่ารัฐบาลกลางของญี่ปุ่นพยายามขับเคลื่อนให้ภาครัฐเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคเพราะเจ้าหน้าที่ของภาครัฐยังยึดถือกับการจัดเก็บและโอนย้ายข้อมูลด้วยฟลอปปีดิสก์มานานหลายสิบปี แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่สำนักงานท้องถิ่นของภาครัฐในโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่นได้เผยยอมตัดใจเลิกใช้ฟลอปปีดิสก์เสียที

หลายคนถึงกับงงว่าหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นยังมีการใช้ฟลอปปีดิสก์เหลืออยู่อีกได้อย่างไรในเมื่อบริษัทโซนี (Sony) ผู้ผลิตฟลอปปีดิสก์ 3.5 นิ้วรายแรกได้หยุดการผลิตไปนานแล้วนับสิบปี ซึ่งเหตุผลคือทางหน่วยงานมีฟลอปปีดิสก์เก็บไว้ใช้งานมากมายและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ จึงพอจะยืดเวลาและประหยัดเงินค่าอัปเกรดระบบใหม่

เมะงุโระแขวงพิเศษของโตเกียวมีแผนที่จะนำงานทั้งหมดที่จัดเก็บด้วยฟลอปปีดิสก์และสื่ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ มาใช้บนระบบออนไลน์ภายในปีงบประมาณ 2021 ส่วนแขวงชิโยะดะจะปรับเปลี่ยนตามมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และแขวงมินาโตะได้ย้ายการจัดเก็บข้อมูลระบบชำระเงินจากฟลอปปีไปอยู่บนระบบออนไลน์แล้วตั้งแต่ปี 2019

เจ้าหน้าที่จัดการกองทุนสาธารณะสำหรับแขวงเมะงุโระกล่าวอาลัยถึงฟลอปปีดิสก์ว่าแผ่นดิสก์ไม่เคยพังและทำให้ข้อมูลสูญหาย (แต่สมัยที่แอดใช้แผ่นดิสก์นี่มันพังเป็นว่าเล่นเลยนะ) ซึ่งทางแขวงได้ใช้ฟลอปปีดิสก์ 3.5 นิ้วจัดเก็บข้อมูลการชำระเงินให้กับพนักงานส่งไปยังธนาคารมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจเลิกใช้ตั้งแต่ปี 2019 เมื่อธนาคารมิซูโฮ (Mizuho Bank) แจ้งกับแขวงว่าจะเก็บเงินสำหรับการใช้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เช่น ฟลอปปีดิสก์ ในอัตรา 50,000 เยน (14,546.24 บาท) ต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องอ่านดิสก์ที่มีประสิทธิภาพและความเสี่ยงของข้อมูลสู้ระบบออนไลน์ไม่ได้

ส่วนแขวงชิโยดะมีแผนจะย้ายสู่รูปแบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2026 ซึ่งมีเป้าหมายให้ลูกบ้านในแขวงกรอกเอกสารผ่านออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานแขวง เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพของบริการและแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการจัดการงานด้านต่าง ๆ เช่น การแปลงเอกสารไปเป็นดิจิทัลและรายละเอียดยิบย่อยต่าง ๆ อีกมากมาย

ที่มา : asia.nikkei.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส