ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังที่สร้างจากเหตุการณ์อาชญากรรมจริงเป็นประจำก่อนนอน นั่นเป็นสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพจิตของคุณแล้ว นักจิตวิทยากล่าวเตือน เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หนังและสารคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมจริงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก อย่างเช่นหลายเรื่องที่สร้างโดย Netflix เช่น Monster: The Jeffrey Dahmer Story และ Making a Murderer

ดร.เธมา ไบรอันต์ (Thema Bryant) จิตแพทย์หญิงชาวอเมริกัน ประจำมหาวิทยาเพปเพอร์ดีน เผยว่าการดูหนังหรือสารคดีที่สร้างจากเหตุอาชญากรรมจริงเพื่อเป็นการผ่อนคลายก่อนเข้านอนเป็นประจำนั้น อาจหมายความว่าเรื่องราวรุนแรงในหนังนั้นกลายเป็นเรื่อง “ที่คุณคุ้นชิน” ไปเสียแล้ว และเป็นสัญญาณอันตรายว่าคุณสมควรที่จะต้องได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์

ดร.เธมา ไบรอันต์

ไบรอันต์เผยกับ เมล ร็อบบินส์ (Mel Robbins) ในรายการพอดแคสต์ ‘The Mel Robbins Podcast’ว่า
“ถ้าคุณคิดว่าการผ่อนคลายก่อนเข้านอนของคุณคือการดูซีรีส์อย่าง ‘Law and Order’ สัก 3 ตอน ถ้าเป็นเช่นนี้ ฉันขอแนะนำให้คุณถามตัวเองว่า ‘ทำไมฉันถึงรู้สึกผ่อนคลายกับการได้ดูเรื่องราวเกี่ยวกับความบาดเจ็บบอบช้ำ’ เช่นนี้ ? “
“ทำไมการได้เห็นการทำร้ายกัน อาชญากรรม การล่วงละเมิด การโจมตีกัน ทำให้ฉันหลับสบาย ?”

เมล ร็อบบินส์ ถาม ดร.ไบรอันต์ ว่า บรรดาคนไข้ที่มาบำบัดกับคุณหมอ แล้วพวกเขาอธิบายว่าเขารู้สึกอย่างไรกับหนังจากอาชญากรรมจริงเหล่านี้ ดร.ไบรอันต์ตอบว่า บรรดาคนไข้กลับรู้สึกว่า “เป็นเรื่องปกติที่พวกเขาคุ้นเคย”
“พวกเราบางคนเติบโตมาภายใต้สถานการณ์ที่มีความตึงเครียดสูง พวกเขาเหล่านี้อาจจะรู้สึกว่าเหตุการณ์สงบสุขนั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อ มันเหมือนกับความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคย ก็เลยต้องหาดูอะไรที่มันเป็นเรื่องราวชวนอึดอัดไม่สบายใจแล้วจะรู้สึกเหมือนได้กลับไปบ้านเดิมของตัวเอง

Making a Murderer อีกหนึ่งสารคดีจากฆาตกรตัวจริง

หลังคลิปจากรายการพอดแคสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไปมากมาย มีคนหนึ่งที่เห็นแย้งกับคุณหมอเขียนมาว่า “การได้รับรู้เรื่องราวความบาดเจ็บบอบช้ำไม่ใช่ประเด็นที่ฉันรู้สึกผ่อนคลาย แต่เป็นจุดที่ตัวละครได้รับความยุติธรรมต่างหาก ซึ่งฉันไม่ค่อยได้พบเจอในชีวิตจริง”
อีกคนให้เหตุผลว่า “มันสามารถดึงความสนใจฉันไปได้จากความเจ็บปวดที่ฉันเผชิญในชีวิตจริง ฉันไม่ได้ชอบมันนะ แต่มันหักเหความโกรธในใจฉันได้”
อีกคนเข้ามาเสริมว่า “สำหรับฉัน มันคือการไขคดีอาชญากรรม ปริศนา แก้ปัญหา ต่างหากล่ะ”

แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นพ้องต้องกับความเห็นของ ดร.ไบรอันต์ กลุ่มนี้เล่าว่าพวกเขาเข้ารับการบำบัดรักษาสภาพบอบช้ำทางใจ และเมื่อเขาดูหนังที่สร้างจากอาชญากรรมจริง
“ให้ตายเถอะ นี่มันตรงกับฉันจริง ๆ ฉันเคยชอบดูหนังประเภทนี้จริง ๆ แต่หลังจากฉันทำงานหนักติดต่อกันมา 2 ปี ฉันก็ดูไม่ไหวอีกแล้ว”
อีกคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า “โอเค นี่เป็นการเปิดหูเปิดตาฉันจริง ๆ ฉันเคยชอบดูหนังที่สร้างจากอาชญากรรมจริง แต่ตอนนี้ฉันเข้ารับการบำบัดมาปีกว่าแล้ว ตอนนี้ฉันไม่รู้สึกว่ามันน่าสนใจอีกต่อไปแล้ว”

ดร.เมเรดิธ ฟุลเลอร์

ดร.เธมา ไบรอันต์ ไม่ใช่จิตแพทย์เพียงท่านเดียวที่ออกมาเตือนเรื่องอันตรายจากการดูหนังจากอาชญากรรมจริง เร็ว ๆ นี้ ดร.เมเรดิธ ฟุลเลอร์ (Meredith Fuller) จิตแพทย์ชื่อดังชาวออสเตรเลียก็เป็นอีกท่านที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงผลร้ายถ้าเราดูหนังรุนแรงประเภทนี้มากเกินไป
“เช่นเดียวกับทุกเรื่อง มันควรอยู่ในภาวะสมดุล”
“มันเป็นเรื่องน่าสนใจนะ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งขั้วในจิตใจและด้านมืดในธรรมชาติของมนุษย์เรา แต่ก็จำเป็นที่เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่า สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาครอบงำชีวิตของฉันหรือยัง ?”
“มันไม่ใช่เรื่องดีเลยสำหรับคนในวัยหนุ่มสาวที่จะเสพสื่อที่มีความรุนแรงเช่นนี้ เพราะมันจะไปกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในตัวพวกเขาได้”
“ถามตัวเองก่อนว่าคุณจะดูไปเพื่ออะไร แล้วก็ถามตัวเองต่อว่าพอใจที่จะดูหนังแนวอื่นบ้างไหม ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ ให้หวนคิดสักหน่อยว่า มันน่าจะมีอะไรผิดปกติกับฉันแล้วล่ะ”

สัญญาณอันตรายในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อคุณปิดทีวีไปแล้ว คุณเลิกคิดถึงการฆาตกรรมและโศกนาฏกรรมได้หรือไม่ ถ้ามันเริ่มคืบคลานเข้ามาในจิตสำนึกของคุณหรือจิตใต้สำนึกของคุณในความฝัน ทำให้คุณมี “ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุรุนแรง” นั่นล่ะคือสัญญาณบ่งบอกว่าคุณเสพหนังประเภทนี้มากเกินไป ถึงเวลาที่คุณควรจะเปลี่ยนไปดูอะไรที่เบา ๆ ประเภทรอมคอมดูบ้าง

ที่มา : ladbible themirror