คอหนังแอ็กชันยุค 80s คงไม่มีใครไม่รู้จัก 2 แอ็กชันสตาร์กล้ามล่ำ ที่ต่างก็มีผลงานการแสดงที่โด่งดังไปทั่วทั้งโลก ทั้ง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) แอ็กชันสตาร์สัญชาติออสเตรีย-อเมริกันอดีตนักกีฬาเพาะกาย และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนที่ 38 และปัจจุบัน เขายังรับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์แอ็กชัน (Chief Action Officer – CAO) ของ Netflix อีกด้วย

และ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) แอ็กชันสตาร์ชาวนิวยอร์ก ที่โด่งดังจากหนังแอ็กชันบู๊ระห่ำในนามของ ‘แรมโบ้’ ซึ่งจริง ๆ แล้วในยุคนั้น ทั้งคู่ก็ถือว่าอยู่ในจุดพีกที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน ฝั่งของชวาร์เซเน็กเกอร์กลายเป็นดาราหนังฟอร์มยักษ์ เพราะได้เล่นหนังทุนสร้างระดับ 100 ล้านเหรียญมาหลายเรื่อง ส่วนสตอลโลนเองก็สร้างได้ในหลายแฟรนไชส์ ทั้ง ‘Rocky’ และ ‘Rambo’ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นตำนานทั้งสิ้น

แต่อย่างที่รู้กันดีว่า เสือสิงห์ย่อมอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษรุ่งเรืองของทั้งคู่ และหนังแอ็กชันสายกล้ามก็คือ การพยายามช่วงชิงความเป็นหนึ่งในหนังแนวแอ็กชันกันอยู่เสมอ เลยเป็นที่มาของไอเดียแปลก ๆ ที่นักแสดงเจ้าของฉายา ‘ฅนเหล็ก’ ได้พยายามให้หนังภาคต่อ ‘Terminator 2: Judgment Day’ (1991) ที่กำกับและเขียนบทโดย เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) มีฉากสังหารเยอะเป็น 2 เท่าจากภาคแรก เพื่อจะได้ช่วงชิงความเป็นหนึ่งเหนือสตอลโลนที่ดังมาจากแฟรนไชส์ ‘Rambo’ มาแล้วก่อนหน้านั้น

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชวาร์เซเน็กเกอร์ในเสวนาพิเศษที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์อะคาเดมี (Academy Museum of Motion Pictures) โดยสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Sciences – AMPAS) ที่มีการสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเขา และเปิดตัวหนังสือ ‘ARNOLD’ ชุดหนังสือรวมภาพถ่ายและประวัติของตัวเขาเองที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ TASCHEN

ซึ่งส่วนหนึ่งของบทสนทนา ชวาร์เซเน็กเกอร์ได้เปิดเผยเบื้องหลัง ‘Terminator 2’ ที่ฮิตจนกลายเป็นตำนานของแฟรนไชส์นี้ และกลายเป็นอีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของทั้งชวาร์เซเน็กเกอร์ และคาเมรอนไปแล้ว แต่ในช่วงแรก ๆ ของการสร้างหนังเรื่องนี้ เขาเคยรู้สึกไม่ชอบในไอเดียของหนังที่ต้องการเปลี่ยนหุ่นยนต์สังหาร T-800 ที่เป็นวายร้ายในภาคแรก สู่การเป็นหุ่นยนต์ฝ่ายดีในภาคนี้

“เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังฮิตอันดับแรกเลยก็คือ จิม คาเมรอน เพราะจิมเขาเป็นนักเขียนบทอัจฉริยะ เขาเป็นคนสร้างคอนเซ็ปต์ที่ยอดเยี่ยมนี้ขึ้นมา แม้ในตอนแรกผมจะแอบสงสัยเขาอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นเขาบอกกับผมว่า ‘ผมอยากให้คุณเป็น Terminator ในแบบที่ดี’ “

‘Terminator 2’ ในแบบที่ดี ตามความหมายของคาเมรอนก็คือ การที่ในภาคนี้ หุ่นยนต์สังหาร T-800 ถูกตั้งโปรแกรมใหม่เป็นรุ่น Model 101 ที่ไม่ได้เป็นวายร้ายสุดโหดเหมือนในภาคที่แล้ว แต่ต้องรับหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ที่ จอห์น คอนเนอร์ ในอนาคต ส่งกลับมาคุ้มกันตัวเขาเองในวัย 10 ขวบ (เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง – Edward Furlong) และ ซาราห์ คอนเนอร์ (ลินดา แฮมิลตัน – Linda Hamilton) แม่ของเขา จากหุ่นวายร้าย T-1000 (โรเบิร์ต แพตทริก – Robert Patrick) หุ่นยนต์สังหารรุ่นใหม่ที่สกายเน็ต (SkyNet) หวังส่งมาจัดการ จอห์น คอนเนอร์ แบบตัดไฟแต่ต้นลม

ด้วยพล็อตที่อยู่ดี ๆ ก็ให้หุ่นยนต์ T-800 มีความเป็นฮีโร แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์สังหารเหมือนในภาคแรกแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จึงเป็นความเสี่ยงต่อตัวหนังจะออกมาดีหรือแป้กอยู่ไม่น้อย ชวาร์เซเน็กเกอร์เองจึงรู้สึกขัดใจยิบ ๆ กับคาแรกเตอร์ในภาคใหม่นี้ ประกอบกับว่าเขาเองก็มีเป้าหมายบางอย่างในใจ เขาเลยเสนอไอเดียให้คาเมรอนเพิ่มฉากแอ็กชันสังหารเข้าไปเยอะ ๆ และเน้นฉากสังหารรูปแบบใหม่ ๆ

ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไร แต่เพื่อจะได้เอาไปเคลมได้ว่าหนังของเขาเองมีฉากสังหารเยอะ (และเจ๋ง) กว่าหนังแอ็กชันของสตอลโลน แอ็กชันสตาร์อีกคนที่เป็นทั้งคู่แข่งและไม้เบื่อไม้เมาของเขาในเวลานั้น รวมทั้งยังเป็นเจ้าของบท จอห์น เจ แรมโบ (John J. Rambo) ทหารผ่านศึกนักสังหารใน ‘Rambo’ ที่ตอนนั้นทำออกมาแล้วถึง 3 ภาค ชวาร์เซเน็กเกอร์เลยใช้หนังเรื่องนี้เป็นตัวเปรียบเทียบจำนวนศพของผู้เสียชีวิตในหนังว่าใครจะเยอะและเหนือกว่ากัน

Sylvester Stallone Arnold Schwarzenegger James Cameron Terminator 2

“ผมถามเขาว่า ‘ที่คุณบอกว่า Terminator ในแบบที่ดีนี่มันยังไงนะ’ ผมบอกเขาว่า ในภาคแรก ผมฆ่าคนไป 68 คนใช่มั้ย ผมว่าภาค 2 เราน่าจะต้องสังหารอย่างน้อยสัก 150 คนขึ้นไปสิ! เช่นว่า เชือดคอหอยมัน ยิงปืนใหญ่ใส่มัน แล้วก็ขับรถพุ่งชนใส่พวกมัน อะไรแบบนี้

“รู้ไว้เลยนะจิม เป้าหมายที่ผมอยากทำก็คือ ผมต้องได้เป็นที่หนึ่งในการสังหารคนบนหน้าจอ ผมอยากเอาชนะสตอลโลน” แต่นั่นก็ทำให้คาเมรอนถึงกับมองบน และเถียงกลับไอเดียบ้า ๆ ของนักแสดงคนเหล็กแบบทันควัน

“เขาพูดกับผมว่า ‘หยุดเลยอาร์โนลด์ นายนี่โคตรเพ้อเจ้อเลยว่ะ ฉันจะทำให้นายมั่นใจเลยว่า ใน ‘Terminator 2’ นายจะไม่ได้สังหารใครสักคนเดียว ผมตอบกลับว่า ‘นี่มันเป็นไอเดียที่ผมคิดว่าโคตรโง่ที่สุดที่ผมเคยเจอมาเลย มันจะเป็น ‘Terminator 2’ ไปได้ไงถ้าผมไม่ได้สังหารใครเลย อย่างน้อย ๆ ในหนังก็ต้องมีแหละ 2-3 ศพ'”

ซึ่งถ้าอ้างอิงจำนวนการนับจำนวนการสังหารจากเว็บไซต์ listofdeaths.fandom.com ก็จะพบว่า สุดท้ายแล้ว นอกจากหุ่นสังหาร T-1000 แล้ว หุ่นยนต์ T-800 ก็แทบไม่ได้ฆ่าใครเรื่อยเปื่อยด้วยความโหดร้ายเหมือนภาคแรกจริง ๆ ด้วย และถ้าใครเคยดูแล้วก็จะพบว่า หุ่นยนต์ T-800 ไม่ได้แค่มารับหน้าที่คุ้มครองจอห์นและซาราห์เท่านั้น แต่หลังจากเสร็จภารกิจ T-800 ยังเลือกที่จะเสียสละด้วยการทำลายตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองยังมีเทคโนโลยีบางส่วนที่ตกทอดมาจาก SkyNet ซาราห์และจอห์นจึงต้องจำใจหย่อนตัวเขาลงไปในบ่อโลหะหลอมเหลว เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษยชาติต้องถูกทำลาย

ตัวหนังกลายเป็นหนังไซไฟที่ผสมปมดราม่าได้ชนิดที่เรียกว่าเล่นเอาหลายคนถึงกับน้ำตาซึม จนสามารถกลายเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นภาคที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ทำรายได้มากที่สุดในแฟรนไชส์ และเป็นหนังภาคเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา และคว้ามาได้ 4 รางวัล ได้แก่ สาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม

“มันเป็นความซับซ้อนกว่าที่เคยเป็น มันเป็นการต่อสู้ระหว่างเขา กับตัวละครที่ไล่สังหารทุกคน แต่คุณกลับไม่สังหารเขาด้วยการยิงที่หัวเข่า หรือที่ไหล่เพื่อทำลายระบบ มันเป็นความยอดเยี่ยมของ จิม คาเมรอนนะครับ เขาเป็นนักเขียนบทที่ไม่ธรรมดา และยังเป็นผู้กำกับที่น่าเหลือเชื่อด้วย เขาเป็นคนที่เขียนบทภาพยนตร์ได้ดีมาก และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับอันดับหนึ่งของโลกจากหนัง ‘Avatar'”

แม้การเสนอไอเดียบู๊สะบั้นหั่นแหลกของชวาร์เซเน็กเกอร์ จะดูเป็นอะไรที่ออกแนวบ้าบิ่นเอาแต่ใจไปสักหน่อย แต่ถ้าหากย้อนกลับไปในยุค 80s อย่างที่ทราบกันดีว่า ยุคนั้นเขากับสตอลโลน ต่างก็เป็นคู่แข่งกัน ในฐานะเสือกับสิงห์แห่งวงการหนังแอ็กชันฮอลลีวูด ที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามจะช่วงชิงความเป็นหนึ่งของแอ็กชันสตาร์แห่งทศวรรษ 1980 ให้ได้

ความขัดแย้งเริ่มต้นจากตอนที่ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกในงานลูกโลกทองคำ ปี 1977 ที่ต่างก็มีชื่อเข้าชิงรางวัลเหมือนกัน ฝั่งสตอลโลนเองก็พาบทบาทนักมวย ร็อกกี้ บัลบัว ไปไกลจนได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากหนัง ‘Rocky’ (1976) แต่กลับชวดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย แถมคืนนั้น สตอลโลนเหมือนโดนเหยียบย่ำหัวใจ เพราะคู่แข่งอย่างชวาร์เซเน็กเกอร์ กลับได้รับรางวัลในสาขานักแสดงหน้าใหม่แห่งปี จากหนัง ‘Stay Hungry’ (1976) ไปครอง

Sylvester Stallone Arnold Schwarzenegger James Cameron Terminator 2

แม้จริง ๆ แล้ว ‘Rocky’ จะคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดราม่า ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่มาครองในปีนั้น แต่ด้วยท่าทีเย้ยหยันดูน่าหมั่นไส้ตอนรับรางวัลของชวาร์เซเน็กเกอร์ แถมหัวเราะเยาะใส่ ทำท่าดีใจเมื่ออีกฝ่ายชวดรางวัล ก็ทำให้สตอลโลนถึงกับหัวร้อน ภายหลัง สตอลโลนเองเผยว่าเขานี่แหละที่เคยหยิบแจกันดอกไม้ขว้างใส่ดาราแอ็กชันคู่แข่ง เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเขม่นกัน และมุ่งแข่งขันเพื่อสร้างผลงานที่เหนือกว่าอีกฝ่าย ที่ไม่เว้นแม้แต่ขนาดอาวุธที่ต้องใหญ่กว่า เหนือกว่า คนตายเยอะกว่า ความล่ำบึ้กของร่างกาย ที่ต่างฝ่ายต่างก็เกทับว่าของตัวเองเหนือกว่าอีกฝ่ายอยู่เสมอ

อีกความแตกหักแบบสุด ๆ ที่สตอลโลนเคยเปิดเผยกับ Entertainment Weekly ก็คือ ชวาร์เซเน็กเกอร์เคยป่าวประกาศว่าเขาจะได้เล่นหนังตลกคู่หูตำรวจ ‘Stop! Or My Mom Will Shoot’ (1992) แต่สุดท้ายด้วยความอยากเอาชนะแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สตอลโลนเลยสั่งให้เอเจนซีของเขาและสั่งให้แย่งเอาบทในหนังเรื่องนั้นมาเป็นของเขาให้จนได้ จนสุดท้ายเขาก็ได้เล่นหนังเรื่องนี้จริง ๆ แต่สุดท้ายหารู้ไม่ว่า ชวาร์เซเน็กเกอร์ตัวแสบนี่แหละ ที่วางยาป่าวประกาศลอย ๆ เพื่อหลอกให้เขาตายใจ อยากแย่งชิงบทหนังตลกที่โดนคำวิจารณ์ถล่มเละเทะ จนกลายเป็นหนังที่สตอลโลนเกลียดที่สุดในอาชีพนักแสดงในเวลาต่อมา

แต่สุดท้าย ด้วยความนิยมของหนังแอ็กชัน และดาราแอ็กชันที่เริ่มเสื่อมถอยลงในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้นักแสดงคู่แข่งต่างก็เริ่มมีผลงานน้อยลง ทำให้ทั้งคู่เริ่มวางความบาดหมางในอดีต และเริ่มหันมาเป็นเพื่อนกัน มีช่วงหนึ่งที่ทั้งคู่จับมือกันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนร้านอาหาร ‘Planet Hollywood’ ในนิวยอร์ก ร่วมกับอดีตแอ็กชันสตาร์รุ่นน้อง บรูซ วิลลิส (Bruce Willis)

Sylvester Stallone Arnold Schwarzenegger James Cameron Terminator 2

และเมื่อชวาร์เซเน็กเกอร์กระโดดลงมาเล่นการเมือง ด้วยการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2003 ก็เป็นสตอลโลนที่บริจาคเงินให้กับแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนเงิน 15,000 เหรียญ นอกจากนี้ แอ็กชันสตาร์ทั้ง 2 คนก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงหนังแอ็กชันด้วยกันในยุค 2000 ทั้งในแฟรนไชส์ ‘The Expendables’ และหนังแหกคุก ‘Escape Plan’ (2013)

ใน ‘Arnold’ สารคดีมินิซีรีส์ 3 ตอนที่เปิดเผยเรื่องราวของชวาร์เซเน็กเกอร์เขาตั้งแต่วัยเด็ก การเป็นนักกีฬาเพาะกาย ความประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ และก้าวสู่แวดวงการเมือง ที่ฉายทาง Netflix โดยในตอนที่ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องของพาร์ตนักแสดง ทั้งชวาร์เซเน็กเกอร์ และสตอลโลน ต่างก็ได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งกันในอดีตชนิดที่ว่าอยู่ในห้องเดียวกันยังไม่ได้

ซึ่งในสารคดีเรื่องนี้ สตอลโลนได้กล่าวชื่นชมยกย่องชวาร์เซเน็กเกอร์ว่า เป็นแอ็กชันฮีโรที่เหนือกว่าตัวเขาเอง และไปถึงจุดสูงสุดอย่างที่เขาเองก็ทำไม่ได้ ในขณะที่ชวาร์เซเน็กเกอร์เองก็ยอมรับว่า ในยุคนั้น สตอลโลนแซงหน้าเขาด้วยหนังแอ็กชันที่โดดเด่น จนเขาอยากจะพยายามที่จะเอาชนะบ้าง และหากไม่มีสตอลโลน เขาเองก็อาจจะไม่มีแรงผลักดันให้ตัวเขาเองทุ่มเทอย่างหนักกับการแสดงหนังแอ็กชันในยุค 80s ไปแล้วก็ได้


ที่มา: Insider, MovieWeb, Ladbible, IndieWire

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส