แฟนเพลงรายหนึ่งของนักร้องสาว เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ในสแตฟฟอร์ดเชียร์เป็นอันต้องเหวอและรู้สึกประหลาดใจอย่างน่าขนลุก เมื่อเธอลองเล่นแผ่นเสียงอัลบั้ม ‘Speak Now’ เวอร์ชันบันทึกเสียงใหม่ที่มาพร้อมแผ่นไวนิลสีม่วงกล้วยไม้อันไฉไล

แต่แทนที่เธอจะได้ฟังบทเพลงใหม่อย่าง “I Can See You” หรือฟัง “Speak Now” “Back To December” และ “Sparks Fly” ในเวอร์ชันที่บันทึกเสียงใหม่เอี่ยมอ่องของสวิฟต์ ราเชล ฮันเตอร์ (Rachel Hunter) กลับต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มของเสียงอิเล็กทรอนิกาที่มืดมนและก่อกวนจิตใจ จนต้องออกมาโอดครวญว่า “ได้โปรดช่วยฉันด้วย” ผ่านทางวิดีโอ TikTok ของเธอที่มีผู้ชมนับล้านแล้วตอนนี้

send help I got speak now (not Taylors version) this is so funny #speaknowtaylorsversion @Taylor Swift @Taylor Nation #erastour #speaknoworchid
send help I got speak now (not Taylors version) this is so funny #speaknowtaylorsversion @Taylor Swift @Taylor Nation #erastour #speaknoworchid
@mischief_marauder

send help I got speak now (not Taylors version) this is so funny #speaknowtaylorsversion @Taylor Swift @Taylor Nation #erastour #speaknoworchid

♬ original sound - Rachel ✨

เพลงที่เธอเจอนั้นมีทั้งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “เศษเนื้อ” และ “แถวของปลาซาร์ดีนที่ไม่มีที่สิ้นสุด” ในขณะที่อีกเพลงก็เป็นซาวด์ที่มาจากซีรีส์สยองขวัญปี 1960 เรื่อง ‘The Outer Limits’ พร้อมข้อความสุดหลอนว่า “มีประชากรกว่า 70,000 ล้านคนบนโลก พวกเขาซ่อนตัวอยู่ที่ไหน พวกเขาซ่อนอยู่ที่ไหน” มันเป็นเสียงของผู้ชายที่แหบพร่าอันลอยอยู่เหนือเสียงสังเคราะห์ที่น่าหวาดกลัว

“ตอนแรก ฉันคิดว่าแผ่นเสียงอาจมีข้อความลับจากเทย์เลอร์” ฮันเตอร์บอกกับบีบีซี

“แต่เมื่อฉันพลิกไปหน้า b มันก็เริ่มมีเสียงพูดว่า ‘มีคน 70,000 ล้านคนบนโลก พวกเขาซ่อนตัวอยู่ที่ไหน’ ฉันเลยเริ่มกลัวขึ้นมาเล็กน้อย”

“ฉันอยู่คนเดียวและมันก็ดึกแล้ว และแผ่นเสียงของฉันก็เปล่งเสียงที่น่าขนลุก”

ในตอนแรกฮันเตอร์วางแผนที่จะถ่ายทำวิดีโอ ‘แกะกล่อง’ สำหรับแผ่นเสียงชุดนี้ที่เธอเพิ่งซื้อมาใหม่ แต่เมื่อเธอเริ่มรู้สึกถึงข้อผิดพลาดบางอย่างในการผลิตแผ่นเสียงนี้ เธอก็เลยตัดสินใจที่จะแบ่งปันการค้นพบ (สุดหลอน) นี้ของเธอบนโซเชียลมีเดีย

“นี่มันคือใครกันเนี่ย ?” เธอถามผู้ติดตามใน TikTok ของเธอด้วยเสียงสั่นเครือ “โปรดช่วยฉันด้วย !”

ภายในเวลาเพียงไม่นานวิดีโอดังกล่าวนี้ก็มีผู้เข้าชมกว่า 3.6 ล้านครั้งบน TikTok และรับชมมากกว่า 1.5 ล้านครั้งบน Twitter

นักสืบทางอินเทอร์เน็ตเริ่มปะติดปะต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าทั้ง 2 เพลงที่ฮันเตอร์ได้ยินนั้นมาจากอัลบั้มรวมเพลงในสหราชอาณาจักรชื่อ “Happy Land (A Compendium Of Electronic Music From The British Isles 1992-1996)”

โดยในหน้าแรกเป็นเพลงประหลาด 11 นาทีที่ชื่อว่า “True Romance” โดย ‘Thunderhead’ วงดนตรีแดนซ์ที่มีผลงานในช่วงสั้น ๆ  ส่วนอีกหน้าหนึ่งเป็นเพลงแนว deep house ที่ชื่อว่า “Soul Vine (70 Billion People)” โดย ‘Cabaret Voltaire’ วงอิเล็กทรอนิกส์จากเชฟฟิลด์

“สำหรับความผิดพลาดของบริษัทแผ่นเสียง นี่จะต้องเป็นหนึ่งในความผิดพลาดที่ดีที่สุด” ดีเจเดเมียน ลาซารัส (Damian Lazarus) กล่าวพร้อมโพสต์วิดีโอต้นฉบับของฮันเตอร์อีกครั้ง “โดยพื้นฐานแล้ว หากคุณซื้อแผ่นเสียงและรู้สึกตื่นเต้นที่จะฟัง Speak Now ในตอนนี้คุณจะต้องเผชิญหน้ากับเพลงที่แปลกประหลาดและยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา… โชคดีนะ !!!!”

อัลบั้ม Happy Land รวบรวมโดย เอ็ด คาร์ตไรท์ (Ed Cartwright) และ ลีออน โอคีย์ (Leon Oakey) ออกเมื่อต้นปีนี้โดยค่ายเพลงอังกฤษชื่อ Above Board Distribution การผลิตครั้งแรกขายหมด แดน ฮิลล์ (Dan Hill) ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงกล่าวว่าเขารู้สึกทึ่งกับความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันและอยู่ดี ๆ เขาก็กลายเป็นเป้าว่าอาจจะเป็นที่มาของความเหวอครั้งนี้ “ผมไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่ดี ๆ ผมก็เข้ามาอยู่ในเรื่องนี้เฉยเลย” เขาบอกกับบีบีซี “แต่มันเป็นเรื่องตลก และผมก็ดีใจที่ผมไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดไป” เขาคิดว่าเรื่องราวนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนเพราะแนวเพลงทั้งสองนั้นมันต่างกัน ‘คนละขั้ว’ เลยทีเดียว

“ถ้างานเพลงของพวกเขาคล้ายกันมากกว่านี้ มันคงจะไม่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาหรอก” เขากล่าว “แต่ผมคิดว่าดาวเด่นของรายการจริง ๆ คือราเชล วิธีที่เธอจัดการกับมันและวิธีที่มันระเบิดออกมาจากตรงนั้น”

ตั้งแต่วิดีโอแรกของเธอกลายเป็นไวรัล ฮันเตอร์ก็ได้โพสต์การติดตามผลอีกหลายครั้ง รวมถึงวิดีโอที่เธอเปลี่ยนความเร็วของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพื่อพิสูจน์ว่าเสียงต้นฉบับไม่ได้ถูกปลอมแปลง จนถึงตอนนี้ เธอยังไม่เคยได้ยินจากแฟน ๆ คนอื่น ๆ ที่พบข้อผิดพลาดเดียวกัน “เท่าที่ฉันรู้มันเป็นฉันคนเดียวที่พบเรื่องนี้ !”

“มันจะกลายเป็นของสะสม” ฮิลล์กล่าว “ผมจะซื้อมาเลย 2 แผ่น ! ผมอยากได้มันมาเก็บไว้”

ที่มา

BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส