42 ปี กับการเดินทางของวีรบุรุษนักล่าสมบัติในตำนาน อินเดียนา โจนส์ ที่มอบความบันเทิงด้วยเรื่องราวการผจญภัยสุดตื่นเต้นสู่คนดู ด้วยวิสัยทัศน์เฉียบคมของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ในฐานะโปรดิวเซอร์ผู้ให้กำเนิด

บทความนี้ขอพาย้อนเรื่องราวเบื้องหลังการถ่ายทำแฟรนไชส์ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า สั่งลาการผจญภัยครั้งสุดท้ายของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) ใน ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny’


สปีลเบิร์กได้กำกับ ‘Indiana Jones’ เพราะไม่ได้กำกับหนัง เจมส์ บอนด์ 
Indiana Jones

จุดเริ่มต้นของมหากาพย์หนังผจญภัยขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เริ่มต้นจากมิตรภาพของ จอร์จ ลูคัส และ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ไปพักร้อน ณ เกาะฮาวาย หลังจากหนัง ‘Star Wars’ เข้าฉาย ในขณะที่สปีลเบิร์กที่ถือว่ายังเป็นผู้กำกับหนุ่มไฟแรง ก็มีความใฝ่ฝันลึก ๆ ที่อยากจะกำกับหนังสายลับ เจมส์ บอนด์ ในแบบของตัวเอง แต่สปีลเบิร์กที่ตอนนั้นที่ชื่อชั้นยังไม่มากพอ ประกอบกับการที่เขาเองขึ้นชื่อในวงการว่าเป็นผู้กำกับที่ใช้เวลาถ่ายทำและงบประมาณบานปลาย จึงถูกโปรดิวเซอร์ของหนัง เจมส์ บอนด์ปฏิเสธไป 

แต่เมื่อลูคัสได้ยินสปีลเบิร์กเล่าเรื่องนี้ เขาก็ได้เสนอไอเดียหนังที่เขามองว่าดีกว่า เจมส์ บอนด์ ซึ่งนั่นก็คือไอเดียหนังผจญภัยที่มีตัวละครหลักเป็นนักโบราณคดีผู้ตามล่าขุมสมบัติ ผสานกลิ่นอายหนังสายลับ และหนังคลาสสิกยุค 1930-1940 ให้เพื่อนซี้อย่างสปีลเบิร์กกำกับ

โดยมีลูคัสรับหน้าที่เขียนบทและโปรดิวเซอร์ พร้อมกับคอยดูแลด้านงานสร้าง งบประมาณ และเวลาของผู้กำกับดาวรุ่งอย่างสปีลเบิร์กอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้บานปลายเหมือนกับหนังของสปีลเบิร์กเรื่องก่อน ๆ จนกลายมาเป็น ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ ที่ออกฉายในปี 1981  


แฮร์ริสัน ฟอร์ด เกือบไม่ได้เป็น อินเดียนา โจนส์ 
Indiana Jones

บทบาท อินเดียนา โจนส์ ถือเป็นอีกบทบาทที่เป็นภาพจำของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด แต่เขาเองก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่ จอร์จ ลูคัส อยากได้มารับบทนี้ เพราะแม้ว่าฟอร์ดเองจะมีผลงานการแสดงกับหนังของลูคัสหลายเรื่อง ทั้ง ‘American Graffiti’ (1973) ‘Star Wars’ (1977)  และ ‘Apocalypse Now’ (1979) แต่ลูคัสไม่ได้อยากได้ฟอร์ดมารับบท เพราะเขาไม่อยากติดภาพผู้กำกับพ่วงนักแสดงคู่บุญ เหมือน โรเบิร์ต เดอนีโร (Robert De Niro) ที่ชอบเล่นหนังของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese)   

ซึ่งตัวเลือกที่ได้รับการพิจารณาให้รับบทนี้ก็มีมากมาย ตั้งแต่ บิล เมอร์เรย์ (Bill Murray) แจ็ก นิโคลสัน (Jack Nicholson) เจฟฟ์ บริดเจส (Jeff Bridges) แซม เอลเลียด (Sam Elliott)  เดวิด แฮสเซลฮอฟ (David Hasselhoff) และอีกมากมาย แต่ตัวเลือกที่มาวินเป็นอันดับ 1 ก็คือ พระเอกหนุ่มหนวดงาม ทอม เซลเล็ก (Tom Selleck) ที่ได้มาเทสต์หน้ากล้อง และทั้งลูคัสและสปีลเบิร์กก็รู้สึกว่าเขาเหมาะกับบทนี้มาก

แต่ติดตรงที่เซลเล็กเองก็ติดสัญญาแสดงซีรีส์ดัง ‘Magnum, P.I.’ (1980–1988) ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ CBS เจ้าของซีรีส์ ไม่อนุญาตให้ยืมตัวเซลเล็กมาแสดง บทนี้เลยตกเป็นของฟอร์ด เพราะสปีลเบิร์กประทับใจจากบทบาทของเขาใน ‘Star Wars: The Empire Strikes Back’ (1980) มาก่อน


ชื่อ อินเดียนา โจนส์ ได้มาจากชื่อของสุนัข
Indiana Jones

อินเดียนา โจนส์ เป็นตัวละครที่จอร์จ ลูคัส สร้างสรรค์ขึ้น เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีหน้าที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเบื้องหน้า และมีเบื้องหลังเป็นนักโบราณคดีผู้มีใจรักในการผจญภัย ชอบใช้แส้เป็นอาวุธออกเดินทางเพื่อตามล่าหาสมบัติไปทั่วโลก ฉลาด ซื่อสัตย์ จริงใจ เก่งกาจ แต่ก็มีมุมผิดพลาดและมุมตลก ๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งที่มาของชื่อคาแรกเตอร์สุดโด่งดังนี้ ลูคัสได้ตั้งชื่อตาม อินเดียนา (Indiana) สุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) ของลูคัสนั่นเอง ซึ่งเจ้าอินเดียนาตัวนี้ก็ยังเคยเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครชิวแบ็กกา ใน Star Wars มาแล้วด้วย 

แต่เดิม ลูคัสเคยตั้งชื่อตัวละครนี้ว่า อินเดียนา สมิธ (Indiana Smith) แต่สปีลเบิร์กเองไม่ชอบชื่อนี้มาก ๆ เพราะรู้สึกซ้ำกับชื่อตัวละคร เนวาดา สมิธ (Nevada Smith) ในหนังคาวบอยที่ฉายในปี 1966 แสดงโดย สตีฟ แม็กควีน (Steve McQueen) จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ อินเดียนา โจนส์ แทน นอกจากนี้ในภาค 2 ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ก็ยังมีตัวละครที่ตั้งชื่อตามน้องหมาทั้ง วิลลี่ สก็อต (Willie Scott) ที่ได้ชื่อมาจาก วิลลี่ (Willie) สุนัขพันธ์ุค็อกเกอร์สแปเนียล (Cocker Spaniel) ของสปีลเบิร์ก ส่วนตัวละคร ชอร์ตราวนด์ (Short Round) ก็ได้ชื่อมาจากสุนัขพันธ์ุ เชทแลนด์ ชีปด็อก (Shetland Sheepdog) ของ วิลลาร์ด ไฮก์ (Willard Huyck) มือเขียนบทของภาคนี้


คีฮุยควน ได้รับบท ชอร์ตราวนด์ โดยบังเอิญ
Indiana Jones

อีกตัวละครสีสันที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูในภาค ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ก็คือ ชอร์ตราวนด์ เด็กชายผู้ติดตามและผู้ร่วมชะตากรรมของอินดี้ ที่รับบทโดย คีฮุยควน (Ke Huy Quan) นักแสดงเด็กชาวอเมริกัน-เวียดนาม ที่ฝ่าด่านนักแสดงเด็กที่มาออดิชันนับพันคนได้อย่างบังเอิญ

ซึ่งก่อนหน้านี้ สปีลเบิร์ก และ ไมค์ เฟนตัน (Mike Fenton) หัวหน้าฝ่ายแคสติ้งกำลังเครียดกับการหานักแสดงเด็กที่จะมารับบทนี้ เลยไปเปิดออดิชันที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในลอสแองเจลิส วันนั้นแม่ของควนได้พาพี่ชายของเขามาคัดตัวออดิชัน แต่โปรดิวเซอร์กลับเห็นแววของควน ที่กำลังให้คำแนะนำการแสดงกับพี่ชาย จึงได้เรียกควนมาบันทึกเทปออดิชันแทน

สปีลเบิร์กก็ได้ดูเทปการออดิชัน และประทับใจในการแสดงของหนูน้อยควน จึงได้เรียกเขามาออดิชันต่อหน้าอีกรอบ แต่ด้วยความที่ยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ถนัด สปีลเบิร์กจึงให้เขาแสดงแบบด้นสด โดยสปีลเบิร์กเผยว่า เขาชอบบุคลิกของควน เพราะเขาเหมือนชายอายุ 50 ที่ติดอยู่ในร่างของเด็กชายอายุ 12 ปี และในที่สุด ควนก็ได้รับเลือกให้เล่นเป็นชอร์ตราวนด์ แจ้งเกิดเขาในฐานะนักแสดงเด็กและวัยรุ่นยุค 80s ที่มีผลงานการแสดงเป็นที่จดจำอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา


มุกยิงนักดาบ เกิดจากตอนที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ป่วยระหว่างถ่ายทำ
Indiana Jones

ในระหว่างถ่ายทำ ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ (1981) เหล่าทีมงานและนักแสดงต้องเผชิญกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศสุดโหดร้าย โดยเฉพาะในภาคนี้ ที่อินดี้ต้องเดินทางไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทีมงานจึงได้เดินทางไปถ่ายทำ ณ ประเทศตูนีเซีย

นอกจากจะต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่ร้อนจัดเกิน 54 องศาเซลเซียสในทุก ๆ วันที่ออกกองแล้ว ทีมงานกว่า 150 คนก็ต้องล้มป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานอาหารท้องถิ่น จะมีก็เพียงแต่สปีลเบิร์กที่ยังคงสบายดี เนื่องจากเขาไม่ได้กินอาหารท้องถิ่นเหมือนทีมงานคนอื่น ๆ แต่กินสปาเก็ตตี้กระป๋องยี่ห้อ SpaghettiOs และดื่มน้ำที่เขาพกติดตัวมาเอง

อีกคนที่ต้องเผชิญกับอาการอาหารเป็นพิษในครั้งนี้ก็คือ นักแสดงนำอย่าง แฮร์ริสัน ฟอร์ด ที่แม้ร่างกายจะไม่ไหว แต่เขาเองก็ยอมฝืนมาถ่ายทำฉากแอ็กชัน ในฉากที่แต่เดิม อินดี้จะต้องใช้แส้ฟาดจัดการกับนักดาบ ที่แสดงโดยสตันท์ที่ฝึกทักษะการใช้ดาบอยู่นานหลายเดือน แต่สุดท้ายฟอร์ดก็ฝืนเล่นไม่ไหว จึงได้ออกไอเดียให้เล่นมุกยิงปืนใส่นักดาบเปรี้ยงเดียวจอดไปเลยเสียให้จบ ๆ จะได้ถ่ายให้เสร็จเร็ว ๆ ซึ่งสปีลเบิร์กก็ชอบมาก จนตัดสินใจใส่ไปในหนัง กลายเป็นมุกเรียกเสียงฮาในหนังที่ช็อตฟีลคนดูสุด ๆ 


ฌอน คอนเนอรี เล่นเป็นพ่อของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ทั้งที่อายุห่างกันแค่รอบเดียว
Indiana Jones

ใน ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ (1989) มีความพิเศษอยู่ตรงที่ ในภาคนี้ อินเดียนา โจนส์ จะไม่ได้มาแค่เดี่ยว ๆ แต่เราจะได้เจอกับเรื่องราวปูมหลังของอินดี้ ทั้งตัวเขาในวัยเด็กที่แสดงโดย ริเวอร์ ฟีนิกซ์ (River Phoenix) และได้พบกับ เฮนรี โจนส์ ซีเนียร์ พ่อของอินเดียนา โจนส์ ที่แสดงโดย ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) ซึ่งเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่สปีลเบิร์กต้องการให้มารับบทนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วคอนเนอรีนั้นมีอายุห่างจากฟอร์ดเพียงแค่ 12 ปี 

แม้คอนเนอรีจะสงสัยว่า นี่จะเป็น เจมส์ บอนด์ ปะทะ อินเดียนา โจนส์ หรือเปล่า ตอนที่สปีลเบิร์กชวนให้ไปแสดงด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายนักแสดงรุ่นใหญ่ระดับตำนานก็ยอมตอบตกลง เราจึงได้เห็นภาพของฟอร์ด และคอนเนอรี ที่มารับบทพ่อลูกนักล่าสมบัติ ช่วยเติมเต็มให้หนังมีกลิ่นอายหนังครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม

ก่อนที่เขาจะปฏิเสธที่จะกลับมารับเชิญบทนี้อีกครั้งในภาค ‘Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull’ (2008) เพราะเขาเองไม่อยากเกษียณอาชีพนักแสดงด้วยบทรับเชิญ และยังเคยแนะนำให้สังหารตัวละครนี้ไปเสีย ซึ่งลูคัสเองก็เห็นด้วย เพราะอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกผิดหวัง ที่ไม่ได้เห็นคอนเนอรีออกไปร่วมผจญภัยเหมือนภาคที่แล้ว


อินเดียนา โจนส์ เกือบได้ปะทะเทพเจ้าเห้งเจีย
Indiana Jones

เนื้อเรื่องในภาค 3 หรือ ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ เป็นเรื่องราวของอินดี้ ที่ต้องตามหา จอกศักดิ์สิทธิ์ และต้องตามหาพ่อผู้สูญหาย แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พล็อตดั้งเดิมของภาคนี้ มีชื่อดั้งเดิมว่า ‘Indiana Jones and the Monkey King’ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของอินดี้ กับราชาวานร ที่ได้แรงบันดาลใจจากซุนหงอคง หรือเห้งเจีย ตามตำนานไซอิ๋วที่คุ้นเคยกันดี

โดยพล็อตดั้งเดิมของ Indiana Jones and the Monkey King เวอร์ชันแรกที่เขียนบทโดย คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) ผู้เขียนบทหนัง ‘Gremlins’ (1984) , ‘The Goonies’ (1985) และผู้กำกับหนัง ‘Home Alone’ (1990) และ ‘Home Alone 2: Lost in New York’ (1992) ว่าด้วยเรื่องราวของ อินเดียนา โจนส์ ในปี 1937 ที่เข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมลึกลับของฆาตกรรายหนึ่ง  

ก่อนที่เขาจะได้รู้จักกับคนแคระชาวแอฟริกันนามว่า ไทกิ ที่รู้จักเมืองลับสาบสูญที่เชื่อกันว่า ในเมืองนี้มีราชาวานรผู้ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่ และในป่านั้นก็ยังมีมีสวนผลท้อศักดิ์สิทธิ์ ที่หากผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ได้กัดกิน ก็จะทำให้เป็นอมตะได้ อินดี้จะประสบเหตุถูกนาซีไล่ล่า ทำให้เขาได้พบกับราชาวานร และชุบชีวิตเขากลับมาได้อีกครั้งด้วยฤทธิ์เดชของผลท้อ

ซึ่งหลังจากอ่านบท สปีลเบิร์กเองรู้สึกไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะมองว่ามันเหนือธรรมชาติเกินไป ลูคัสจึงได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับพล็อตที่ว่าด้วยจอกศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานในคัมภีร์ไบเบิล ผสมเข้ากับพล็อตครอบครัวว่าด้วยเรื่องพ่อลูกที่สปีลเบิร์กอยากทำมารวมกัน จนกลายเป็นบทหนังเวอร์ชันที่ถูกใช้จริงในที่สุด 

คลิกอ่านเบื้องหลังและเรื่องย่อสังเขปของ ‘Indiana Jones and the Monkey King’


ฉากหน้าละลาย หัวระเบิด รุนแรงจนเกือบได้เรต R
Indiana Jones

แม้จะเป็นหนังที่สปีลเบิร์กตั้งใจให้มีความเป็นหนังครอบครัว แต่ภาพรวมของ ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ (1981) ก็ล้วนเต็มไปด้วยฉากโหดสยองไม่น้อย โดยเฉพาะฉากจำของหนังตอนท้ายเรื่อง ที่ เรเน เบลล็อก นักโบราณคดีคู่ปรับของอินดี้ที่ทำงานรับใช้นาซี และ นายพล อาร์โนลด์ ทอท เจ้าหน้าที่เกสตาโปจอมโหด ที่โดนวิญญาณร้ายในหีบศักดิ์สิทธิ์เล่นงานอย่างสยดสยอง ทั้งฉากหัวระเบิด และใบหน้าของทอทที่โดนละลายอย่างน่าสยดสยอง 

เบื้องหลังฉากสยองฉากนี้ ออกแบบโดย คริส วอลัส (Chris Walas) ผู้ดูแลสเปเชียลเอฟเฟกต์ ที่หล่อต้นแบบศีรษะของ โรนัลด์ เลซีย์ (Ronald Lacey) ผู้รับบทเป็นนายพลทอท เพื่อใช้เป็นต้นแบบกะโหลกที่ทำจากหินทนความร้อน ส่วนใบหน้าละลายนั้นสร้างขึ้นจากเจลาติน ที่มีการเพิ่มเส้นด้ายและสีให้เหมือนเส้นเลือด เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ พอถึงตอนถ่ายจริง ทีมงานจะใช้ฮีตเตอร์ 2 ตัวตั้งไว้ข้าง ๆ ศีรษะจำลอง ใช้ความร้อนค่อย ๆ ทำให้เจลาตินละลาย และถ่ายด้วยกล้องสปีดต่ำ ก่อนจะนำไปเร่งภาพให้ออกมาดูเหมือนใบหน้าที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว

ส่วนช็อตหัวระเบิดของเบลล็อกก็ทำแบบเดียวกัน แต่มีการเพิ่มเลือดและชิ้นเนื้อเข้าไปเพื่อให้ดูสมจริงน่าขยะแขยงด้วย ซึ่ง 2 ฉากรุนแรงทำให้ตัวหนังได้เรต R ที่จำกัดกลุ่มผู้ชมจนอาจทำให้ได้รายได้ตอนฉายน้อย แต่สปีลเบิร์กที่ประทับใจเอฟเฟกต์เหล่านี้มาก ๆ กลับยืนกรานว่าจะไม่ยอมตัดออก แต่ใช้วิธีเพิ่มเอฟเฟกต์ไฟ เพื่ออำพรางฉากหัวระเบิดไม่ให้ดูสยดสยองจนเกินไป ทำให้ตัวหนังได้รับเรต PG ไปแทน


‘Indiana Jones’ เป็นส่วนสำคัญในการให้กำเนิดเรต PG-13
Indiana Jones

‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ถือเป็นภาคเดียวของแฟรนไชส์ที่มีเสียงวิจารณ์จากบรรดาผู้ปกครอง จากเนื้อเรื่องที่หม่นดาร์ก และมีฉากความรุนแรงเกินกว่าจะให้เด็กดู ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ของทั้งสปีลเบิร์กและลูคัส ที่ต้องการปรับโทนหนังให้หม่นขึ้นคล้ายกับหนัง ‘Star Wars’ ภาค ‘The Empire Strikes Back’ เช่นฉากดินเนอร์มื้อพิเศษในพระราชวัง ที่มีเมนูโหด ๆ ทั้งซุปลูกตา สมองลิง ด้วงยักษ์ ทำให้สมาคมภาพยนตร์อเมริกัน (Motion Picture Association of America – MPAA) หรือ MPA ในปัจจุบันได้ให้เรต R กับหนังเรื่องนี้ 

แต่ด้วยอิทธิพลพ่อมดฮอลลีวูด ก็เป็นสปีลเบิร์กนี่เองที่เขียนจดหมายถึง แจ็ก วาเลนติ (Jack Valenti) ประธานของ MPAA ในขณะนั้น ให้เพิ่มเรต PG-13 หรือเรตติงที่หากมีผู้ชมอายุต่ำกว่า 13 ปีต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ ซึ่งอยู่ระหว่างเรต PG กับ R ขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับหนังที่มีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น

ซึ่งหนังเรื่องแรกที่ได้เรต PG-13 อย่างเป็นทางการก็คือ ‘The Flamingo Kid’ (1984)  ซึ่งภายหลังสปีลเบิร์กก็เผยว่า ภาคนี้เป็นหนังที่เขาชอบน้อยที่สุด และรู้สึกไม่ดีที่ทำให้หนังออกมาดูมืดหม่น น่ากลัว และลึกลับมากเกินไป จนเขาเองต้องพยายามไถ่โทษผู้ชม ด้วยการนำเสน่ห์และรูปแบบจากภาคแรก นำมาปรับใช้อีกครั้งในภาค ‘The Last Crusade’ 


หนูในภาค ‘The Last Crusade’ เป็นหนูที่เพาะขึ้นเพื่อใช้ถ่ายหนังโดยเฉพาะ
Indiana Jones

จุดเด่นของ ‘Indiana Jones’ นอกจากภัยอันตรายจากคนแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยภัยอันตรายจากสัตว์ต่าง ๆ ที่มีตั้งแต่สิงโต นก งู มด แมลง ตะขาบ แมงป่อง แมงมุม โดยเฉพาะในภาค ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ ที่มีฉากอินดี้และ เอลซา ชไนเดอร์ ได้บุกเข้าไปยังสุสานใต้ดินที่อยู่ใต้พื้นห้องสมุดในเมืองเวนิส ซึ่งในนั้นทั้งคู่ต้องเผชิญหน้ากับโครงกระดูก และฝูงหนูนับพัน ๆ ตัวที่ส่งเสียงจี๊ด ๆ จนชนิดที่ว่า ถ้าใครกลัวหนูคงต้องกรี๊ดแตกอย่างแน่นอน และฉากนี้ก็ยังทำให้ อแมนดา เรดแมน (Amanda Redman) ปฏิเสธบทบาท เอลซา ชไนเดอร์ ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวเลือกแรก เพียงเพราะว่าเธอกลัวหนู

ซึ่งเบื้องหลังของบรรดาหนูจำนวนมหาศาล ทีมงานของลูคัสฟิล์ม ต้องประสานงานกับบริษัทจัดหาสัตว์สำหรับการแสดง ที่เคยจัดหางูและแมลงในภาคก่อน ๆ เพื่อทำการเพาะพันธุ์หนูสีเทาที่ปลอดเชื้อโรคจำนวนมากกว่า 1,000 ตัวสำหรับถ่ายทำฉากนี้โดยเฉพาะ ส่วนช็อตที่มีหนูถูกไฟไหม้ ทีมงานก็ได้ผลิตหนูปลอมขึ้นมาอีก 1,000 ตัว เพื่อใช้ถ่ายทำฉากนี้โดยเฉพาะเช่นกัน ซึ่งในภายหลัง เจ้าหนูเหล่านี้ก็ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรหนูกลายเป็น 5,000 ตัว ภายในระยะเวลา 5 เดือนหลังจากเพาะพันธุ์ 



พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส