ถึงแม้ว่าแฟรนไชส์หนังแอ็กชันรถยนต์ซิ่ง ‘Fast & Furious‘ จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์หนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกชุดหนึ่ง แต่ด้วยกระแสของเนื้อหาในภาคหลัง ๆ ที่มักโดนวิจารณ์ถึงคุณภาพของบทและเรื่องราว และการขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งสะท้อนผ่านคำวิจารณ์รุนแรงใน ‘F9’ (2021) และ ‘Fast X’ ที่เนื้อหาดีขึ้น แต่ทำรายได้ Box Office ได้กำไรเพียงเล็กน้อย

ล่าสุด เดวิด เอเยอร์ (David Ayer) ผู้กำกับและมือเขียนบท ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการพอดแคสต์ ‘Real Ones’ ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แฟรนไชส์นี้อย่างเผ็ดร้อน และเผยถึงความเสียใจที่ครั้งหนึ่ง สตูดิโอเคยเพิกเฉยและปัดตกไอเดียบทที่เขาอุตส่าห์มีเครดิตในฐานะผู้เขียนและแก้ไขบทให้กับภาคแรก ‘The Fast and the Furious’ (2001)

จุดเริ่มต้นของบทหนัง ‘The Fast and the Furious’ นั้น แกรี สก็อตต์ ทอมป์สัน (Gary Scott Thompson) และ เอริค เบิร์กควิสต์ (Erik Bergquist) ผู้เขียนบทร่างแรก ได้แรงบันดาลใจจากบทความที่มีชื่อว่า ‘Racer X’ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vibe ฉบับเดือนพฤษภาคม 1998 ที่บอกเล่าถึงชุมชนนักแข่งรถ Drag Racing ผิดกฏหมายบนถนนในกรุงนิวยอร์ก

Vin Diesel 'The Fast and the Furious' 'Fast & Furious'

ก่อนที่เอเยอร์จะถูกเรียกตัวเข้ามาปรับบทเกี่ยวกับชุมชนการแข่งรถใต้ดินให้มีความสมจริงมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของตัวละคร รวมทั้งการเปลี่ยนโลเกชันการแข่งขับรถผิดกฏหมายจากชานเมืองนิวยอร์ก เป็นลอสแองเจลิสในแบบที่เขาคุ้นเคย แต่สุดท้ายไอเดียนี้ก็ไม่ถูกใช้จริงในหนัง

“แฟรนไชส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮอลลีวูด แต่ผมกลับไม่ได้มีส่วนอะไรในนั้นเลย โคตรเสียเวลามาก เป็นเพราะเรื่องธุรกิจโดยแท้ ตอนที่ผมเข้ามาแก้บท บทแม่-เซตขึ้นในนิวยอร์ก แต่ตัวละครแม่งเป็นคนอิตาเลียนหมดเลยเว้ย ผมก็แบบ ‘ผมคงไม่เอาด้วย ถ้าไม่ได้เปลี่ยนเซตให้เป็นลอสแองเจลิส และทำให้มีความเหมือนแอลเอแบบที่ผมรู้จัก'”

“ตอนนั้นผมก็เลยเขียนบทด้วยให้มีตัวละครคนผิวดำ เล่าเรื่องวัฒนธรรม เรื่องราวบนท้องถนน และตอนนั้น แม่-แทบไม่มีใครรู้เรื่องเกี่ยวกับการแข่งรถบนท้องถนนห่-นี่ด้วยซ้ำ”

“ตอนนั้นผมไปที่อู่ซ่อมรถที่ตั้งอยู่ในหุบเขา เพื่อเจอกับคนกลุ่มแรก ๆ ที่สามารถจูนหัวฉีดน้ำมันได้ พวกเขาเพิ่งทำได้เลย แล้วพวกเขาก็ทำให้ผมดู ผมก็แบบว่า ‘เชี่- แม่- เจ๋งสั– ๆ ผมจะเอาอันนี้แหละใส่ไปในหนังด้วย'”

ไม่ใช่แค่การปัดตกไอเดียที่เขาใส่ไว้ในภาคแรกเท่านั้น แต่เขาเองก็ยังไม่พลาดที่จะวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางของแฟรนไชส์ในภาคหลัง ๆ ที่ดูจะหลุดจากความตั้งใจที่เขาวางไว้ตั้งแต่แรกไปไกลโพ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาเอ่ยถึงก็คือ การที่แฟรนไชส์เดินมาถึงจุดนี้ เป็นเพราะมีใคร ‘บางคน’ ที่กำลังพยายามแย่งชิงการเล่าเรื่องของหนัง เพียงเพื่อให้ตนเองดูมีความโดดเด่นขึ้นในภาคต่อ ๆ มาเท่านั้นเอง

“การเล่าเรื่องของผมไม่ได้เชี่-ขนาดนั้นใช่ป่ะ ? คือมันเหมือนว่าตอนนี้ มีคนที่พยายามจะแย่งการเล่าเรื่อง การควบคุมเนื้อหา หาวิธีการเล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมให้ตัวเองดูโดดเด่นขึ้นมา อาจเป็นเพราะผมเองเป็นคนนอกมาตลอด และอาจเพราะว่าผมแม่-ไม่ไปงานปาร์ตี้ ผมไม่ชอบออกไปกินข้าว ไม่อะไรทั้งนั้น คนที่ทำแบบนั้นได้ ควบคุมจัดการการเล่าเรื่องได้ เพราะพวกเขาเข้าสังคมกัน ซึ่งนั่นแหละที่ผมว่าเป็นปัญหา”

Vin Diesel Paul Walker 'The Fast and the Furious' 'Fast & Furious'

เอเยอร์เคยเปิดเผยในปี 2021 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของหนังเรื่องนี้ว่า เขาเองมีความชื่นชอบวัฒนธรรมข้างถนน จึงพยายามที่จะสอดแทรกความหลากหลาย ทั้งคนผิวขาว คนผิวดำ ชาวลาติน ที่พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ ส่วน นีล เอช มอริตซ์ (Neal H. Moritz) โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ ก็ยืนยันว่า นี่คือทิศทางที่หนังอยากให้เป็น และเอเยอร์ก็สามารถถ่ายทอดเสียงของคนหนุ่มสาวที่มีความหลากหลายได้ออกมาอย่างน่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านี้ เอเยอร์เคยประสบปัญหาด้านการถูกสตูดิโอแทรกแซงการทำงาน และจำกัดเสรีภาพในความคิดสร้างสรรค์ ตอนที่เขากำกับ ‘Suicide Squad’ (2016) หนังแอนตี้ฮีโรของ DC จนทำให้ตัวหนังถูกวิจารณ์อย่างยับเยินทั้งจากแฟน ๆ และนักวิจารณ์หลังจากหนังเข้าฉาย

ด้วยความตึงเครียดที่เขาต้องประสบพบเจอ ทำให้เขาเล่าเสริมว่า เขาจำเป็นจะต้องจำกัดความสำคัญของเสรีภาพในความคิดสร้างสรรค์ในทุกโปรเจกต์ที่เขาจะทำต่อไป “ช่างแม่-คนกลางเหอะ ผมเข้าใจแล้วว่า ทุกอย่างมันขึ้นกับตัวผม ต่อจากนี้ผมคงต้องช่วยเหลือตัวเอง ผมเองยังคงต้องคร่ำครวญเรื่องการถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในอาชีพของผมไปอีกเรื่อย ๆ ผมคงทำได้แค่ต้องสร้างระบบนิเวศที่เซฟมากพอสำหรับความคิดสร้างสรรค์ และนั่นคือสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้”


ที่มา: Entertainment Weekly, Variety, IGN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส