ยอดคุณพ่อของคุณเป็นแบบไหน ทำไมพ่อหลายคนในการ์ตูนโชเน็นมักเป็นคนไม่ได้เรื่อง

การ์ตูนโชเน็น คือหนึ่งในสื่อบันเทิงที่อุดมไปด้วยฉากแอ็กชัน และเนื้อหาการก้าวพ้นผ่านวัยของตัวละครหลัก ทว่าภาพจำอย่างหนึ่งที่เรามักจะเห็นในการ์ตูนโชเน็นยุคหลังก็คือ การที่เหล่าตัวเอกมักเติบโตมาโดยไม่มีครอบครัว เนื่องจากตัวละครพ่อของกลุ่มตัวเอกมักจะเป็นคนไม่ได้ความทั้งสิ้น 

หนึ่งในพล็อตที่เราจะเห็นกันอยู่ซ้ำ ๆ กันก็คือ พ่อของตัวเอกนั้นหายไป (บ้างก็ไม่ได้รับการกล่าวถึง) ในตอนต้นเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ตัวละครหลายตัว ได้นำปมการไร้ครอบครัวมาเป็นจุดตั้งต้นของเรื่องราว โดยในยุคก่อน เรามักจะพบว่าพ่อบางตัวละครนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ได้ความ แต่ยังเป็นคนเลวอีกต่างหาก

ตัวอย่างจากสมัยก่อนคือแกมบิโนจาก ‘Berserk’ ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมของตัวเอกอย่างกัซ โดยเขาเจอกัซจากซากศพ นั่นทำให้แกมบิโนมักโทษว่ากัซเป็นลางร้าย และตำหนิกัซสำหรับความผิดพลาดในทุกอย่างของชีวิตเขา

แกมบิโน

สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้พ่อของตัวเอกในการ์ตูนต้องเป็นแบบนี้ นั่นคือการที่การ์ตูนโชเน็นจงใจให้ตัวละครพ่อนั้น เปรียบเสมือนปมหรือกำแพงที่ตัวเอกต้องก้าวข้าม ไม่เพียงแค่นั้นในยุคต่อมาการ์ตูนโชเน็นบางเรื่องเองก็ตัดบทพ่อไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย อาทิ ‘One Piece’ ที่ดราก้อนนั้นทิ้งลูฟี่ไปตั้งแต่เด็ก ซึ่งกว่าเราจะเห็นเขาก็ตอนที่ลูฟี่อยู่โล้คทาวน์แล้ว หรือ ‘Naruto’ ที่มินาโตะนั้นผนึกก้าวหางไว้ในนารุโตะก่อนที่เขาจะตาย โดยกว่านารุโตะ (และคนอ่าน) จะรู้ว่ามินาโตะเป็นพ่อของพระเอก ก็เล่นไปช่วงกลางเรื่องแล้ว

การตัดบทพ่อของตัวเอกไปนั้น มันทำให้พวกเขาต้องเติบโตด้วยการพึ่งพาตัวเอง และพวกพ้อง ที่สำคัญยังเป็นการทิ้งปมที่ทำให้เนื้อเรื่องดูน่าค้นหา แถมยังเป็นตัวเร่งการพัฒนาการชั้นดี เพราะเมื่อตัวเอกขาดพ่อไป ก็มักจะมีตัวละครผู้เป็นดั่งอาจารย์ออกมาช่วยฝึกวิชาให้พวกเขา รวมถึงในบางเรื่องก็มีการเฉลยว่าพ่อของตัวเอกเป็นใครในช่วงหลัง ซึ่งการเฉลยปริศนานี้นำมาซึ่งการติดบัฟพลัง รวมถึงเติมความมุ่งมั่นให้ตัวละครหลักสามารถไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

นอกเหนือจากปัจจัยที่ช่วยเสริมความสนุกในด้านการเล่าเรื่องแล้ว การที่พ่อของตัวเอกเป็นคนไม่ได้เรื่อง หรือเป็นพ่อที่ไม่ดีนั้น ยังสะท้อนถึงปัจจัยทางสังคมด้วยนะ เพราะในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีแนวคิดที่เรียกว่า ‘เอนเรียว –  遠慮 (enryo)’ ซึ่งเน้นถึงความสุภาพ ความเกรงอกเกรงใจ ไปจนถึงการวางระยะห่างทางอารมณ์ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมนี้มักปรากฏให้เห็นในการ์ตูนโชเน็น ซึ่งเล่าผ่านมุมมองของพ่อที่มักจะลังเลในการแสดงอารมณ์ ไม่ยอมพูดเปิดอกกับลูก ๆ 

ในยุคหลัง ตัวละครพ่อที่ไม่ได้เรื่องของกลุ่มตัวเอก ซึ่งสื่อมักจะนำมาพูดถึงก็คือ เอนเดเวอร์ จาก ‘My Hero Academia’ และ โทจิจาก ‘Jujutsu Kaisen’

เอนเดเวอร์

ในรายของเอนเดเวอร์ หรือโทโดโรกิ เอ็นจินั้น แม้จะดูมีภาพลักษณ์ที่ดีในระยะหลัง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขา เป็นหนึ่งในพ่อยอดแย่ในช่วงเริ่มต้นของ My Hero Academia อยู่ดี โดยเอ็นจิมีความปรารถนาที่จะก้าวข้ามฮีโร่อันดับ 1 อย่างออลไมต์ให้ได้ นั่นทำให้เขาผลักภาระเหล่านี้ไปให้กับลูก ๆ ของตน เขาเห็นภรรยาเป็นเพียงเครื่องปั๊มเด็ก ซึ่งความกดดันนี้เองทำให้ลูกชายคนโตต้องกลายเป็นศัตรู รวมถึงสร้างความร้าวฉานให้ครอบครัวจนต่อแทบไม่ติด

ในกรณีของฟูชิงุโระ โทจิ จาก Jujutsu Kaisen นั้น อันนี้ก็เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ไม่เอาไหน แต่เฮงซวยเลยก็ว่าได้ เพราะเดิมทีเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของตระกูลเซนอิง แต่การไม่มีพลังไสยเวทย์นั้น ทำให้เขากลายเป็นคนนอกคอกของตระกูล โดยโทจิเป็นเพียงคนติดพนันที่เกาะผู้หญิงไปเรื่อย ๆ พอมีลูกมา ก็ยังพยายามจะขายลูกให้กับตระกูลเซนอิง แถมก่อนตายยังมอบลูกให้โกะโจ ซาโตรุ ไปปู้ยี่ปู้ยำอีกด้วย โดยวีรกรรมเหล่านี้นี่แหละ ทำให้โทจิกลายเป็นหนึ่งในพ่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปีที่ผ่านมา

โทจิ

การที่การ์ตูนโชเน็นมีเนื้อหาที่เล่าถึงพ่อที่ไม่ได้เรื่อง มันก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้แต่งมักเอาประสบการณ์ที่เคยพบมาใช้สร้างสรรค์เรื่องราว โดยมีงานวิจัยที่สามารถยืนยันข้อสันนิษฐานเหล่านี้

ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮอกไกโด พบว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับพ่อของชาวญี่ปุ่น เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัทญี่ปุ่นเริ่มเข้มงวดกับการทำงานมากขึ้น นั่นทำให้พ่อมีความเครียด เพราะต้องทำงานหนัก และล่วงเวลา ซึ่งแก๊ปเหล่านี้แหละ ทำให้เกิดช่องว่างทางความรู้สึกระหว่างลูก ๆ กับคุณพ่อขึ้นมา

มังกี้ ดี ดราก้อน

พ่อที่อยู่ในกรอบวัฒนธรรมการทำงานหนัก จึงขาดอิสรภาพอันมีค่าในการเติมเต็มความสัมพันธ์ให้ครอบครัว จนพวกเขากลายเป็นเสมือนเงาของบ้าน นั่นทำให้เด็กญี่ปุ่นหลายคนเติบโตมาโดยไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อนัก 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าหลังจากที่ผู้ชายหลายคนเกษียณอายุไป ภรรยาของพวกเขามักจะฟ้องหย่า เพราะภรรยาไม่คุ้นเคยกับการมีสามีอยู่ใกล้กันตลอดเวลา นั่นทำให้เราจึงมักเห็นบทบาทของแม่ในการ์ตูนยุคหลังมีความขบถต่อสามีมากขึ้น เพราะเขาคือตัวกลางของครอบครัว และให้การสนับสนุนเหล่าตัวเอกอยู่ข้างหลัง

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สร้างการ์ตูนโชเน็นหลายคนจึงนำประสบการณ์ร่วม มาใช้ในผลงานของพวกเขา ซึ่งเราจะเห็นเลยว่าพ่อ ๆ นั้นสำคัญกับเนื้อหาขนาดไหน มันเป็นทั้งการเคลียร์ปมของเรื่องราว และใส่ชีวิตจริงของผู้แต่งลงในเนื้อหา แม้ในช่วงหลังเราจะพบว่ามีตัวละครที่ทำตัวสมกับเป็นพ่อเยอะมากขึ้น แต่เชื่อเถอะว่า ตัวละครที่เป็นพ่อที่ไม่ได้ความนั้น มักจะเป็นที่จดจำของผู้อ่านมากกว่าอยู่ดี

ที่มา: medium, cbr

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส