หลายคนคงได้ฟังเพลง “โดดดิด่ง” ที่ร้องโดยน้อง ๆ BNK48 ทั้ง 8 คน ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ไทบ้านxBNK48 จากใจผู้สาวคนนี้” ไปแล้ว และคงรู้สึกม่วนคัก ๆ ในเสียงดนตรี และการร้องการเต้นแบบเต็มที่ แถมออกสำเนียงอีสานได้ดีมิมีผิดเพี้ยน ทำให้เราเกิดความสนใจและอยากรู้ว่าจากไอดอลเมืองกรุง มาเป็นผู้สาวบ้านทุ่งนี่เค้าต้องฝึกกันยังไง และท่วงทำนองอีสานม่วนซื่นแบบนี้เค้ามีวิธีคิดกันแบบไหน วันนี้เรามีคำตอบจากปากคำของโปรดิวเซอร์เพลงนี้นั่นคือ “จินนี่ ภูไท” ซึ่งได้ทำคลิป “วิเคราะห์เพลงดัง ‘โดดดิด่ง’” ไว้ถึงสองตอนด้วยกัน เราเลยทำการเรียบเรียงและเพิ่มในส่วนของทฤษฎีดนตรีหรือรายละเอียดบางประการที่ต้องมีการขยายความเพื่อให้ผู้อ่านได้สาระประโยชน์กันอย่างเต็มที่ครับ

Play video


อะไรคือ “โดดดิด่ง”


Play video

เพลงนี้อาจารย์ยุ้ย มานะศักดิ์ เป็นคนเขียนเนื้อร้องซึ่งโดยปกตินั้นเขียนเพลงเร็วได้สนุกอยู่แล้ว ส่วนเพลงช้าก็เขียนได้ซาบซึ้ง (สามารถฟังได้ในเพลง “ย่านความเหงา”) “โดดดิด่ง” เป็นภาษาทำนองพิณสมัยก่อนถ้ามีการต่อเพลงกันหรือนักดนตรีสอนไลน์พิณให้ลูกหลานก็มักจะใช้ศัพท์คำว่า “โดดดิด่ง” “โดดดิด่งโดดดิโด้ดงด่ง โดดดิด่งโด้ดิด่งโด้ดง” เลยทำมาในลักษณะที่เอาพื้นเพตรงนี้มาเขียนเป็นฮุกให้ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ เป็นธีมหลักของเพลงจนกลายเป็นชื่อเพลงความ หมายของเพลงก็บอกอยู่แล้วว่า “อีสานม่วนซื่น” เป็นอะไร ที่ง่าย ๆ เสพง่าย ๆ สบาย ๆ และจับใจความได้ไม่ลึกเกินไป

 


“ริทึ่มใหม่กับไลน์เดิม”


หากจะบอกว่าเพลงนี้สร้างบนสเกล “เพนทาโทนิค (Pentatonic)” ก็คงจะไม่ถูกนักเพราะแท้จริงแล้วมันคือ เพนทาโทนิค + เมโลดิก (Melodic) เพราะหนึ่งในนั้นมีฟาชาร์ป (F#) เข้ามาด้วยมันก็เลยกลายเป็น “เพนทาเมโลดิก (Pentamelodic) ซึ่งสเกลนี้จะอยู่ในไลน์พิณของอีสานมายาวนานแล้ว ใครที่บอกว่าดนตรีอีสานเป็นเพนทาโทนิคเนี่ยไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากขั้นพิณมีฟาชาร์ป (F#) มี ฟาเนเชอรัล (F) หรือมีที (B) จนกลับกลายเป็นว่าคนเข้าใจความหมายของดนตรีอีสานผิดว่าเป็นเพนทาโทนิคหรือแม้กระทั่งดนตรีไทยซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ดนตรีไทยก็ยังมีฟาเลย


(อธิบายเพิ่มเติม)  

คอร์ดเพลง “โดดดิด่ง”

เพนทาโทนิคสเกลคือสเกล 5 เสียง จะมีโน้ต 5 ตัวเท่านั้นในหนึ่งออคเตฟ ซึ่งมีทั้งแบบเมเจอร์และไมเนอร์ มักเป็นสเกลที่นำมาใช้ในเพลงโฟล์ก เพลงพื้นบ้านตามถิ่นต่าง ๆ เพลงคันทรี่ เพลงบลูส์ หรือแม้แต่เพลงร็อกและเมทัลก็มีการนำมาใช้เป็นหนึ่งในสเกลยอดนิยมของนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงทั่วโลก หากเป็นเมเจอร์เพนทาโทนิกจะใช้โน้ตตัวที่ 1, 2, 3 , 5, 6 ของสเกลเมเจอร์ หากเป็นไมเนอร์จะใช้โน้ตตัวที่ 1, 3, 4, 5, 7 ของเนเชอรัลไมเนอร์สเกล เพลง “โดดดิด่ง” อยู่ในคีย์ G เมเจอร์เพราะฉะนั้น โน้ตเพนทาโทนิคที่ใช้กับเพลงนี้คือ G, A, B, D, E

ส่วนเมโลดิกสเกลในที่นี้เรียกเต็ม ๆ ว่า “เมโลดิก ไมเนอร์ สเกล” เป็นโหมดหนึ่งในไมเนอร์สเกล จะมีโครงสร้างขาขึ้นและขาลงไม่เหมือนกัน โดยขาขึ้นจะใช้โน้ตตัวที่ 1, 2, ♭3, 4, 5, 6, 7, 8 ส่วนขาลงจะเป็น 1, 2, ♭3, 4, 5, ♭6, ♭7, 8  เพราะฉะนั้นโน้ตของสเกลนี้ที่ใช้ในเพลง “โดดดิด่ง” ก็คือ  G – A – B♭- C – D – E – F#  (ขาขึ้น) G, A, B♭, C, D, E♭, F (ขาลง)

ตามที่ อ.จินนี่ ภูไท ได้อธิบายไว้จึงเข้าใจได้ว่า หากเป็นสเกลเมเจอร์เพนทาโทนิกเฉย ๆ จะไม่มีโน้ตฟาชาร์ป (F#) อยู่ในเพลงด้วย ดังนั้นโน้ตตัวนี้จึงมาจากสเกลเมโลดิกไมเนอร์ที่เอามาผสมผสานกันอันเป็นสเกลหลักที่ใช้ในดนตรีพื้นบ้านอีสานของไทยอยู่แล้วนั่นเอง


ต่อไปพอทำนองมันลื่นดนตรีมันก็ทำง่าย โจทย์คือทำดนตรีเพลงนี้อย่างไรที่ทำให้น้องน้อง BNK ที่ไม่ใช่คนอีสานร้องแล้วคนเชื่อว่านี่คือคนอีสานร้อง เลยใช้วิธีการนำเอากีตาร์พิณมาเป็นพระเอกในเพลงและเนื่องจากแต่เดิมเพลงของ BNK มีซาวด์อิเล็กทรอนิกเป็นส่วนประกอบมาก่อน เลยเอาซินธ์บวกกับริทึ่มที่มีความร่วมสมัยมาใช้ จนเป็นแนวคิด “ริทึ่มใหม่กับไลน์เดิม” ไลน์พิณเป็นพื้นเพมีฟาชาร์ปเข้ามาให้ได้ยินเรื่อย ๆ แต่เมื่อมาอยู่ในริธึ่มใหม่มันก็จะกลายเป็นของใหม่ เหมือนกับการเอาปลาร้าไปขายในห้างหรือต่างประเทศที่มีความหรูหรา มันก็จะเป็นสิ่งใหม่เป็นสิ่งแปลกตาในหมู่คนกลุ่มนั้น

โจทย์ต่อมาก็คือทำอย่างไรให้เพลงนี้น่าสนใจและจับต้องได้ เพราะฉะนั้นต้องมีไลน์แห่ ทำให้รถแห่เอาไปเล่นได้ง่าย ทำให้วงดนตรีทุกคนเล่นได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดเล่นกับ data เลย เล่นสด ๆ ได้สบายมาก

 


“หนังดังเพราะเพลง เพลงดังเพราะหนัง”


 ไทบ้าน x BNK48 ได้ลูกค้าทั้งสองกลุ่มทั้งดูหนังและฟังเพลง เมื่อทั้งสองกลุ่มมาเจอกันก็จะกลายเป็นสี่ก็จะกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมาไปอีก เพลงที่อยู่ในนั้นก็จะดัง ตัวหนังก็จะดัง “หนังดังเพราะเพลง เพลงดังเพราะหนัง”มันไปคู่กัน เพลงที่ใช้ในหนังกับเพลงมาสเตอร์ที่ปล่อยออกมาจะมีการแยกกันทำ ร้องคนละอย่าง ในหนังจะดิบกว่า จะเพี้ยน จะเป๋ ก็ปล่อยไปตามนั้นเลย ส่วนเวอร์ชันมาสเตอร์ก็จะเป็นมาสเตอร์จริง ๆ นอกจากนี้จะมีเพลงช้าชื่อว่า “จากใจผู้สาวคนนี้” (ร้องโดย น้องโมบายล์) เป็นเพลงสุดซึ้งใครดูหนังฟังเพลงแล้วน้ำตาไหลแน่ สองกลุ่มนี้มีตลาดที่ใหญ่อยู่แล้วเพราะมันใหญ่อยู่แล้ว คนก็จะเห็นมากขึ้น เยอะขึ้น จับต้องได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องเข้าหาเลย


ร้องอย่างไรให้ได้สำเนียงอีสาน


Play video

การที่น้อง ๆ ไม่ใช่คนอีสานแน่นอนสำเนียงการร้องการพูดมันก็จะไม่ได้อยู่แล้ว จึงใช้เวลาสอนน้อง ๆ ฝึกร้องฝึกพูดประมาณ 5 ครั้ง รวมวันที่จะมาอัดร้องและวันร้องจริง ครั้งละ 2 ชั่วโมง โดยจับน้อง ๆ ติวทีละคน ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง พูดยังไง ร้องยังไง ให้เป็นอีสาน ให้คนฟังเชื่อว่าน้อง ๆ ทำได้ร้องได้เหมือนคนอีสานเลย ก็จะมี “น้องน้ำหนึ่ง” (ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ของเพลงนี้) ที่พอจะพูดอีสานได้ สำเนียงได้ที่สุดแล้ว ก็จะช่วยเทรน ๆ กันเองบ้าง เพลงนี้ยากตรงการจัดส่วน จัดส่วนให้เสมอกัน ให้ร้องตรงกัน ยิ่งร้องหลายคนส่วนยิ่งยากขึ้น ถ้าร้องแฉลบออกมากันทั้งหมด 8 คนส่วนมันก็ยิ่งขยายเกินออกไปกันใหญ่ เลยใช้วิธีขอให้ร้องสั้นที่สุดแล้วเน้นที่จังหวะตก จังหวะยกให้ร้องผ่าน ๆ ไป อย่างเช่น ท่อนที่เป็นธีมของเพลงที่ร้องว่า “ชาดีดาดีดาดีดา ดีดาดีดาดีดาดีดา…” เล่นกับริทึ่มหลัก ๆ ของเพลง อะไรที่มันหนักอย่างจังหวะยก เราก็จะไปเน้นที่จังหวะยกด้วย มันจะไม่มีความเสมอกัน ไม่เท่ากัน ทำให้เพลงไม่แบนคือมีไดนามิคนั่นเอง สำคัญมากคือตอนสอนร้องและคุมร้อง น้อง ๆ จะชอบลืมส่วนที่เป็นริทึ่ม ส่วนที่เป็นแอกเซนต์ต่าง ๆ สั้น-ยาว หนัก-เบา พอได้เนื้อแน่นแล้ว ก็จะลืมไดนามิคไป พอเราได้สัดส่วนที่เท่ากัน เรื่องภาษานี่ยากมาก การที่จะบิดเมโลดี้ให้ได้สำเนียงเป็นเรื่องที่ยากกว่าอีก ถ้าเมโลดี้ตรงแล้วสำเนียงไม่ได้ต้องเปลี่ยนเมโลดี้ ถ้ายังไม่ได้อีกต้องเปลี่ยนคำร้อง ซึ่งจินนี่เลือกที่จะไม่เปลี่ยนคำร้องแต่จะบิดเมโลดี้ให้เข้ามาหาคำ เพื่อที่จะให้คำนั้นมีสำเนียงมากที่สุด เช่น อินโทรของเพลงที่ร้องว่า “เอิ้นอีหยังบ่ฮู้ แต่จังหว่ะถืกใจ” (เรียกอะไรไม่รู้ แต่จังหวะถูกใจ) มีการบิดคำว่า ”บ่ฮู้”  ให้ได้เมโลดี้ที่ตรงสำเนียงมากที่สุด (ฟังในคลิปช่วงนาทีที่ 3.50 จะเห็นตัวอย่างอย่างชัดเจนครับ) อีกจุดหนึ่งที่ฮามากคือการพยายามสอนน้อง ๆ ให้ร้องคำว่า “ความ” เป็นคำว่า “ควม” หรือแม้กระทั่งการออกเสียงคำว่า “หยัง” (สำเนียงอีสานคำนี้จะขึ้นจมูกนิด ๆ ) น้อง ๆ จะออกเสียงว่า “หยัง” (ตรง ๆ แบบไทยกลาง) หมดเลย (ฟังการออกเสียงในคลิปช่วงนาทีที่ 4.20 เป็นต้นไป) เลยฝึกจนน้อง ๆ ออกเสียง “หยัง” “อีหยังบ่ฮู้” ให้ได้จนออกมาเป็น “โดดดิด่ง” แบบที่เราได้ฟังกัน ถือว่าน้อง ๆ มีวินัย เรียนรู้ไว ตั้งใจและทำออกมาได้ดีมากเลยทีเดียว

และนี่ก็คือเคล็ดลับและเบื้องหลังการทำงานแบบมืออาชีพของโปรดิวเซอร์จินนี่ ภูไทและน้อง ๆ BNK 48 ที่ตอนนี้เราคงได้รู้กันแล้วว่าทำไมเพลงนี้ถึงได้ออกมาโดดเด้ง “โดดดิด่ง“ ม่วนคัก ๆ กันขนาดนี้ แล้วอย่าลืมนะครับฟังเพลงแล้วก็อย่าลืมไปม่วนกับหนัง “ไทบ้านxBNK48 จากใจผู้สาวคนนี้” ในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมนี้เป็นต้นไปครับ

 

Source

วิเคราะห์เพลงดัง EP. 3/1 โดดดิด่ง BNK48 – จินนี่ ภูไท

วิเคราะห์เพลงดัง EP. 3/2 โดดดิด่ง BNK48 – จินนี่ ภูไท

chordtabs

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส