แม้ว่าตอนนี้เทคโนโลยีความคมชัดของภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ จะสามารถไปถึงได้ในระดับความคมชัด 4K เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งด้านผู้ผลิตที่ตอนนี้ผลิตงานออกมาในระดับ 4K มากขึ้น ส่วนฝั่งคนดูอย่างเรา ๆ ก็สามารถเข้าถึงการชมด้วยคุณภาพระดับ 4K ได้อย่างไม่ยากเย็นเหมือนแต่ก่อน (ยกตัวอย่างง่าย ๆ YouTube เองตอนนี้ คลิปวีดิโอเองก็เริ่มปล่อยออกมาเป็น 4K มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่อาจไม่ได้คุ้นหูเรา ๆ ผู้บริโภคอย่าง HDR (High Dinamic Range) ณ ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะได้ใช้งานมากขึ้น เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่ราคาถูกลงมาก ๆ ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่ยังมีราคาแพง ส่วนครีเอเตอร์เองนั้นก็สามารถที่จะผลิตผลงานที่มีสีสันความลึกในระดับ HDR ได้ง่ายเพราะว่ามอนิเตอร์ที่ใช้พรีวิวผลงานนั้นก็มีราคาถูกลง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า สื่อบันเทิงทุกชนิดจะรองรับเทคโนโลยีที่ว่ามา

แอนิเมชัน คือสื่อบันเทิงเพียงไม่กี่อย่างที่ยังไปไม่ถึง 4K HDR

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสองปีก่อน จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง Netflix ประเทศญี่ปุ่น และ Production I.G สตูดิโอแอนิเมชันผู้อยู่เบื้องหลังผลงานชื่อดังในซีรีส์ Ghost in the Shell, Attack on Titan และ Psycho-Pass ยังอยู่เบื้องหลังงานแอนิเมชั่นในภาพยนตร์ Kill Bill เพื่อร่วมกันสร้างผลงานแอนิเมชันที่มีความคมชัดระดับ 4K และมีไดนามิคสีในระดับ HDR ที่จะนับได้ว่า เป็นเรื่องแรกของโลกก็ว่าได้!

และสองปีต่อมา ก็สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นผลงานอนิเมชันเชิงทดลองขนาดสั้นที่มีชื่อว่า “Sol Levante” (โซล เลวองเต้) หรือ “ตะวันแห่งบูรพา” ในชื่อไทย

Play video

แม้ว่าจะเป็นแอนิเมชันขนาดสั้นมาก มีความยาวไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำ แต่ด้วยความร่วมมือและกล้าที่จะเปลี่ยนการทำแอนิเมชันด้วยเทคโนโลยีตั้งเดิมอย่างการวาดดราฟท์ด้วยกระดาษแล้วนำไปสแกน เปลี่ยนสู่การวาดบนแท็บเล็ตที่ทำให้ได้ไฟล์ดิจิตอล 100 เปอร์เซนต์ และเหมาะสมสำหรับการผลิตผลงานในระดับ 4K แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานถึง 2 ปีในการสร้าง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่จะแสดงให้เห็นว่า Sol Levante คือแอนิเมชัน “เรื่องแรกของโลก” ที่สามารถก้าวมาสู่ระดับความคมชัดระดับ 4K และแสดงไดนามิกของภาพและสีได้ในระดับ HDR ได้ในที่สุด

และอีกเทคโนโลยีที่ทำให้ผมมองว่าแอนิเมชันเรื่องนี้เจ๋งมาก ๆ คือเรื่องของเสียง ที่เลือกใช้เทคโนโลยี Dolby Atmos โดย วิลล์ ไฟลส์ และนักออกแบบเสียง แมทท์ โยคัม ได้ต่อยอดจินตนาการของผู้กำกับไซโตะด้วยการมิกซ์เสียงในระบบ Dolby Atmos ร้อยเรียงเพลงประกอบจากฝีมือของเอมิลี่ ไรซ์ ที่ได้ทำการอัดด้วยไมโครโฟนสามมิติ ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่กระหึ่มและมีมิติสมจริงแบบสุด ๆ
ซึ่งวันนี้ ผมในฐานะตัวแทนของเพจ What The Fact ถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่ทาง Netflix ประเทศญี่ปุ่น และ Production I.G ได้เปิดโอกาสให้สื่อและ influencer จากทั่วทั้งเอเชีย ได้สอบถามเกี่ยวกับ Sol Levante ซึ่งเป็นแอนิเมชันเรื่องล่าสุดของ Netflix ที่ได้เปิดโอกาสให้สื่อได้ชมก่อนที่จะเปิดให้ชมโดยทั่วไป (ซึ่งก่อนที่จะมาสัมภาษณ์ ผมได้ชมแอนิเมชันเรื่องนี้ผ่านทีวีระบบ 4K HDR มาแล้ว คลิกอ่านรีวิวได้ที่นี่เลยครับ)

คุณฮารุกะ มิยากาวะ Creative Technologies & Infrastructure – Netflix ประเทศญี่ปุ่น

คุณอากิระ ไซโต ผู้กำกับ Sol Levante จากทาง Production I.G

โดยในครั้งนี้ คุณฮารุกะ มิยากาวะ ซึ่งเป็น Creative Technologies & Infrastructure จากทาง Netflix ประเทศญี่ปุ่น และคุณอากิระ ไซโต ผู้กำกับ Sol Levante จากทาง Production I.G ได้เปิดโอกาสให้สื่อทั่วเอเชียได้สอบถามถึงแอนิเมชันทีมีความคมชัดสูงที่สุดในโลก ณ เวลานี้ ได้มาให้ผมและพวกเราได้มาสัมภาษณ์ผ่านทาง Video Call (ผ่าน Google Hangout Meets) ด้วย ถือว่าเป็นสัมภาษณ์ที่ Exclusive สุด ๆ เพราะมีเพียงสื่อไม่กี่สื่อเท่านั้นที่มีโอกาสแบบนี้

ลองไปฟังเบื้องหลังกันว่า ทำไมพวกเขาจึงเชื่อว่า Sol Levante นั้นคือการ “เกิดใหม่” ของวงการแอนิเมชัน ที่จะทำให้แอนิเมชันที่ออกมาหลังจากนี้ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!

Presentation

– ฮารุกะ มิยากาวะ (Creative Technologies & Infrastructure – Netflix ประเทศญี่ปุ่น)

โพรเจ็กต์นี้เป็นโพรเจ็กต์ที่ทาง Netflix ร่วมกับ Production I.G. ซึ่งเป็นอนิเมชันสตูดิโอชั้นนำของญี่ปุ่น ที่เคยผลิตผลงานดัง ๆ เช่น Ghost in the shell มา แล้ว คุณฮารุกะกล่าวว่า ได้ทำงานในส่วนของการวิจัยและพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยี 4K HDR เพื่อค้นหาว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการนำเสนอผ่านงานศิลปะต่างๆ รวมถึงแอนิเมชัน ให้ตรงกับ Mission ของทาง Netflix ซึ่งมีอยู่สองประการด้วยกัน นั่นก็คือ หนึ่ง ทำในสิ่งที่ Creator อยากจะทำได้ให้เกิดขึ้นจริง และสองคือ ต้องการจะสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับ User หรือสมาชิกของ Netflix ทุก ๆ คน

ถ้าหากจะมองกันในเรื่องของเทคโนโลยี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 เราเริ่มมีเทคโนโลยี 4K ขึ้นมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขนาดจอให้ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เปรียบเสมือนกับผืนผ้าใบที่ใหญ่และละเอียดขึ้นกว่าเดิม ซึ่ง Artist ผู้สร้างสรรค์งานมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าอยากจะสร้างผลงานที่มีความละเอียดมากน้อยแตกต่างกันได้มากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี 2016 เทคโนโลยี HDR ก็เกิดขึ้น เพื่อทำให้ผลงานมีขอบเขตสี และความลึกของภาพที่มากขึ้น

และเมื่อเข้าสู่ปี 2017 เราก็ได้เทคโนโลยีด้านเสียง ก็คือระบบ Dolby Atmos มาเพิ่มอีก ซึ่งเทคโนโลยี Dolby Atmos นั้นคือการเพิ่มประสบการณ์ด้านเสียงทีผู้ชมจะได้รับเสียงจากทุกทิศทางได้มากยิ่งขึ้น ซี่งในตอนนี้ ทั้งสามเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ในระดับครัวเรือน เพราะว่ากลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกครัวเรือนสามารถจะหาซื้อได้มากขึ้น รวมถึงเรื่องของคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นรายการหรือความบันเทิงต่าง ๆ ก็ต่างรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้กันเกือบทั้งหมดแล้ว

Play video

แต่ในส่วนของความบันเทิงอย่างแอนิเมชัน กลับไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้เลย หลายคนต่างสงสัยกันว่าทำไมแอนิเมชันจึงไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้เลย เหตุผลก็เพราะว่า Artist ผู้สร้างสรรค์งานแอนิเมชันมักคุ้นเคยกับการสร้างและออกแบบผลงานด้วยการวาดบนกระดาษ พวกเขาเลยไม่รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนเทคโนโลยีดั้งเดิมที่เคยทำมาเนิ่นนาน ศิลปินมีความไม่พร้อมที่จะขยับขยายมาใช้เทคโนโลยีอย่างอื่น

ซึ่ง Netflix เองมีแอนิเมชันมากมาย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย แต่ว่าแอนิเมชันที่ใช้เทคโนโลยี 4K HDR ล่ะ จะเป็นไปได้ไหมที่ Netflix จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ เพราะว่า ณ ตอนนี้ที่บ้านของผู้บริโภคเองก็มีทีวีที่รองรับเทคโนโลยี 4K HDR อยู่แล้ว แต่ Netflix กลับไม่มีแอนิเมชันที่ใช้เทคโนโลยี 4K HDR เลย นั่นจึงเป็นคำถามที่เราได้เริ่มต้น

คำถามต่อไปก็คือ เราต้องการที่จะหา Creator ที่ยินดีและเต็มใจที่จะขยับขยายจากเทคโนโลยีการทำแอนิเมชันแบบเดิม ๆ เพื่อไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าด้วยความที่คนญี่ปุ่นเองก็มีความ Concervative อนุรักษ์นิยม เคยทำอะไรเก่า ๆ ที่ดีอยู่แล้วก็ไม่รู้สึกอยากจะเปลี่ยน รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องมีงบประมาณลงทุนพอสมควร ก็เลยมีความยากพอสมควร เราเลยต้องหาจุดสมดุลว่า ผู้บริโภคของเรามีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างพร้อมแล้ว แต่ว่าตัว Artist ล่ะ มีใครบ้างที่อยากจะผลิตคอนเทนต์ที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้น ดีขึ้น

โดยสามารถที่จะเลือกความละเอียดได้ว่าจะเลือกดูเนื้อหาที่ความละเอียดปกติ หรือถ้าใครมีจอที่มีความละเอียด 4K ก็สามารถที่จะเลือกดูได้ ซึ่งความแตกต่างของความละเอียดภาพแบบ 4K ก็คือ ดูมีความเป็นธรรมชาติกว่า ซึ่งเมื่อเราสามารถหาสมดุลได้แล้ว เราก็เลยเลือกที่ตรงกลาง คือเลือกที่ความละเอียดในระดับที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตสามารถที่จะรับชมได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิ์ภาพสูงสุดในการรับชม

ในการสร้างสรรค์งาน ศิลปินพยายามที่จะทดลองในการทำงานหลายรูปแบบมาก ๆ ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดีที่สุด และมีความสมดุลทั้งในเรื่องคุณภาพและการผลิตที่สามารถทำให้ทีมงานเล็ก ๆ สามารถที่จะผลิตผลงานออกมาได้ดีที่สุดในเวลาจำกัด ซึ่งเพียงแค่เติมจุดสีขาวเล็ก ๆ เพียงสองจุดก็สามารถเพิ่มความเงา (Glossy) บนริมฝีปากของตัวละครได้แล้ว ซึ่งกว่าจะสำเร็จ ทีมงานได้ทดลองหลาย ๆ แบบด้วยกัน เพื่อให้ออกมาดีที่สุด

(ซ้าย) ภาพทดสอบ (ขวา) ภาพที่สำเร็จแล้ว

เมื่อทำงานภายใต้ความละเอียดสูง เราค้นพบว่า จริง ๆ แล้วการทำงานภายใต้ความละเอียด 4K นั้นก็ไม่ได้ยากกว่าที่คิด หลาย ๆ สตูดิโอควรที่จะเริ่มเปิดใจและลองเปลี่ยนมาทำงานด้วยเทคโนโลยีนี้ จากที่เคยวาดโพรเจ็กต์ต่าง ๆ บนกระดาษ ก็ต้องเปลี่ยนมาวาดบนดิจิทัล 100% จากแต่เดิมที่วาดบนกระดาษก่อน แล้วนำมาสแกนเป็นไฟล์เพื่อขึ้นงานแอนิเมชัน ซึ่งจะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถสร้างผลงานที่มีความละเอียดได้เหมาะสมสำหรับความละเอียด 4K จึงต้องเปลี่ยนมาวาดแบบดิจิทัลบนแท็บเล็ตแทน เพื่อให้ไฟล์ที่ได้มีความละเอียด 4K ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการสแกน

การวาดภาพตัวละครลงบนแท็บเล็ต เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพดิจิตอล 100% สำหรับนำไปทำเป็นแอนิเมชันที่มีความคมชัดระดับ 4K

ส่วนของเทคโนโลยี HDR นั้นเป็นอะไรที่ง่ายกว่า เพราะเพียงแค่เรามีจอที่รองรับเทคโนโลยี HDR ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งในทุกวันนี้ จอที่มีคุณภาพระดับ HDR มีราคาที่ค่อนข้างรับได้ สตูดิโอสามารถที่จะซื้อเพื่อใช้งานได้ ทำให้สามารถผลิตแอนิเมชันด้วยมาตรฐาน HDR ได้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิมเรื่อย ๆ และ Netflix เองก็เป็นผู้บุกเบิกและเริ่มต้นให้สตูดิโอหรือศิลปินต่าง ๆ ได้ทำความฝันให้เป็นจริง เพราะที่ผ่านมาในการผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ พวกเขามักจะพบกับข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ศิลปินไม่สามารถที่จะระเบิดความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะมักจะถูกจำกัดว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจใช้ไม่ได้ หรือสีต่าง ๆ ที่ไม่ควรใช้ ทำให้ศิลปินต้องจำกัดตัวเองในการสร้างผลงาน ซึ่ง Netflix มองว่า ข้อจำกัดที่ถูกกำจัดออกไปนี้จะทำให้ศิลปินสามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์งานได้อย่างเต็มที่

ภาพจาก Storyboard

โดยทางสตูดิโอได้เปิด Open Source เพื่อให้ศิลปินหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงแอนิเมชันสามารถที่จะดาวน์โหลดไฟล์ Original Sequence รวมถึงผลงานตัวอย่างและเพลงไปเรียนรู้ได้แบบฟรี ๆ เพื่อเป็นการเปิดให้สตูดิโอและศิลปินสามารถที่จะเปลี่ยนผ่านและเปิดใจเพื่อสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันความละเอียดสูงได้

ทั้งหมดที่เราทำนี้ ก็เพื่อ Mission ของ Netflix สองประการ ที่เราต้องการจะทำให้เกิดขึ้น นั่นก็คือ การให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มีความสุข ได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ และสองคือ การมอบประสบการณ์ที่ดึที่สุดให้กับสมาชิกของเรา และเป้าหมายที่สุดของเราคือ เราต้องการที่จะมอบประสบการณ์ที่อิ่มเอมกับทุกคน ทั้งผู้สร้างและผู้รับชมอย่างเต็มร้อยเปอร์เซนต์ในอนาคตต่อไป

Q & A : ตอบคำถามเพิ่มเติมจากผู้เขียน และจากสื่อทั่วเอเชีย

– ฮารุกะ มิยากาวะ (Creative Technologies & Infrastructure – Netflix ประเทศญี่ปุ่น)
– อากิระ ไซโต (ผู้กำกับ Sol Levante – Production I.G)

(กลาง) อาจารย์อากิระ ไซโต (ผู้กำกับ Sol Levante และทีมงาน Production I.G

Q: ทำไมคุณถึงเริ่มทำโพรเจ็กต์นี้ จุดเริ่มต้นของโพรเจ็กท์นี้เริ่มได้อย่างไร

A: จริง ๆ แล้วตอนนี้เราเล็งเห็นว่า ในระดับผู้บริโภคนั้นเริ่มที่จะมีอุปกรณ์ในการรับชมกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ฉันไม่แน่ใจว่าประเทศอื่นเป็นอย่างไรนะคะ แต่ว่าที่ญี่ปุ่น ทีวีตามบ้านส่วนใหญ่ก็จะรองรับเทคโนโลยี 4K กันหมดแล้ว ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าเป็นโอกาสของศิลปิน เพราะถ้าคนดูมีเทคโนโลยีที่รองรับอยู่แล้ว ผู้สร้างทำไมจะไม่สร้างล่ะ ซึ่งอนิเมะเองนั้นยังไม่มีใครทำได้ ก็เลยจำเป็นจะต้องหาพาร์ทเนอร์ ซึ่งถ้าเป็นโพรดักชันสตูดิโอเล็ก ๆ ของคุณไซโตเอง ก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสนี้ เพราะด้วยข้อกำหนดสำหรับการออกอากาศทางทีวี ซึ่งเราก็รอโอกาสว่า จะมีใครที่พร้อมใจจะให้เราได้ทำงานในระดับ 4K อย่างเต็มที่ซักที ซึ่งการจับคู่ระหว่าง Production I.G. กับทาง Netflix ถือว่าเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบ ที่เปิดโอกาสให้ได้สร้างสรรค์อย่างเต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำ และมีเทคโนโลยีในการสตรีมมิงวีดิโอคุณภาพสูงได้ จึงถือว่าเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบระหว่างผู้สร้างและช่องทางในการแสดงผลงาน

(คุณไซโต) ณ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีเต็มไปหมด เราจะทำอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างสูงที่สุด ฉันเลยคิดว่าการที่ได้เจอกับคุณฮารุกะ ก็เลยคิดว่าจะสามารถทำให้ฝันเป็นจริงได้

Q: ทำไมคุณเลือกใช้เทคโนโลยี 4K HDR ทำไมไม่ใช้เทคโนโลยี 3D ไปเลย

A: จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะว่า ตอนนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 4K กันเป็นส่วนใหญ่ มีคนใช้กันเกือบจะทั้งหมดแล้ว ฉันก็เลยมองว่าตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะมากกว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเฉพาะประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่านะคะ แต่คิดว่าตอนนี้ประเทศอื่น ๆ ทีวีก็น่าจะเป็น 4K กันเกือบจะทั้งหมดแล้ว และความคมชัดระดับ 4K เองก็เป็นการเปิดประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุดในเวลานี้

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมไม่ทำเป็น 3D ก็เพราะว่ากว่าที่จะทำอนิเมะเป็นสามมิติได้ จุดที่ Animator กังวลคือเรื่องของใบหน้าของตัวละคร การที่จะทำให้ใบหน้าของตัวละครให้มีความลึกซึ้ง แสดงอารมณ์ การแสดงสีหน้า รายละเอียดต่าง ๆ เช่นลำคอ มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งฉันคิดว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น ทุกวันนี้เราใช้ Apple Pencil ในการวาดภาพแบบ 2D ในการนำมาทำอนิเมะที่เป็น 4K HDR จะสามารถทำได้ดีกว่า

Q: การร่วมงานกับ Netflix นั้นแตกต่างจากการร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์แบบดั้งเดิมบ้างไหม อย่างไรบ้าง

A: ที่ผ่านมาเราวิจัยในส่วนของเทคโนโลยี 4K และมองเห็นความเป็นไปได้มานานแล้ว แต่ว่าที่ญี่ปุ่น เวลาศิลปินทำงานก็จะฝันสูงมากไม่ได้ เพราะว่ามักจะโดนตัดกำลังตลอด เพราะทีวีมักจะมีข้อห้ามที่ไม่ให้เราทำนั่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ศิลปินก็เลยต้องยอม ๆ ไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่พอมี Netflix เข้ามา ทำให้ความคิดเปลี่ยนไปแบบ 360 องศาเลยค่ะ เพราะว่าศิลปินสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูงแค่ไหนก็ได้ นี่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ต้องขอบคุณโอกาสที่ทาง Netflix มอบให้

Q: ในการทำแอนิเมชันเรื่องนี้ คุณต้องใช้ Hardware อะไรบ้าง

A: เนื่องจากว่าตอนนี้เป็นการทำแอนิเมชันที่เป็นดิจิทัล 100% เปลี่ยนจากการวาดบนกระดาษเป็นดิจิตอลบนแท็บเล็ต ก็เปรียบเสมือนว่าเรามีกระดานวาดรูปที่ใหญ่ขึ้นในระดับ 4K ซึ่ง Workstation จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และใช้เงินลงทุนสูงกว่า ซึ่งแน่นอนว่าก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้น ส่วน HDR นั้นไม่ต้องกังวลอะไรนอกจากเรื่องของการมอนิเตอร์สี ซึ่งในอดีตจอที่รองรับ HDR นั้นมีราคาแพง แต่ตอนนี้ราคาถูกลงเรื่อย ๆ ทำให้สตูดิโอสามารถผลิตผลงานในระดับ HDR ได้มากขึ้น

Q: สำหรับคุณแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากการวาดแอนิเมชันด้วยมือมาตลอด มาสู่การวาดมือบนดิจิตอล มีอะไรที่ยากและต้องปรับตัวบ้าง และเมื่อปรับตัวแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรถึงความเปลี่ยนแปลงในผลงานที่ได้บ้าง

A: ทีมแอนิเมเตอร์ของเราต้องหาทางปรับตัวมาใช้อุปกรณ์การวาดแบบดิจิทัลอย่างแท็บเล็ต เพราะการเพิ่มความละเอียดของภาพในอนิเมะโดยไม่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลนั้น จะทำให้ทีมงานต้องวาดภาพบนกระดาษที่มีขนาดใหญ่กว่าไซส์มาตรฐานที่ B5 มาก หรือต้องสแกนที่ความละเอียดสูงมาก ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ปัจจัยทั้งในด้านทรัพยากรและต้นทุน อุปกรณ์ และความถนัดของนักวาด ล้วนมีส่วนที่ทำให้การปรับตัวนี้เป็นกระบวนการที่ท้าทายไม่น้อย

Q: ณ ตอนนี้ที่คุณได้เห็น Final ของงานชิ้นนี้แล้ว คุณมีความรู้สึกอยากกลับไปแก้ไชเพิ่มเติมงานที่ทำให้ดีขึ้นบ้างไหม

A: อยากเปลี่ยนตรงที่การทำขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม มันกินเวลาเยอะมากเลย ซึ่งทำให้หลาย ๆ ขั้นตอนทำไม่ทัน ก็เลยต้องปรับเปลี่ยนลดทอน ตัดบางอย่างทิ้งไป ทำเท่าที่ทำได้ก็พอ ซึ่งบางอย่างก็เกิดจากที่อุปกรณ์ไม่พอ หรือทีมงานไม่พอ เพราะว่าที่ Production I.G. มีทีมงานเพียงแค่ 6 คน และมี Core Member แค่ 3 คน อีก 3 คนเป็น Assistance ซึ่งฉัน (คุณไซโต) นอกจากจะต้องเป็นผู้กำกับแล้ว ก็ยังต้องทำ Background และ Effect ต่าง ๆ เองทั้งหมดด้วย ซึ่งทีมงานทุกคนทำงานกันหนักมากจริง ๆ ค่ะ ทีมที่ดูแลเรื่องสีก็ต้องดูแลด้านสีในทุกจุด ถ้าเรามีศิลปินที่เยอะกว่านี้ คิดว่างานก็จะออกมาได้ดีกว่านี้อีกค่ะ

Q: นอกจากงานด้านภาพแล้ว เสียงโดยเฉพาะการมิกซ์เสียงและเพลงประกอบก็เป็นอีกจุดที่ทีมงานให้ความสำคัญ อยากทราบว่ามีวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแอนิเมชันกับทีมงานด้าน Original Score อย่างไรบ้าง เพราะพอทราบมาว่าทีมมิกซ์เสียงเองเริ่มทำงานตอนที่งานด้านภาพยังไม่เสร็จสมบูรณ์เลยด้วยซ้ำ

A: ฉัน (คุณไซโตะ) เดินทางไปที่ลอสแองเจลิสด้วยตนเอง เพื่อดูแลการบันทึกเพลงประกอบจากฝีมือวงออร์เคสตร้าและมิกซ์เสียง โดยทั้งผู้ประพันธ์เพลงประกอบอย่าง เอมิลี่ ไรซ์ และฉัน ได้สื่อสารและประสานงานกัน เพื่อสร้างความเข้าใจว่าชิ้นงานที่ออกมาต้องการให้ผู้ชมได้รู้สึกและสัมผัสกับอะไรบ้าง

Play video

Q: เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการรับชม ผูู้ชมควรมีอุปกรณ์อะไรรองรับบ้าง

A: ควรเป็นทีวีหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่รองรับ 4K HDR ซึ่งทีวีที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็ขอแนะนำเป็น OLED ส่วนในเรื่องของเสียง เนื่องจากว่าอนิเมะเรื่องนี้ใช้ระบบเสียง Dolby Atmos ก็ขอแนะนำให้ใช้ Soundbar ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos ที่มีการวางลำโพงให้เสียงพุ่งขึ้นไปบนเพดานและเด้งลง ทำให้เสียงที่ได้มีความ Surround จากทุกทิศทาง ได้ประสบการณ์ที่ครบถ้วนดื่มด่ำมากกว่า

Sound Supervisor กำลังควบคุมการมิกซ์เสียงภายใต้ระบบ Dolby Atmos

Q: พอทราบมาว่าได้มีการปล่อยชิ้นงานต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในกระบวนการสร้าง Sol Levante ให้ Animator ผู้ที่สนใจได้ดาวน์โหลดไปทดลองใช้จริงด้วย จุดประสงค์หลักคืออะไร ที่ผ่านมาแอนิเมเตอร์ได้พูดถึงเทคโนโลยี 4K HDR ต่อวงการแอนิเมชันอย่างไรบ้าง

A: เราตื่นเต้นมากที่จะได้ฟังเสียงตอบรับจากวงการอนิเมะ เมื่อ Sol Levante ออกฉายไปแล้ว เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือชิ้นเยี่ยมที่จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับการเล่าเรื่อง และเราหวังว่าแอนิเมเตอร์จะมองว่านี่เป็นโปรเจ็คที่น่าตื่นเต้น และอยากจะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีนี้เหมือนกับเรา ที่ Netflix เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้นำในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับศิลปินก็ตาม ได้เข้าใจความท้าทายของการยกระดับผลงานไปสู่ความละเอียดแบบ 4K และ HDR เราหวังว่าโปรเจ็คของเราจะเป็นแรงบันดาลใจให้บุคลากรระดับแถวหน้าของวงการได้ศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น

ภาพทดสอบความหนาของเส้นในการวาด

Q: คุณคิดว่าผู้ชมจะคิดอย่างไรกับเนื้อเรื่องของ Sol Levante บ้าง

A: ฉันคิดว่าผู้ชมก็คงมีความชื่นชอบแตกต่างกันไป ฉันเองก็ไม่มั่นใจว่าผู้ชมจะชอบเรื่องราวนี้ไหม แต่ในเรื่องของประสบการณ์เทคโนโลยีด้านภาพและเสียง ฉันคิดว่าทุกคนต้องตื่นเต้นอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อตื่นเต้นแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการที่อยากจะให้อนิเมะที่ตนเองชื่นชอบได้กลายเป็น 4K HDR บ้าง อยากให้ทุกคนมาลองชมกันดูค่ะ

Q: ความละเอียดของแอนิเมชันเรื่องนี้ละเอียดกว่าปกติถึง 9 เท่าเลยนะ ทีมแอนิเมเตอร์ต้องทำงานแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่

A: จริง ๆ แล้วกระบวนการทำงานก็ค่อนข้างจะเหมือนเดิม จากในอดีตที่ศิลปินเวลาจะทำอนิเมะก็จะวาดแค่โครงมาอย่างเดียว แล้วก็ค่อยมาใส่สี ทำให้เสน่ห์บางอย่างจากมังงะต้นฉบับอาจจะหายไป เพราะว่าดราฟท์เฉพาะแค่โครงมาอย่างเดียว แต่พอเป็น 4K แล้ว ศิลปินสามารถที่จะเพิ่มรายละเอียดของตัวละคร ทั้งความละเอียดของเส้นที่มากกว่า ซึ่งจะทำให้ได้ผลงานสุดท้ายที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากกว่า

Q: คุณคิดว่า ประเทศญี่ปุ่นหรือชาติอื่น ๆ จะมีทีวีที่รองรับ 4K ได้พร้อมมากกว่ากัน

A: ปกติแล้วคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ค่อนข้างจะขี้ลังเลนะคะ (หัวเราะ) ฉันคิดว่าคนต่างชาติน่าจะปรับตัวได้เร็วกว่า อยากผลิตอนิเมะที่เป็น 4K มากกว่า ส่วนญี่ปุ่นเองน่าจะยังคงอยู่กับของเก่า ๆ น่าจะเปลี่ยนยาก (ยิ้ม)

Q: มีแผนที่จะนำเอาแอนิเมชันของ Production I.G อย่างเช่น Ghost in the Shell, Attack on Titan และ Psycho-Pass มา Reboot หรือ Remake หรือทำ Restoration ภายใต้เทคโนโลยี 4K HDR บ้างหรือไม่ และได้วางแผนที่จะทำแอนิเมชันที่ยาวกว่านี้อีกหรือไม่

A: ณ วันนี้ ยังไม่มีแผนค่ะ อย่างไรก็ตาม ในโปรเจ็คก่อนๆ ที่ขณะนี้ฉายอยู่บนเน็ตฟลิกซ์ เราเคยได้รีมาสเตอร์แอนิเมชั่นจาก SD สู่ HDR มาแล้ว เราหวังว่า 4K และ HDR จะกลายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สร้างเพื่อนำไปต่อยอดผลงานของพวกเขา และนำเสนอประสบการณ์การรับชมที่เยี่ยมยอดให้กับสมาชิกของเราต่อไป

Q: ในความคิดเห็นของคุณ คุณคิดว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการสร้างแอนิเมชันหรือภาพยนตร์อื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

A: ภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่นได้ถูกสร้างในรูปแบบของ 4K และ HDR มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับแอนิเมชั่น การนำอนิเมะก้าวสู่ 4K และ HDR มาพร้อมกับความท้าทายในตัวของมัน โดยอุตสาหกรรมเอง รวมถึงแอนิเมเตอร์ก็ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย การทำงานด้วยระบบสีแบบ HDR อาจจะเป็นที่นิยม เมื่อมีอุปกรณ์ที่ราคาจับต้องได้มารับรองนักวาดฟรีแลนซ์ที่ทำงานจากบ้าน กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน จนกว่า 4K และ HDR จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการ เราตื่นเต้นที่จะได้รอฟังว่าอุตสาหกรรมนี้จะตอบรับกับเรื่องนี้อย่างไร


Q: คำถามสุดท้าย ทำไมถึงตั้งชื่อแอนิเมชันเรื่องนี้ว่า “Sol Levante”

A: มันมาจากภาษาอิตาเลียนค่ะ ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้น จุดสิ้นสุดของพระอาทิตย์อยู่ที่ทิศตะวันตก แต่เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น จะขึ้นทางทิศตะวันออก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการ “เกิดใหม่” เป็นคอนเซ็ปต์ของการ Reborn ซึ่งถือว่าเป็นธีมของอนิเมะเรื่องนี้ เราคิดว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ก็จะต้องมีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และโอกาสของเราก็อยู่ที่การกำเนิดใหม่นี่แหละ เพื่อที่เราจะได้สร้างผลงานที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนต่อไป

 อ่านรีวิว “Sol Levante” คลิกที่นี่เลย!