[รีวิว] Nope – ไม่เล็ก ไม่ตื้น ไม่ง่าย ไม่มีไม่เฮี้ยน ไม่มีไม่เหวอ ไม่มีผิดหวัง
Our score
9.5

Release Date

18/08/2022

แนว

สยองขวัญ/ไซไฟ

ความยาว

2.10 ช.ม. (130 นาที)

เรตผู้ชม

R (18+)

ผู้กำกับ

จอร์แดน พีล (Jordan Peele)

SCORE

9.5/10

[รีวิว] Nope – ไม่เล็ก ไม่ตื้น ไม่ง่าย ไม่มีไม่เฮี้ยน ไม่มีไม่เหวอ ไม่มีผิดหวัง
Our score
9.5

NOPE | ไม่

NOPE | ไม่

จุดเด่น

  1. เป็นหนังอินดี้ที่เล่าแบบหนังแมส ก่อนตบท้ายด้วยจังหวะคัลต์เหวอมาก
  2. เป็นหนังที่เล่าเรื่องยูเอฟโอได้เขย่าขวัญ ฮาลึก ๆ มีเสน่ห์มาก
  3. IMAX ช่วยเพิ่มประสบการณ์ภาพและเสียง ความเวิ้งว้าง ความระทึกขวัญได้น่ากลัวจริง ๆ
  4. แอบแฝงประเด็นเข้ม ๆ เอาไว้ได้น่าสนใจ ครบตามแบบฉบับหนังจอร์แดน พีล
  5. งาน VFX เจ๋งมาก เหวอแตกสุด ๆ
  6. ตัวละครมีเสน่ห์ แม้จะมีรัศมีความใหญ่ของยูเอฟโอมาเบียด ๆ บ้างก็ตาม

จุดสังเกต

  1. ไม่
  • คุณภาพด้านการแสดง

    9.1

  • คุณภาพโปรดักชัน

    9.0

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    9.5

  • ความบันเทิง

    10.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    10.0


สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

ถ้าจะอธิบายรสชาติของภาพยนตร์ที่เขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับดีกรีรางวัลออสการ์อย่างคุณพี่ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ผู้เขียนเองก็อยากจำกัดหนังของเขาว่าเป็นหนังที่นอกจากจะเน้นความเฮี้ยนของพล็อต การแฝงสารประเด็นหนัก ๆ ลงไปกับตัวเนื้อเรื่องเฮี้ยน ๆ หนังของเขาก็มักจะ ‘ชื่อห้วน หนังเฮี้ยน’ อะไรแบบนี้ล่ะครับ เพราะที่ผ่านมาชื่อหนังพี่แกก็มีแต่ห้วน ๆ ทั้งนั้น ตั้งแต่ ‘Get Out’ (2017) และ ‘Us’ (2019) จนมาถึงผลงานล่าสุดของเขาเรื่องนี้ ที่มีชื่อสุดแสนจะห้วนและกวนเบื้องล่างว่า ‘NOPE’ หรือ ‘ไม่’ ที่นอกจากจะโคตรห้วนแล้วยังชวนให้งุนงงว่าตกลงพี่จะเล่าเรื่องอะไรยังไงกันแน่ล่ะเนี่ย

NOPE ไม่

ส่วนที่บอกว่าหนังของพี่แกมันเฮี้ยน คนที่เคยดูหนังของเขามาแล้วก็จะพอรู้ครับว่ามันเฮี้ยนขนาดไหน ทั้งในแง่ของการที่มักจะเป็นหนังระทึกขวัญ และความแปลกของพล็อตที่ชวนให้เหวอแตกเสมอ แต่ก็ยังแอบแฝงประเด็นเข้ม ๆ และแอบจิกกัดโน่นนั่นนี่อยู่เสมอ ทั้งการแอบจิกกัดชนชั้นใน ‘Us’ และการเมืองว่าด้วยเรื่องของสีผิวใน ‘Get Out’ ที่การันตีความยอดเยี่ยมของบทด้วยรางวัลออสการ์สาขาบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม และยังถูกยกให้เป็นบทภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ๋ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

NOPE ไม่

ใน ‘NOPE’ คราวนี้ จอร์แดน พีล เลือกที่จะทะเยอทะยานด้วยการอัปสเกลจากหนังเล็ก ๆ ที่เน้นงานด้านเรื่องราวและภาพที่เรียบง่าย มาสู่ภาพยนตร์ที่ฟอร์มใหญ่กว่าเดิม เพราะชื่อชั้นของพีลก็ถือว่าเริ่มจะมีชื่อในฐานะผู้กำกับยุคใหม่ฝีมือแน่นแล้วล่ะ ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส (Universal Pictures) เลยคงยอมให้เขาจัดหนักกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างถนัดถนี่กว่าเดิม แถมยังเล่นของใหญ่ด้วยการเอากล้องฟิล์ม IMAX มาใช้ถ่ายทำบางช็อตในหนัง รวมกันถึง 46 นาที (บวกกล้องฟิล์ม Panavision 65 มม.) และยังได้ แดเนียล คาลูยา (Daniel Kaluuya) นักแสดงฝีมือระดับรางวัลออสการ์ ที่เคยร่วมงานกับพีลมาแล้วใน ‘Get Out’ กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง

NOPE ไม่

แน่นอนว่าชื่อห้วนทั้งที เรื่องราวใน ‘NOPE’ ก็เฮี้ยนหนักไม่แพ้กัน เพราะว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากหลังจากมีวัตถุบางอย่างหล่นลงมาจากฟากฟ้า จนทำให้ โอทิส เฮย์วูด (Keith David) เจ้าของฟาร์มม้าเฮย์วูด ที่ฝึกม้าเพื่อเอาไว้ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ ตั้งอยู่ในหุบเขาเขตอากัว ดุลเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ทำให้พี่น้องทายาทอย่าง โอเจ เฮย์วูด (Daniel Kaluuya) พี่ชายแสนเฉยเมย และ เอเมอรัล เฮย์วูด (Keke Palmer) น้องสาวสุดร่าเริง ต้องกลับฟาร์มมารับช่วงกิจการแบบไม่ทันตั้งตัว

NOPE ไม่

วันหนึ่ง โอเจได้พบกับเรื่องราวแปลก ๆ อีกครั้ง เอเมอรัลและเขาจึงต้องการจะเก็บภาพวัตถุปริศนานี้เอาไว้ เพื่อจะได้เอาไปขาย เธอได้รับความช่วยเหลือจาก แองเจิล ทอเรส (Brandon Perea) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และ แอนท์เลอร์ ฮอยส์ (Michael Wincott) นักถ่ายทำสารคดีชื่อดัง นักเล่นกล้องฟิล์มตัวยง ในการไล่เก็บภาพบางสิ่งบางอย่างบนฟากฟ้า ในขณะที่ ริกกี ‘จูพ’ ปาร์ก (Steven Yeun) เจ้าของสวนสนุกคาวบอย จูปิเตอร์ส เคลม (Jupiter’s Claim) ก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ทั้งหมดต้องเผชิญอะไรบางอย่างที่ ‘ไม่’ สามารถมองเห็นได้ง่าย ๆ เรื่องราวเบื้องหลังที่คาด ‘ไม่’ ถึง และดูเหมือนว่าจะเป็นภัยคุกคามที่อันตรายจน ‘ไม่’ อาจจะจินตนาการถึงและ ‘ไม่’ อาจต้านทานได้

NOPE ไม่

นอกจากความมหึมาของสเกลของตัวหนังแล้ว สิ่งที่น่าจะเป็นจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ก็คือ ตัวหนังดูจะแมสมากขึ้นกว่า 2 เรื่องอย่างชัดเจนเลยครับ แต่มันก็แปลกตรงที่ ถ้าคุณเป็นแฟนคลับหนังของ จอร์แดน พีล ก็ย่อมจะคาดหวังพล็อตเรื่องเฮี้ยน ๆ จังหวะเขย่าขวัญชวนเหวอ และพล็อตที่คัลต์ในระดับหนึ่งใช่ไหมครับ แต่กลายเป็นว่า ถ้าเทียบกับทุกเรื่อง หนังเรื่องนี้กลับดูง่ายสุดเลยครับ เพราะด้วยหน้าหนังที่ขายความแปลกประหลาดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ได้ตั้งธงว่าจะเป็นหนังอินดี้ขนาดนั้น แม้คนดูจะคาดหวังแบรนด์ จอร์แดน พีล ผู้กำกับสายเฮี้ยนที่มีไอเดียเฉพาะตัวแบบจ๋า ๆ ไปแล้วก็ตาม

NOPE ไม่

เพราะแม้ว่าตัวหนังจะขายความเป็น IMAX ซึ่งปกติก็จะผูกขาดอยู่กับหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ซะเป็นส่วนใหญ่ การมีหนังอินดี้พล็อตคัลต์สุดเบอร์ขนาดนี้ได้ถ่ายและฉายด้วยระบบ IMAX ก็เลยเป็นเรื่องที่แปลกและน่าสนใจมาก แต่อย่างที่บอกครับ แม้ว่ามันจะยังคงเป็นหนังอินดี้อยู่ แต่ก็ต้องบอกว่าค่อนไปทางดูง่ายกว่าทุก ๆ เรื่อง เพราะด้วยความที่ตัวเนื้อเรื่องถูกเล่าแบบ Old School มาก ๆ นั่นก็คือการเลือกที่จะไม่เปิดเผยสิ่งลี้ลับออกมาเลยในตอนแรก (Nope) ก่อนที่ตัวหนังจะค่อย ๆ หยอดความสงสัยใคร่รู้ บีบให้คนดูค่อย ๆ รู้สึกถึงภัยคุกคามสุดน่ากลัวที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา แม้จะมีฉากโหด ๆ อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ก็เป็นการเน้นการสร้างอารมณ์ระทึกขวัญเป็นส่วนใหญ่ จนชวนให้นึกถึงฉลามใน ‘Jaws’ (1975) ที่ไม่ได้โผล่ตัวมาให้เห็นในครึ่งแรกของหนังได้อยู่เหมือนกัน

NOPE ไม่

แต่ถึงกระนั้น แกนกลางของมันก็ยังคงเป็นหนังคัลต์เฮี้ยน ๆ นะครับ เพราะตัวหนังถูกเล่าด้วยจังหวะไม่รีบเร่ง และไม่เรียงไทม์ไลน์ ก็เลยทำให้พีลยังมีจังหวะมันมือ ใส่ประเด็นหนัก ๆ ตามรายทาง ทั้งการเสียดสีวัฒนธรรมของอเมริกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องของคนดำ ผู้อพยพ จิกกัดวัฒนธรรมบันเทิงฮอลลีวูด และคนทำงานเบื้องหลัง ที่ในหนังกล้าเอาชื่อจริงมาแซะกันแบบโต้ง ๆ เลยไปจิกกัดวัฒนธรรมคอนเทนต์ของโลกยุคนี้ ผ่านพล็อตการพยายามจับภาพยูเอฟโอไปขาย เพราะว่าหิวคอนเทนต์ อยากได้ไวรัล อยากได้ยอดแชร์เยอะ ๆ แบบชนิดเจ็บลืมลืมตาย ทั้ง ๆ ที่ภัยล้างโลกมาเยือนหน้าบ้านแล้วแท้ ๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านมุกตลกร้ายหน้าตายที่จิกกัดและกวนเบื้องล่างให้ได้ขำแบบลึก ๆ เป็นระยะ ๆ

NOPE ไม่

ก่อนที่ตัวหนังจะเอาคืนด้วยการค่อย ๆ คลายปมทุกข้อสงสัยออกมา ตบท้ายขมวดจบด้วยการพลิกจากความเป็นหนังไซไฟ ความเป็นหนังใหญ่ ๆ แบบ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ไปสู่จังหวะคัลต์แบบเฮี้ยน ๆ สไตล์ จอร์แดน พีล องก์ที่ 2 – 3 จึงเป็นไฮไลต์สำคัญของเรื่องที่จะค่อย ๆ คายบทสรุปและที่มาร่วมกันของแต่ละเหตุการณ์ แต่ละตัวละครได้อย่างชวนเหวอแตก คัลต์ และมันมาก ๆ แบบสุดลิ่มทิ่มประตูไปเลย เป็นหนังที่ถ้าใครชอบก็จะชอบไปเลย ส่วนใครที่ไม่ชอบ ก็อาจจะเหวอจนเกลียดเข้าไส้แน่นอน

NOPE ไม่

อีกอย่างก็คือ ผู้เขียนเข้าใจแล้วครับว่าทำไมต้องถ่ายด้วย IMAX เพราะผู้กำกับภาพอย่าง ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte Van Hoytema) สามารถถ่ายทอดความกว้างใหญ่ของหุบเขา ท้องฟ้าสีคราม ให้กลายเป็นความเวิ้งว้างและไม่น่าไว้วางใจ แถมยังเอื้อให้สร้าง VFX ยูเอฟโอได้แบบใหญ่บึ้มมาก ๆ (น่าจะใหญ่ที่สุดในบรรดาหนังเอเลียนแล้วมั้ง (555) รวมทั้งการออกแบบเสียงที่เรียกว่าเฉียบขาดจริง ๆ สามารถสร้างบรรยากาศระทึกขวัญขนลุกเกรียวได้ดีมาก พอเอามารวมกัน ตัวหนังก็เลยฉายภาพของยูเอฟโอที่ทำให้รู้สึกได้ถึงความอีพิกชวนตื่นตา แต่ก็ยังสามารถถ่ายทอดความคัลต์ แปลกประหลาด และความกระอักกระอ่วนชวนอึดอัดในแบบฉบับของ จอร์แดน พีล ได้ในเวลาเดียวกัน

NOPE ไม่

โดยรวม ๆ ‘Nope’ คือหนังแนว Sci-Fi ผสม Horror ที่สร้างบรรยากาศความระทึกขวัญแบบไต่ระดับได้น่ากลัวมาก ๆ เป็นหนังที่เดินเรื่องแบบเน้นความอีพิกของภาพและเสียง ที่ไม่ใช่แค่เล่าให้ยูเอฟโอเป็นตัวร้าย แต่มันยังเป็นหนังคัลต์เฮี้ยน ๆ ที่สะท้อนมุมมองของผู้คนได้อย่างแปลกและเปี่ยมเสน่ห์ เล่าเรื่องได้สนุก มีมุกฮาแทรก ชวนให้สงสัยตลอด ไม่ได้ดูยากจนปวดหัว แต่ก็ไม่ได้เล่นท่าง่าย เพราะไม่รู้จะเดาบทสรุปยังไง และเป็นหนังที่ ‘ห้ามสปอยล์’ เด็ดขาด จะดูเอาเรื่องเอามันก็พอไหว จะดูเอาความเฮี้ยนก็ได้ไม่แพ้กัน ถือเป็นประสบการณ์นาน ๆ ทีที่ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้นครับ หนังแบบนี้ ฟังคลิปสปอยล์หนังในยูทูบเล่าให้ตายยังไงก็ไม่เข้าใจหรอก

NOPE ไม่

มันอาจไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะชอบ คอหนังแมสอาจไม่ชอบความเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ จังหวะตัดฉับดื้อ ๆ สลับไทม์ไลน์ ตลกหน้าตาย มุกขำลึก ๆ และความคัลต์เหวอแตกสุดเบอร์ของมัน คอหนัง จอร์แดน พีล อาจพึงใจกับหนังอินดี้เล็ก ๆ ที่มีบท จังหวะ และการแสดงที่คมมากกว่า แต่ถ้าอยากลองรสชาติแปลกใหม่ ๆ อยากสัมผัสกลิ่นหนังอินดี้ในระบบ IMAX สัมผัสความเหวอแตกแหกกระเจิง สัมผัสประสบการณ์ ‘อีหยังวะ’ ไปตลอดทั้งเรื่อง หนังเรื่องนี้ตอบโจทย์ครับ แนะนำว่า ไปเจิม IMAX สักรอบ แล้วไปซ้ำระบบปกติอีกสักรอบ รับรองจะต้องร้องว่า ไม่!…ไม่มีผิดหวังแน่นอนครับ


NOPE ไม่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส