[รีวิว] The Zone of Interest – วิมานเถ้ากระดูก งานเหวอแตกสไตล์ Jonathan Glazer
Our score
7.2

Release Date

07/03/2024

ความยาวหนัง

105 นาที

แนวหนัง

ดราม่า

ผู้กำกับ

โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer)

นักแสดง

ซานดรา ฮุลเลอร์ (Sandra Hüller) คริสเตียน ฟรีเดล (Christian Friedel)

[รีวิว] The Zone of Interest – วิมานเถ้ากระดูก งานเหวอแตกสไตล์ Jonathan Glazer
Our score
7.2

[รีวิว] The Zone of Interest – วิมานเถ้ากระดูก งานเหวอแตกสไตล์ Jonathan Glazer

จุดเด่น

  1. เป็นหนังต่อต้านการเล่าเรื่องที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอมาก
  2. นักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้ดี แม้เทคนิคการถ่ายทำจะทำให้การแสดงไม่โดดเด่น แต่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติและเราเชื่อว่ากำลังเฝ้ามองชีวิตประจำวันพวกเขาจริง ๆ
  3. เป็นหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงใช้ประโยชน์จากระบบโรงภาพยนตร์ได้คุ้มค่าที่สุดเรื่องหนึ่ง

จุดสังเกต

  1. เป็นหนังที่อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อยากดูหนังที่มีพลอตเรื่องชัดเจน เพราะถือเป็นหนังเฝ้ามองชีวิตที่ผู้ชมต้องปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง
  • บทภาพยนตร์

    7.5

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความบันเทิง

    7.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    7.0

ว่ากันตามหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วหนังอย่าง ‘The Zone of Interest’ อาจต้องถูกจัดหมวดหมู่ในเรื่องเล่าประเภทต่อต้านการเล่าเรื่อง (Anti-Narrative Mode) ซึ่งตามในนิยายจริง ๆ จะกล่าวถึงตัวละครสมมติชื่อ พอล ดอล นายทหารระดับสูงของนาซีที่มีหน้าที่ดูแลค่ายเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ที่แอบส่องภรรยาของเขากำลังเล่นชู้ และพอลวางแผนฆาตกรรมภรรยาและชู้รักโดยไม่ได้แยแสความสยดสยองที่เขากระทำต่อชาวยิว

แต่ในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) ผู้กำกับชาวอังกฤษที่มีผลงานเพียง 4 เรื่องในรอบ 23 ปี กลับตัดปมขัดแย้งที่กระตุ้นให้เกิดเรื่องราว (Dramatic Action) ด้านบนออก แล้วให้เราไปตามติดชีวิตแสนสุขีใกล้ค่ายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยเปลี่ยนชื่อตัวละครโดยใช้ชื่อบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อย่าง รูดอล์ฟ ฮอส (Rudolf Höss) ซึ่งนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่เคยคุยกับฮอสเคยบรรยายถึงเขาว่าเป็นคน ‘ที่ไม่แยแสต่อโลกเกินกว่าจะรู้สำนึกผิด’ (There is too much apathy to leave any suggestion of remorse)

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

โดยสิ่งที่เราจะได้เห็นในชีวิตประจำวันของฮอส (รับบทโดย คริสเตียน ฟรีเดล,Christian Friedel) อย่างงานบริหารค่ายเอาช์วิทซ์คือการนั่งฟังเซลล์แมนขายนวัตกรรมเตาเผาศพยิวที่มีคุณสมบัติในการเผาร่างได้ครั้งละ 500 ศพในตอนต้นเรื่อง จากนั้นเราจะพบว่าชีวิตการงานของฮอสเริ่มสั่นคลอนเพราะมีคำสั่งย้ายเขาออกจากเอาช์วิทซ์ซึ่งฮอสได้สร้างบ้านดั่งวิมานไว้ ทำให้เขาพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตในฝันของนาซีกับภรรยาอย่าง เฮดวิก (รับบทโดยซานดรา ฮุลเลอร์, Sandra Hüller) และลูก ๆ

ในขณะเดียวกันหนังก็ยังมีเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่ถูกแทรกเข้ามาทั้งกรณีแม่ยายของฮอสมาเยี่ยมครอบครัวแล้วเฮดวิกได้สาธยายความดีงามของชีวิตในวิมานติดค่ายกักกันนี้ หรือกระทั่งภาพจากกล้องอินฟราเรดที่กำลังจับภาพเด็กสาวคนหนึ่งที่แอบเอาอาหารไปซุกซ่อนไว้ให้เหล่านักโทษในค่าย ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดเวลาเพียง 105 นาทีของหนังคนดูจะไม่ได้เห็นภาพความโหดร้ายใด ๆ มีเพียงผลพวงที่มาจากค่ายเช่นเสียงร้องโหยหวนขณะเด็ก ๆ ในบ้านกำลังเล่นสนุกกันอยู่หรือเถ้ากระดูกที่ลอยมาตามน้ำขณะที่ฮอสพาลูก ๆ ไปตกปลา

ไม่เพียงเรื่องราวที่ไม่มีปมขัดแย้งคอยกระตุ้นอารมณ์เท่านั้นแต่งานกำกับภาพของหนังโดย ลูคาสซ์ ซาล (Łukasz Żal) ที่เคยได้ออสการ์ไปแล้วจากหนังขาว-ดำของโปแลนด์เรื่อง ‘Ida’ ซาลได้ร่วมกับเกลเซอร์ในการใช้วิธีซ่อนกล้องตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน ถึงขนาดโฟกัสพูลเลอร์ (Focus-puller) หรือคนคอยหมุนโฟกัสกล้องยังต้องซ่อนตัวอยู่ชั้นใต้ดินด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดเหมือนการทำหนังสายสัจนิยม (Realism) ที่กล้องมีหน้าที่สังเกตการณ์ (Observing) และไม่ตัดสินว่าสิ่งที่คนดูเห็นถูกหรือผิด แต่ในขณะเดียวกันมันยังเป็นเหมือน’นั่งร้าน’ ที่พาคนดูจินตนาการถึงความโหดร้ายภายนอกกำแพงซึ่งนำมาความสยดสยองและแสนอึดอัดให้เกิดกับคนดูตลอดเวลารับชม (แม้ภาพที่เห็นจะสวยงามดั่งภาพวาดก็ตาม)

Beartai Buzz รีวิว The Zone of Interest
Beartai Buzz รีวิว The Zone of Interest

และอีกปัจจัยที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่อง ‘เสียง’ ตั้งแต่ซาวด์ดนตรีประกอบสุดหลอนในวิช่วลแบบแอบสแตรก (Abstract) ที่ได้ มิกา เลวี (Mica Levi) ที่เคยร่วมงานกับเกลเซอร์มาแล้วใน ‘Under the skin’ หนังปี 2013 ที่ทำให้งานภาพที่เหมือนไม่สำคัญทั้งภาพดอกไม้หรือภาพจอดำมืด ภาพที่มีแต่สีแดง ดนตรีของเลวีนับว่ามีส่วนช่วยให้ภาพพวกนี้แสดงถึงภาวะความไม่ปกติบางอย่างที่หนังเลือกจะไม่ให้เราเห็นได้ดีมาก และอีกหนึ่งองค์ประกอบเรื่อง ‘เสียง’ ที่น่าสนใจได้แก่งาน ดีไซน์เสียงของ จอห์นนี เบิร์น (Johnnie Burn) ซาวด์ดีไซเนอร์ที่รับหน้าที่ในการออกแบบเสียงให้หนัง

โดยเสียงหนึ่งที่มีความโดดเด่นมาก ๆ ที่ผู้ชมจะได้ยินตลอดทั้งเรื่องได้แก่ เสียงหวูดต่ำ ๆ ซึ่งใช้แทนเสียงของเตาเผาศพคนยิว ซึ่งเดิมทีเสียงเตาเผาศพจริงจะมีความแหลมทำให้เบิร์นต้องนำเสียงมาปรับแต่งให้เป็นโทนต่ำอีกครั้งจนได้ซาวด์สุดหลอน นอกจากนี้ในฉากบทสนทนาธรรมดาการทำงานก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน เพราะใช้วิธีการซ่อนไมโครโฟนในบ้านร่วม 20 ตัวในการบันทึกเสียงบทสนทนา ทำให้ซาวด์บทสนทนาออกมาประหนึ่งว่าผู้ชมกำลังแอบฟังชีวิตชาวบ้านซึ่งเป็นงานหินไม่น้อยเพื่อให้คงคุณภาพของงานเสียงสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ได้อย่างไร้ที่ติเช่นนี้

สรุปแล้ว ‘The Zone of Interest’ หนังที่ได้เข้าชิงออสการ์ 5 สาขาได้แก่ หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทดัดแปลงยอดเยี่ยม ,บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และ หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม อาจจะไม่ใช่หนังที่ดูเพื่อความบันเทิงแบบเอะอะมะเทิ่งได้เหมือนหนังชิงออสการ์เรื่องอื่น และถือเป็นหนังในแดนอาร์ตเฮาส์ ซีเนมา (Arthouse Cinema) ด้วยซ้ำ แต่ขอยืนยันนะครับว่าหนังเรื่องนี้คือหนังที่ควรชมในโรงภาพยนตร์สักครั้ง เพราะการดีไซน์งานภาพ เสียงและการกำกับที่กึ่ง ๆ ละครเวที กึ่ง ๆ สารคดีแบบนี้ไม่ได้ปรากฎในหนังฉายโรงบ้านเราบ่อยครั้งนักนะครับ

หนังฉายวันที่ 7 มีนาคม 2567 ฉายต้อนรับงานประกาศผลรางวัลออสการ์ 1 สัปดาห์ครับ แต่ข่าวล่าสุดคือหนังจะเปิดรอบพิเศษระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ด้วย สามารถกดภาพด้านล่างเพื่อเช็กรอบฉายได้เลย

Beartai Buzz รีวิว The Zone of Interest
กดที่ภาพเพื่อเช็กรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์

***