กลายเป็นประเด็นสนทนาที่เสียงแตกในโลกโซเชียลโดยเฉพาะกรุ๊ปหรือแฟนเพจเกี่ยวกับหนัง สำหรับภาพยนตร์ไทยคุณภาพอย่าง ‘แอน’ หรือ ‘Faces of Anne’ ของผู้กำกับและมือเขียนบท คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่มีผลงานผสมผสานทั้งหนังรางวัลและหนังบันเทิงมาหลายปี แม้ตัวหนังจะฉายโรงและได้รับวิจารณ์ไปทางบวกมาก่อนหน้านี้ ทว่าพอเอามาลงเน็ตฟลิกซ์ให้ผู้ชมไทยสายสตรีมมิงได้รับชมทางบ้านก็เกิดเป็นกระแสว่าหนังเข้าใจยาก ดูไม่สนุก และอื่น ๆ ตามมา

ทั้งนี้ก็อาจกล่าวว่าไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใดเพราะวัฒนธรรมไทยเราจดจำหนังว่าเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง เราไม่มีวัฒนธรรมการดูหนัง (หรือมีในวงจำกัด) สำหรับโหมดอื่น ๆ เช่นเพื่อการเรียนรู้ (เช่นหนังสารคดี) เพื่อศิลปะ (เช่นหนังทดลอง) หรือเพื่อการยกระดับปัญญาหรือจิตใจที่เน้นความเป็นปรัชญาและไม่แสวงหาถ้อยคำตอบชัดเจนให้ผู้ชมดั่งเช่นหนังเรื่องนี้

ธรรมดาคอหนังไทยส่วนใหญ่เองก็เลี่ยงจะดูหนังแนวนี้ เช่นของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือของปราบดา หยุ่น อยู่แล้ว แต่ทำไมหนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นมาก หากจะให้เดาก็คงบอกว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้หนังค่อนข้างได้รับคำชมในตอนฉายโรง ตัวผู้กำกับอย่างคงเดชเองก็เคยมีผลงานฝั่งบันเทิงด้วยไม่ได้อาร์ตเอาทุกเรื่อง ประกอบกับมีดารานักแสดงหญิงดังรุ่นใหม่ทั่วไทยมาแสดงในเรื่องนี้ และตัวอย่างหนังที่ออกไปทางหนังลึกลับมีสัตว์ประหลาดไล่ฆ่ายิ่งทำให้คนดูคาดหวังว่าหนังจะทำงานกับตัวเองได้สนุก

FACES OF ANNE

จึงไม่แปลกที่มันจะไม่ตอบโจทย์คนดูหนังเน็ตฟลิกซ์ไทย ที่รู้สึกว่าถูกหน้าหนังหลอกจนกลายเป็นความเกลียดชังผ่านสื่อโซเชียลออกมา เพราะเลือกดูหนังผิดความต้องการของตนเอง

สำหรับคอหนังนอก โดยเฉพาะหนังยุโรปเช่นฝรั่งเศส อาจจะคุ้นชินกับกับการเสนอใน ‘Faces of Anne’ หรือคนที่ชอบดูหนังปรัชญา จิตวิทยา หรือหนังที่ซ้อนสัญญะเยอะ ๆ ตีความได้หลากหลายทั้งหมวกการเมือง หมวกสังคม หมวกศาสนา หรือหมวกอุดมการณ์ประเภทต่าง ๆ เช่นสตรีนิยมเองก็อาจจะไม่มีปัญหาในการรับชมหนัง หนำซ้ำการดูในเน็ตฟลิกซ์ยิ่งจะทำให้เก็บรายละเอียดได้มากและยิ่งสนุกกว่าการดูในโรงด้วยซ้ำ ซึ่งกลุ่มคนดูเหล่านี้คงไม่มีปัญหากับตัวหนัง วันนี้เราจึงขอเล่าหนังในแบบที่มันไม่ต้องยากมากนักเผื่อคอหนังบันเทิงที่เผลอไปดูแล้วบ่นว่าไม่เข้าใจเท่านั้นพอ

เงื่อนไขสำคัญในโลกของแอน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกฎสำคัญในโลกที่แอนอาศัยอยู่ก่อน โดยก่อนเข้าตัวหนังได้มีการยกคำพูดจากนิยายปี 1998 เรื่อง ‘L’Identité’ หรือ ‘Identity’ ของนักเขียนเชื้อชาติฝรั่งเซส-เช็ก อย่าง มิลาน กุนเดร่า (Milan Kundera) ขึ้นมา

Faces of Anne

นิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของชายหญิงคู่หนึ่งที่คบหากัน โดยสลับมุมมองการเล่าเรื่องผลัดกันไปในแต่ละบท ฝ่ายหญิงมีอดีตที่ขื่นขมเกี่ยวกับพ่อและการตายของลูกที่เกิดกับอดีตสามี ครั้งหนึ่งทั้งคู่นัดพบกันที่ชายหาดและต่างทักคนผิดว่าเป็นคนรักของตนเอง ฝ่ายหญิงทุกข์ใจจนเปรยออกมาว่าเธอหมดเสน่ห์และไม่มีใครมองแล้ว หลังจากนั้นเธอก็ได้รับจดหมายจากชายปริศนาที่เข้ามาจีบเธอ เธอเก็บซ่อนจดหมายเหล่านั้นและเริ่มมั่นใจในตัวเองแต่งตัวยั่วยวนมากขึ้น จริงแล้วจดหมายเหล่านั้นเขียนโดยฝ่ายชายคนรักของเธอเอง แรกเริ่มเขาเพียงอยากให้เธอมั่นใจแต่เมื่อเห็นการปกปิดและเปลี่ยนแปลงของเธอก็ทำให้เขาคิดว่าผู้หญิงตรงหน้าเป็นเหมือนคนอื่นที่เขาไม่รู้จัก แล้วความคิดต่อตัวตนของคนรักรวมถึงตัวเขาเองก็เริ่มเปลี่ยนไป

นิยายนี้มีปมบางอย่างที่คล้ายกับหนังและพลอตเองก็ยังถูกนำมาเป็นหัวใจในโลกของแอนด้วย กล่าวคือทุกการกระทำหรือสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบกับการรับรู้ตัวตนของแอนจะทำให้ใบหน้าของเธอเปลี่ยนไปเป็นคนอื่น เช่นเดียวกับจดหมายจีบที่มาทำให้ฝ่ายหญิงในนิยายรู้ว่าตัวเองเป็นคนมีเสน่ห์และเปลี่ยนตัวเองไปเป็นคนแต่งตัวยั่วยวนเช่นกัน

ดังนั้นการกระทำบางอย่างที่ทำให้แอนเปลี่ยนหน้าจะเป็นจุดสังเกตได้ว่า อะไรสำคัญกับเธอ และความทรงจำอะไรที่ทำให้เธอรับรู้ความเป็นแอนมากขึ้นจากคนที่กลวงเปล่าเหมือนคนความจำเสื่อมจำชื่อตัวเองยังไม่ได้ไปสู่แอนที่แท้จริง

ในฉากเริ่มของเรื่อง เด็กสาวตื่นขึ้นมาในห้องพยาบาลเธอถูกบอกว่าชื่อแอนเพราะทุกคนก็ชื่อแอนจากคนข้างห้องที่ไม่รู้จัก แต่เธอก็ยังไม่เปลี่ยนหน้าเพราะเธอยังไม่เชื่อ เธอฆ่าแมลงสาบที่โผล่มาจากหลังรูปกวาง และการฆ่าครั้งนี้ทำให้เธอเปลี่ยนใบหน้าไปเป็นครั้งแรก เธอกรีดร้องตกใจที่เห็นหน้าตัวเองจนพยาบาลต้องเข้ามาจับและฉีดยาให้หลับ ก่อนหลับไปเธอได้รับคำยืนยันชื่อของตนเองจากพยาบาล เธอก็เปลี่ยนหน้าไปอีกครั้งหลังฟื้นจากยาขึ้นมา ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า การฆ่าแมลงสาบ และการมีชื่อของตัวเอง ทำให้เธอเข้าใกล้แอนที่แท้จริงมากขึ้น

โลกของแอนคืออะไร (มีสปอยล์)

อย่างที่บอกว่าแอนต่างเปลี่ยนหน้าไปเมื่อเก็บรวมรวมความทรงจำหรือรับรู้ความเป็นแอนมากขึ้น ในท้ายสุดเราได้รู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงความคิดและการต่อสู้กันภายในหัวของคนไข้ที่อาการโคม่าเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ เราได้ทราบว่าแอนในโลกความจริงหรือแอนที่แท้จริงนั้นคือเด็กวัยรุ่นที่มีปมครอบครัวคือคุณพ่อหย่ากับคุณแม่ในตอนเด็ก และคุณพ่อ (อาจจะ) ตายด้วยการเดินลงทะเล เธออาศัยอยู่ในบ้านกับคุณแม่ที่เข้มงวดและไร้ความอบอุ่น เมื่อโตขึ้นเธอจึงกลายเป็นเด็กมีปัญหาที่เกลียดการเป็นตัวเองและแสวงหาการเป็นคนอื่น คิดว่าคนอื่นดีกว่าตัวเองเสมอ เช่นการสร้างแอกเคาต์หลุมหลากหลายในโซเชียลต่าง ๆ หรือแม้แต่การแอบอิจฉาเพื่อนของเธอที่ได้คบกับรุ่นพี่ที่เธอก็ชอบ

ถ้าฉันมี สิบหน้า อย่างทศกัณฑ์

เนื้อเพลงเป็นไปไม่ได้ ของวง The Impossible ซึ่งเป็นเพลงประจำตัวของเวติโกเวลาออกล่า น่าเศร้าที่การมีหลายตัวตนของแอนเองยังถูกตอกย้ำว่าเป็นไปไม่ได้
Faces of Anne

แล้วที่สุดเธอก็พบงานอดิเรกที่ให้เธอหนีการเป็นตัวเองนั่นคือสาวคอสเพลย์ แต่ในขณะเดียวกันนอกจากความนิยมมากมายที่เธอได้รับจนเป็นเน็ตไอดอล เธอก็ถูกโลกโซเชียลบางส่วนบูลลีรวมถึงพวกผู้ใหญ่เช่น ครูที่โรงเรียนตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่ดีด้วยเช่นกัน สุดท้ายเธอต้องพบจิตแพทย์ และหนักข้อเข้าก็ตัดสินใจกระโดดตึกโรงพยาบาลเพื่อจบชีวิต ทว่าเธอไม่ตายและได้รับการช่วยเหลือได้ทันแต่ก็กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา

เพราะโลกไม่เคยยอมให้พวกเราได้เป็นตัวเองเลยล่ะมั้ง

คุณหมอตอบแอน (มินนี่ ภัณฑิรา พิพิธยากร) ต่อคำถามว่าทำไมแอนที่แท้จริงต้องสร้างแอนอื่นขึ้นมามากมาย
Faces of Anne

ในหัวของแอนที่แท้จริงขณะโคม่า เธอยังคงแสวงหาการเป็นแอนที่ดีที่สุดอยู่ เธอสร้างร่างจิตเปลือยเปล่าไร้ความทรงจำเป็นเด็กสาวในชุดสีเหลืองมากมายที่นั่งอ่านบทหนังที่เป็นเหมือนชีวิตเธออยู่ในห้องเตรียมตัว แล้วคอยเลือกหนึ่งในนั้นออกไปรับบทแอนที่จะตื่นขึ้นในห้องพยาบาลพร้อมกับความทรงจำที่หายไป ทั้งนี้เพื่อออกค้นหาหรือเรียนรู้การเป็นแอนที่ดีที่ที่สุดด้วยการรวบรวมความทรงจำในอดีตแล้วเลือกเปลี่ยนการปฏิสัมพันธ์ต่อแต่ละเหตุการณ์เหล่านั้นให้ดีกว่าเดิม อย่างน้อยให้ต่างจากตัวตนดั้งเดิมที่เคยเลือกผิดจนสุดท้ายต้องฆ่าตัวตาย ด้วยความเชื่อลึก ๆ ว่าแอนที่รอดเป็นคนสุดท้ายย่อมจะเป็นแอนที่ดีที่สุดได้

เราทุกคนถูกสร้างจากคนที่แอนชอบ แอนเกลียด แอนอยากเป็น เราถูกขังในร่างของแอน เป็นของใช้แล้วทิ้ง

คุณหมอ หนึ่งในจิตที่แอนสร้างขึ้นโดยลอกแบบจากจิตแพทย์หญิง ศศิ มูลพลอย

ถ้าเราทำไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะไม่เหมือนเดิม

แอน (วี วิโอเลต วอเทียร์)
Faces of Anne แอน

ปีศาจร้ายหัวกวางที่ได้ฉายาว่า เวติโก คือแอนที่ถูกสร้างมาเช่นกันและอยู่รอดมานานที่สุด เวติโกเข้าใจดีแล้วว่าตัวเองเป็นเพียงอวาทาร์หนึ่งของแอนที่แท้จริง และต้องออกกำจัดแอนที่เกิดขึ้นมาคนอื่น ๆ ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเหลือคนสุดท้ายจะกลายเป็นแอนที่ดีที่สุดได้ ภาพกวางเวติโกกลับหัวที่เผยให้เห็นว่ามันคือภาพใบหน้าผู้หญิงมากมายก็สะท้อนในจุดเดียวกันว่าเวติโกคือผลจากการทำลายตัวตนอื่น ๆ มากมายของแอน

คนที่ไม่ถูกเลือกคือคนที่ไม่มีความหมาย แอนที่ไม่ถูกเลือกต้องตายทั้งหมด ต้องเป็นตัวจริงถึงจะรอดไปจากที่นี่ได้

แอน (เจนนิษฐ์ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ)
Faces of Anne

องค์ประกอบที่ผิดแปลกทั้งหลายในโลกของแอนล้วนประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนความทรงจำในอดีตของเธอ อย่างเช่น ฉากแทบทั้งเรื่องที่เป็นโรงพยาบาลเพราะจิตใต้สำนึกเธอรู้ว่ากำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ชุดสีเหลืองมาจากชุดผู้ป่วยจริง หน้าตาอาคารเมื่อมองจากดาดฟ้าจะเหมือนเรือสำราญเพราะแม่เธอเคยเอาโบรชัวร์ท่องเรือสำราญมาให้เธอดู ที่ซ่อนกุญแจของนางพยาบาลก็มาจากที่ซ่อนกุญแจบ้านของแม่ หน้าตาของแอนทั้งหลายก็มาจากคนที่เธอติดตามในไอจีอยู่ รูปวาดกวางในห้องและหัวกวางของเวติโกก็มาจากประสบการณ์ที่เธอเห็นพ่อขับรถชนกวางตายจนติดตาในตอนยังเด็ก หรือตัวตนแอนที่ใส่แว่นก็มาจากที่ตอนที่ยังไม่ประสีประสาโลก เห็นได้จากฉากที่มีแว่นวางไว้ในห้องนอนตอนเด็กของแอน

Faces of Anne

ตรงนี้จะคล้ายเรื่อง ‘The Usual Suspects’ (1995) ที่เราอาจได้มาดูรอบสอง เพื่อเก็บรายละเอียดว่าสิ่งนี้มาจากความทรงจำอะไรของแอน เป็นความสนุกหลังจากรู้เรื่องราวทั้งหมดสำหรับคนที่ชอบอะไรแบบนั้น

จุดที่น่าสนใจคือมีบางฉากที่สะท้อนถึงการแสดงหนังอยู่ เช่น ห้องท่องบทที่มีแอนมากมาย ดาดฟ้าที่มีกองถ่ายหนัง หรือเสียงคัทในยามที่เธอฝันถึงทะเลที่พ่อของเธอเดินจมหายไปและเธอกำลังร้องไห้ อาจเป็นการตอกย้ำว่าในจิตใต้สำนึกของแอนที่แท้จริงเธอก็รู้ว่าเธอกำลังจำลองฉากชีวิตอยู่ในหัว เธอกำลังแสดงแสร้งเป็นคนนั้นคนนี้อยู่ เพียงแต่ยังไม่ยอมรับ หรืออาจจะเป็นความฝันส่วนหนึ่งของเธอที่อยากเป็นคนดังเป็นที่สนใจก็เป็นได้

Faces of Anne

จริงแล้วการชมโดยรู้เป้าหมายเพียงเท่านี้ก็น่าจะเป็นการรับชมที่สนุกได้ โดยลุ้นว่าแอนตั้งต้นของเราจะเป็นผู้ชนะได้หรือไม่ในท้ายสุด จะเอาตัวรอดจากเวติโกได้หรือจะกลายเป็นเวติโกเสียเอง หรือจะลองรับชมเพื่อหาว่าสิ่งที่ปรากฏนี้เชื่อมโยงกับความทรงจำที่แท้จริงอะไรก็เข้าที แต่มันก็คงขาดเสน่ห์จากความลึกลับและปริศนาที่ให้เราค่อย ๆ รู้ข้อมูลและขบคิด มีประสบการณืร่วมไปกับการค้นหาแอนที่แท้จริงพร้อมตัวละครไปหน่อย

แอนที่ดีที่สุดคืออะไร

ตรงนี้ใครเคยดูหนังจิตวิทยาระทึกขวัญเรื่อง ‘Identity’ (2003) น่าจะนึกภาพตามได้ง่ายที่โลกจำลองในหัวของฆาตกรหลายบุคลิก แต่ละบุคลิกต่างออกฆ่ากันเองเพื่อให้เหลือบุคลิกที่แท้จริงหนึ่งเดียว ในทางกลับกันนั้นหนัง ‘Faces of Anne’ นอกจากความเชื่อว่าการฆ่าแอนอื่นให้เหลือแอนเดียวจะคล้ายกันแล้ว แต่ในอีกทางหนึ่งจิตสำนึกที่เป็นภาพของคุณหมอก็คอยย้ำเตือนเธอว่าไม่ใช่การลบคนอื่นเพื่อจะเป็นแอนที่แท้จริง แต่เป็นการรวบรวมทุกแอนและยอมรับให้ได้ว่าทั้งหมดนั้นคือเราคนเดียวกันต่างหาก

Faces of Anne แอน

แอนที่แท้จริงอยากเป็นคนอื่นจนสร้างตัวตนอื่นขึ้นมามากมายแล้วสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าแล้วตัวเองจริง ๆ เป็นอย่างไรกันแน่ คุณหมอไม่อยากให้เธอปฏิเสธตัวเองแต่อยากให้ยอมรับให้ได้ว่าไม่ใช่แอนคนใดคนหนึ่ง แต่แอนที่แท้จริงคือแอนที่เลือกเป็นคนที่หลากหลาย มีสไตล์ มีความชอบ มีวิธีคิดเปลี่ยนไปตามแต่ละสถานการณ์ เปลี่ยนไปในทุกช่วงวัย เปลี่ยนไปทุกการพบเจอกับคนที่สำคัญ และไม่ว่าจะเป็นแอนที่ดีหรือไม่ดี จะเป็นแอนที่ตัวเองชอบหรือเกลียดมันก็คือตัวแอนเอง คนเราเป็นสีผสมผสานกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่สีใดสีหนึ่งเท่านั้น

Faces of Anne แอน

และมีจุดที่น่าสนใจเหมือนกันว่าแอนทุกคนนั้นจะมีเลขประจำตัวในทะเบียนคนไข้เป็นเลขเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่เวลาที่เข้ารับการรักษาจะถูกระบุต่างวันที่กันไป เหมือนกับว่าแต่ละแอนก็แทนช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของแอนที่แท้จริงอยู่ และน่าสนใจว่าในรูปแบบการเกิดตายเปลี่ยนหน้าไปของแอนตั้งต้นที่เราดูตามมาตั้งแต่ต้นเรื่องนั้น เราแทบจะได้เป็นทุกรุปแบบของแอนที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้า เช่นกลายมาเป็นแอนที่อยู่ข้างห้องตัวเราในเช้าวันแรกที่ตื่น หรือแม้แต่แอนที่เห็นแก่ตัวไม่ช่วยเหลือใคร (ก้อย อรัชพร โภคินภากร)

Faces of Anne แอน

แต่จะมีแอนรูปแบบหนึ่งที่เราไม่ได้กลายไปเป็นคือ “แอนที่สวมแว่น” นั่นอาจเพราะนี่เป็นแอนเวอร์ชันที่อ่อนประสบการณ์ที่สุดมีตัวตนมาแรกเริ่มที่สุดก่อนจะเปลี่ยนบุคลิกไปเป็นคนที่เจนโลกมากขึ้น ซึ่งอาจหมายความว่าสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถเป็นได้อีกแล้วไม่ว่าจะเรียนรู้มากแค่ไหน นั่นคือตัวเราที่ยังอ่อนต่อโลกยังไม่ประสีประสานั่นเอง และที่น่าสนใจคือแอนแว่นจะเป็นเป้าหมายแรกสำหรับเวติโกเสมอด้วย หรือในมุมมองของแอนเองเธอตอนเด็กก็คือแอนที่อ่อนแอที่สุด

Faces of Anne แอน

ความน่าเศร้าของแอนที่ดีที่สุดคือ เมื่อแอนที่กลายเป็นเวติโก (ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ซึ่งเชื่อว่าแอนคนสุดท้ายจึงจะเป็นแอนที่แท้จริง ได้มาเผชิญหน้ากับแอนที่ได้รู้ความเป็นแอนในอดีตมามากกว่าใคร (มินนี่ ภัณฑิรา พิพิธยากร) ซึ่งเป็นแอนที่อาจยอมรับตัวตนของแอนทุกแอนไว้ได้มากสุด เป็นการปะทะกันของ 2 แอนที่ดีที่สุดในคนละนิยาม

ปรากฏว่าแอน (มินนี่) กลับเลือกฆ่าตัวตายเสียเอง เพราะการเป็นแอนที่แท้จริงมันไม่เห็นมีอะไรดีเลย โลกข้างนอกสังคมข้างนอกไม่ได้มีความหวังพอให้วัยรุ่นแบบแอนจะเชื่อได้ว่าเธอจะมีความสุขในชีวิตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกันแอน (ออกแบบ) ก็คิดเหมือนกันว่าเธอที่ฆ่าคนอื่นมากมายไม่ควรเป็นแอนที่แท้จริง และลึก ๆ เธอก็ไม่ได้อยากเป็นแอนที่แท้จริงด้วย แค่อยากฆ่าให้หมดแล้วมอบให้คนอื่นเป็นแอนี่แท้จริงไปเพื่อจบลูปนี้ลงเสียที จนสุดท้ายแอน (ออกแบบ) ก็จูงมือกับคุณหมอฆ่าตัวตายเช่นกัน เพื่อให้แอนที่แท้จริงที่ไม่ยอมฟื้นขึ้นมาเลิกมีข้ออ้างในการเป็นคนอื่นเสียที โดยเชื่อว่าก็อาจเป็นอีกคำตอบหนึ่งคือเมื่อไม่เหลือแอนจำลองสักคนก็จะเหลือแค่แอนจริง ๆ

Faces of Anne แอน

ในคำตอบของหนังอาจกล่าวว่า แอนที่แท้จริงไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขด้วยเจ้าตัวเท่านั้นอย่างที่ใครชอบพูดว่าต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เพราะแอนนั้นฆ่าตัวเองในหัวมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วแต่ก็ยังไม่พบทางออก แม้แต่ให้แอนยอมรับตัวเองทั้งหมดได้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่การสร้างโลกภายนอกสังคมภายนอกที่มีค่านิยมที่ดี ยอมรับความแตกต่างและเห็นคุณค่าในกันและกัน ไม่ตีตราหรือด้อยค่าใครง่าย ๆ ต่างหาก ที่จะทำให้แอนที่แท้จริงอยู่รอดได้

ในฉากสุดท้ายเราเห็นแอนที่แท้จริงลืมตาขึ้น แต่ภายในแววตายังสะท้อนภาพเวติโกอยู่ หรืออาจจะกำลังบอกว่าลูปนี้ยังไม่จบสิ้น หรือไม่ก็หมายความว่าแอนที่แท้จริงก็ต้องยอมกลายเป็นตัวตนที่เลวร้ายที่สุดถึงจะอยู่รอดในโลกความจริงอันโหดร้ายต่อไปได้ น่าเศร้านะครับ

Faces of Anne

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส