Release Date
09/05/2024
แนว
โรแมนติก/ตลก
ความยาว
1.30 ช.ม. (90 นาที)
เรตผู้ชม
PG
ผู้กำกับ
มาร์ก วอเตอร์ส (Mark Waters)
Our score
5.3Mother of The Bride | แม่เจ้าสาว
จุดเด่น
- ถ่ายทำสถานที่ท่องเที่ยว และโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตออกมาได้น่าเที่ยว
- เคมีและเสน่ห์ของนักแสดงรุ่นใหญ๋ ที่แม้ว่าจะโรยราไปบ้างตามวัย แต่ก็ยังคงมีเสน่ห์อะไรบางอย่างให้จับจ้องได้อยู่
- หนังยาว 1 ขั่วโมงครึ่ง ดูแป๊บเดียวจบ
จุดสังเกต
- เป็นพล็อตรอมคอมแนวครอบครัวที่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นสูตรสำเร็จแบบที่ดูปุ๊บเดาตอนจบได้เลย
- มุกตลกส่วนใหญ๋ไม่ค่อยทำงาน และไม่แสบคมเท่ากับงานเก่า ๆ ของผู้กำกับ
- ไม่ได้มีพล็อตดราม่าหรือสถานการณ์ป่วน ๆ ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยสถานการณ์เปิ่น ๆ ที่ดูน่ารำคาญมากกว่าน่าลุ้น
-
คุณภาพด้านการแสดง
5.9
-
คุณภาพโปรดักชัน
6.9
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
4.6
-
ความบันเทิง
4.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
4.7
ดูเหมือนเทรนด์หนังรอมคอมที่เคยหายไปนานในช่วงยุคปี 2010s กว่า ๆ กำลังได้รับความนิยมอีกครั้ง แม้ว่าตอนแรกจะเป็นคลื่นลูกเล็ก ๆ มาแก้เลี่ยนหนังแฟรนไชส์ที่เริ่มเฝือ ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะคนจากงานรอมคอมยุคนั้นก็ต่างก็กลับมาในยุคนี้กันมากมายให้ได้หายคิดถึง
หนึ่งในนั้นก็คือ มาร์ก วอเตอร์ส (Mark Waters) ผู้กำกับสายหนังตลก และรอมคอมจากยุค 2000s เจ้าของผลงานกำกับหนังรอมคอมที่กลายมาเป็นตำนานของยุคนี้ไปแล้ว ทั้ง ‘Freaky Friday’ (2003), ‘Mean Girls’ (2004) และ ‘Mr. Popper’s Penguins’ (2011) หนังตลกท้ายยุครุ่งเรืองของเฮียจิม แคร์รีย์ (Jim Carrey) กลับมาอีกครั้งใน ‘Mother of The Bride’ หรือ ‘แม่เจ้าสาว’ ผลงานหนังรอมคอมแนวครอบครัวเรื่องใหม่ล่าสุดของ Netflix
‘Mother of The Bride’ เริ่มต้นเรื่องเมื่อคู่รักหนุ่มสาว เอ็มมา (มิรันดา คอสโกรฟ – Miranda Cosgrove) และอาร์เจ (ฌอน เทล – Sean Teale) กำลังวางแผนจะแต่งงานกัน เธอเดินทางกลับมาจากลอนดอนเพื่อมาบอกเรื่องนี้กับลานา (บรุก ชีลส์ – Brooke Shields) แม่ผู้ทำงานเป็นนักวิจัยในห้องแล็บของเธอ ว่าเธอเองกำลังจะเดินทางไปเข้าพิธีแต่งงานสายฟ้าแลบที่ประเทศไทยภายในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้
แต่ลานากลับต้องพบกับความอึ้งล็อตใหญ่ ทั้งน้าแจนนิส (เรเชล แฮร์ริส – Rachael Harris) รวมทั้งเพื่อนเก่าสมัยเรียนของเธอทั้ง เคลย์ (ไมเคิล แมคโดนัลด์ – Michael McDonald), สก็อตต์ (วิลสัน ครูซ – Wilson Cruz) แต่ที่อึ้งสุดก็คือ อาร์เจ แฟนหนุ่มของเอ็มมาก็คือลูกชายของวิล (เบนจามิน แบรตต์ – Benjamin Bratt) ผู้ชายที่เคยหักอก ทำลายหัวใจลานาเมื่อหลายสิบปีก่อน ลานาเลยต้องเผชิญกับหนามที่เคยยอกอกตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับลูคัส (Chad Michael Murray – แชด ไมเคิล เมอร์เรย์) หนุ่มใหญ่เสน่ห์แรงที่เข้ามาเป็นก้างขวางคอให้ความรักของรุ่นใหญ่ยิ่งวุ่นวายกว่าเดิม
แน่นอนว่าหนังรอมคอมแนวครอบครัวแบบนี้ ที่หมายถึงพล็อตเกี่ยวกับเรื่องของอุปสรรคในความรักของคนรุ่นลูกหลานที่มีสาเหตุต้นตอจากปัญหาของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไม่ใช่แนวทางที่สดใหม่อะไร มันเป็นหนึ่งในสับเซตของหนังแนวรอมคอมที่มีมาแต่ไหนแต่ไร หนังที่มีพล็อตใกล้เคียงกับหนังเรื่องนี้ที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘Father of the Bride’ ทั้งฉบับ 1991 ที่เล่าเรื่องของพ่อที่กลัวการเสียลูกสาวไปจากอ้อมอก และฉบับปี 2002 ที่เล่าเรื่องของการหย่าร้างของคนรุ่นพ่อแม่ ที่สวนทางกับชีวิตรักและการแต่งงานของคนรุ่นลูก หรือถ้าเอาแบบใกล้ ๆ ก็คือ ‘Ticket to Paradise’ (2022) รอมคอมที่จับรุ่นใหญ่ จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney) และจูเลีย โรเบิร์ตส์ (Julia Roberts) มารับบทเป็นอดีตผัวเมียที่หยุมหัวกัน เพราะลูกสาวของทั้งคู่กำลังจะแต่งงาน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องล้วนแต่มีที่มาจากความกลัวเข้าขั้นงี่เง่าของรุ่นพ่อแม่ ที่กลัวว่าลูกจะจากอ้อมอกไปเจอความสัมพันธ์ที่โหดร้ายเหมือนกับที่พวกเขาเคยเจอ แม้ว่าตอนท้ายจะไม่ได้มีอะไรเลยก็ตาม
และแน่นอนว่าพอมันเป็นพล็อตที่เคยมีมาแล้ว และโดยตัวมันเองก็เชยสะบั้นหั่นแหลกจนแทบจะหาแง่หามุมใหม่ ๆ มาเล่าแทบไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกของการดูหนังเรื่องนี้จึงให้อารมณ์ที่ไม่ต่างอะไรกับการดูหนังเรื่องก่อนหน้าที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเลยแม้แต่น้อย เพราะมันแทบไม่ได้ให้เหลี่ยมมุมอะไรที่น่าสนใจไปมากกว่าการจัดการความงี่เง่าเต่าถุยของคนรุ่นพ่อแม่ ที่ดันมาเจอกันและหยุมหัวกัน จนกระทั่งได้เจอ Conflict บางอย่างที่เป็นจุดที่ทำให้ทั้งคู่เข้าใจและเลิกหยุมหัว จนพลอยให้ตัวละครรุ่นลูกดูจืดจางลงไป เพราะสุดท้ายก็ไปหนักที่การแก้ไขความงี่เง่ากันเองของคนรุ่นใหญ่เสียมากกว่า
ส่วนสารัตถะที่ว่าด้วยชีวิตของอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งการทุ่มงบจัดงานแต่งงานใหญ่โต เช่าชุดพิสดารพันลึกราคาแพง จัดท่าถ่ายรูปเต้นรำเพื่อหวังผลด้านภาพต่าง ๆ นานา ที่หนังใส่เอาไว้ตามคาแรกเตอร์และหน้าที่การงานของนางเอก ก็นับว่าเป็นความวุ่นวายในหนังที่ดูจะเกะกะและนอกเหนือไปจากความสนใจของคนดูไปมากทีเดียว เป็น Conflict ความวุ่นวายที่เอาไว้ให้คนรุ่นแม่รู้สึกงุ่มง่ามและไม่เข้าใจว่าคนรุ่นลูกเขาทำอะไรกันซะมากกว่า และโดยรวม ๆ ของบทหนังไม่ได้ขับเคลื่อนไปด้วย Conflict ใหญ่ ๆ หรือดราม่าช็อตฟีลให้ได้ลุ้น แต่เป็นการขับเคลื่อนไปด้วยสถานการณ์เปิ่น ๆ ชวนรำคาญรายวัน กับมุกแนวเจ็บตัวเป็นส่วนใหญ่
และถ้าท่านผู้ชมหลงรักมุกตลกจิก ๆ แสบ ๆ สไตล์ ‘Freaky Friday’ หรือ ‘Mean Girls’ ที่ส่วนตัวผู้เขียนเองชอบมาก และมันก็กลายเป็นทั้งมีม ทั้งตำนานไปแล้ว ก็ต้องบอกว่าแอบผิดหวังกับหนังเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ดูเหมือนว่าวอเตอร์สจะไม่ได้เอา Vibe ความตลก หรือแม้แต่การลอกทางมุกทำนองนั้นติดไม้ติดมือกลับมาใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย มุกที่มีอยู่ในหนังล้วนแล้วแต่เป็นมุกรอมคอมเฉิ่ม ๆ เชย ๆ ที่จังหวะผิดไปหมด จะมีก็แค่มุกจิก ๆ ของน้าแจนนิสที่พอจะขโมยซีนได้บ้าง แต่มุกที่เหลือกลับไม่ทำงาน หรือทำได้แต่ก็น้อยมาก
อย่างน้อย ๆ สิ่งที่หวังได้แน่ ๆ ก็คืองานสร้าง ที่แม้ว่าจะไม่ได้โดดเด่นอะไร ท่ามกลางหนังแนว ๆ นี้ที่ก็มักจะมาจบเรื่องกันที่ทะเลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยถ้า ‘Ticket to Paradise’ สามารถถ่ายทอดภาพความสวยงามของเกาะบาหลีได้สวยงามขนาดไหน เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดความสวยงามของเกาะภูเก็ตได้ออกมาดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี เขาตะปู รวมทั้งโรงแรมอนันตรา ลายัน ภูเก็ต รีสอร์ท และโรงแรมอนันตรา ไม้ขาว ภูเก็ต วิลล่าส์ ซึ่งชื่อโรงแรมอันหลังนี้ก็มีชื่อไปปรากฏเป็นโลเคชันของซีรีส์ ‘White Lotus’ ซีซัน 3 ของ HBO ที่จะฉายในปีหน้าด้วยนะครับ
ในฝั่งของนักแสดง แม้ว่าตัวละครฝั่งลูกจะจืดไปหน่อย แต่มิรันดา คอสโกรฟ อดีตนักแสดงเด็ก เจ้าของมีมดังที่ยังคงความน่ารักขึ้นกล้องอยู่ และเพราะการเน้นเรื่องราวไปที่รุ่นใหญ่เป็นสำคัญ นักแสดงรุ่นใหญ่ อดีตนักแสดงวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ขนกันมาในหนังเรื่องนี้ก็เลยมีความน่าสนใจมากกว่า ทั้งตัวของบรุก ชีลส์ นางแบบและนักแสดงเจ้าเสน่ห์ของยุค 80s ที่แม้จะดูโรยราไปบ้าง และบทบาทที่เธอได้ออกแนวเป็นคนแก่เปิ่น ๆ เชย ๆ ไปหน่อยก็ตาม แต่เสน่ห์ของเธอก็ไม่ได้ลดลงเลย รวมทั้งอดีตนักแสดงหนุ่มหน้าใสทั้งแชด ไมเคิล เมอร์เรย์ จาก ‘Freaky Friday’ และ ‘A Cinderella Story’ (2004)
รวมทั้งเบนจามิน แบรตต์ จาก ‘Miss Congeniality’ (2000) ที่พอผ่านเวลามาเป็นนักแสดงหนุ่มใหญ่ ก็เรียกได้ว่ายังคงมีเสน่ห์ หล่อเท่กันไปคนละแบบ และพอต้องมาเป็นคู่แข่งแย่งชิงหญิงงามระดับบรุก ชีลส์ ก็ถือว่าเป็นอะไรที่เคมีสมน้ำสมเนื้อดี นอกจากนี้ก็ยังมีนักแสดงที่คนไทยน่าจะได้เฮด้วยนะครับ เพราะในหนังมีทั้งคุณวิลเลียม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของเครือโรงแรมทั้ง 2 แห่งมาโผล่แบบแวบ ๆ (แวบเดียวจริง ๆ นะครับ ต้องสังเกตดี ๆ) รวมทั้งคนคุ้นหน้าอย่างพี่ปู สหจักร บุญธนกิจ ที่มารับบทเป็นบาทหลวงในหนังด้วย
แน่นอนว่าตัวหนังนั้นแทบจะเป็นการหยิบสูตรสำเร็จรอมคอมมาใช้แบบแทบจะไม่มีอะไรบิดพลิ้วเลย รวมทั้งมุกตลกที่แทบไม่ค่อยทำงานอะไรเป็นแก่นสาร เรื่องราวที่ไม่ได้มีจุดดราม่าหักมุมเข้มข้น เป็นหนังรอมคอมแบบที่ดูแล้วก็รู้ตอนจบเลย เผลอ ๆ ซีนสุดท้ายที่จับเอานักแสดงมาเต้นเพลง “DONG” เพลงฮิปฮอปแดนซ์สุดฮิตของวงไทยอย่าง ‘Bear Knuckle’ กลับดูเซอร์ไพรส์กว่ามุกในหนังทั้งเรื่องรวมกันอีก ข้อดีอีกอย่างของหนังเรื่องนี้คือ มันยาวแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งครับ เหมาะกับการเซฟเอาไว้ดูเวลาอยากผ่อนคลายหรือตอนว่างจัด ๆ ดี แต่เอาจริง ๆ พอดูหนังจบแล้ว ผู้เขียนอยากตีตั๋วบินไปนอนดู ‘Mean Girls’ ซ้ำอีกรอบในโรงแรมที่ภูเก็ตอะไรแบบนี้มากกว่านะครับ