เคยมีเพลงที่คุณคิดว่าคุณร้องถูกต้องมาหลายปี และสุดท้ายก็ค้นหาเนื้อเพลงและพบว่าคุณเข้าใจผิดบ้างหรือเปล่า  การศึกษาใหม่โดย Wordfinder by YourDictionary ได้รวบรวมเพลงอันดับต้น ๆ ที่มีเนื้อเพลงที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเอาไว้ซึ่งมันอาจทำให้คุณรู้สึกฮาหรือว่าประหลาดใจได้

Wordfinder ได้ทำการสำรวจผู้ฟังชาวอเมริกันกว่า 1,000 คนเพื่อศึกษาดูว่าบทเพลงและแนวเพลงใดที่มีเนื้อเพลงที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด โดยผู้ทำการศึกษาจะเปิดคลิปเพลงต่าง ๆ ให้อาสาสมัครฟังและให้เนื้อเพลง 4 ชุดให้เลือกว่าตัวเลือกข้อไหนคือเนื้อร้องที่พวกเขาได้ยิน ซึ่งการฟังเนื้อเพลงที่ผิดเพี้ยนมักนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “mondegreen” (มอนเดอกรีน) ซึ่งหมายถึง “คำหรือวลีที่เกิดจากการฟังผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับในเพลงหรือบทกวี” โดยคำนี้ผู้ให้นิยามก็คือนักเขียนชื่อ ซิลเวีย ไรต์ (Sylvia Wright) ที่เขียนความเรียงไว้ในปี 1954 ซึ่งที่มานั้นเกิดจากการที่เธอฟังเพลงบัลลาดสกอต “The Bonny Earl of Moray” ในวัยเด็ก โดยฟังเพี้ยนไปจากวลีเดิมว่า ‘laid him on the green’ กลายเป็น ‘Lady Mondegreen’ นั่นเอง

ตัวอย่างหนึ่งที่พูดถึงกันมากของปรากฏการณ์ mondegreen ในเพลงคือการฟังเนื้อเพลงท่อน “excuse me while I kiss this guy” จากเพลง “Purple Haze” ของ จิมิ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) ซึ่งจริง ๆ แล้วท่อนนี้ร้องว่า “excuse me while I kiss the sky”

สิ่งที่เราจะได้รู้จากการศึกษาของ Wordfinder นั้นมีทั้งการจัดอันดับว่าเพลงฮิตเพลงใดที่ผู้ฟังมักได้ยินเนื้อร้องไม่ชัดและเข้าใจกันไปผิด ๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวเพลงที่เข้าใจเนื้อร้องผิดกับเจเนอเรชันของคนฟัง นอกจากนี้เมื่อดูผลการศึกษาแล้วดูเหมือนแนวเพลงบางเพลงจะมีแนวโน้มที่ผู้ฟังจะได้ยินอะไรผิด ๆ มากกว่าแนวเพลงอื่นเสียด้วย แถมผู้ฟังจำนวนมากยังบอกอีกว่าชอบเนื้อร้องเวอร์ชันที่ผิดมากกว่า  เราไปดูกันดีกว่าว่าผลการศึกษานั้นว่าอย่างไรบ้าง

อันดับเพลงที่มีความเข้าใจผิดมากที่สุด

อันดับแรกมาพิจารณากันก่อนว่าเพลงใดที่ได้ยินกันมั่วซั่วมากที่สุด ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งผลลัพธ์ออกเป็น 40 เพลงฮิตที่ฟังผิดมากที่สุดโดยแยกตามประเภทและตามจำนวนคนที่ได้ยินเนื้อเพลงผิด

แนวเพลงที่รวมอยู่ในผลการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ร็อก, เฮฟวีเมทัล, โฟล์ก, ป๊อป, ฮิปฮอป/แรป, EDM และ อาร์แอนด์บี ซึ่งเพลงที่ติด 5 อันดับแรกนั้นเป็นแนวเพลงเมทัล ฮิปฮอป และอาร์แอนด์บี โดยเพลงอันดับ 1 ที่คนอเมริกันเข้าใจผิดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70% นั่นคือเพลง “Enter Sandman” ของวงเมทัลรุ่นป๋า Metallica ซึ่งคนฟังมักฟังท่อน “Exit light / Enter night” ผิดเป็นคำว่า “Eggs and light / End all nights” ส่วนอันดับที่ 2 ถึง 5 ก็คือเพลง “The Motto” ของ Drake, “7 Rings” โดย อารีอานา กรานเด (Ariana Grande), “Work it” ของมิสซี เอลเลียต (Missy Elliot) และ “Fancy” ของ อิกกี อิซาเลีย (Iggy Azalea) ส่วนคอเพลงร็อกก็ไม่น้อยหน้าเพราะในลิสต์มีเพลงร็อกมากมายที่ติดอันดับท็อป 40 ได้แก่ “Sex on Fire” ของ Kings of Leon, “I Want to Hold Your Hand” ของ The Beatles, “Smells Like Teen Spirit” ของ Nirvana, “Bohemian Rhapsody” ของ Queen , “Suspicious Minds” ของ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) , “Livin’ on a Prayer” ของ Bon Jovi, “Message in a Bottle” ของ The Police และ “Beast of Burden” ของ The Rolling Stones

ยกตัวอย่างในเพลง “Smells Like Teen Spirit” ท่อนที่มักฟังกันผิดก็คือท่อนที่ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) ร้องว่า “With the lights out, it’s less dangerous / Here we are now, entertain us.” :ซึ่งผู้ฟังหลายคนคิดว่าท่อนนี้ร้องว่า “With the lights out, it’s Las Vegas / Hear me all now, entertainers.”

และแนวเพลงที่มีเปอร์เซ็นต์คนฟังเนื้อร้องผิดน้อยที่สุดก็คือแนวเพลงเมทัลและอาร์แอนด์บี ส่วน มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger) แห่งวง The Rolling Stones ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินที่ร้องเพลงฟังยากที่สุด และก็มีแรปเปอร์หนุ่ม ยัง ทัก (Young Thug) ติดอยู่ในลิสต์ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าอันดับการฟังผิดเหล่านี้จะสัมพันธ์กับแนวเพลงแต่อย่างใด เพราะว่าแนวเพลงเมทัลและอาร์แอนด์บีที่ติดอันดับท็อป ๆ นั้นกลับเป็นแนวเพลงที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะได้ยินผิดไปจากต้นฉบับ ส่วนแนวเพลงโฟล์กและ EDM ป๊อป ฮิปฮอป แรป และร็อกมีจำนวนผู้ฟังจำนวนมากมีความเข้าใจเนื้อเพลงที่ถูกต้อง แล้วปัจจัยอะไรล่ะที่ทำให้เกิดการฟังที่ผิดไป ?

อะไรทำให้คนฟังเข้าใจผิด

เรามาดูกันว่าผู้ฟังที่เข้าใจเนื้อเพลงผิดไปนั้นพวกเขาได้ยินคำว่าอะไรกัน ผิดไปมากมายแค่ไหน และมีข้อสังเกตอะไรที่น่าสนใจ

ลองดูในเพลง “The Motto” ของ Drake ที่ติดอันดับท็อป 5 ในเพลงนี้ท่อนที่ผู้ฟังเข้าใจผิดคือ “That’s the Motto” ที่แฟนเพลงมักจะได้ยินเป็นคำว่า “That’s the model” แทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกดีเพราะเนื้อร้องท่อนนี้มันเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในชื่อเพลงแท้ ๆ และหากลองดู “Like a G6” ของ Far East Movement อีกเพลง ที่ในท่อน “now I’m feelin’ so fly like a G6.” ผู้ฟังกลับได้ยินผิดไปเป็น “now I’m feelin’ so fly like a cheese stick.” ยิ่งตอกย้ำผลการศึกษาที่น่าสนใจเพราะทั้งสองเพลงที่ยกตัวอย่างมา ท่อนที่แฟน ๆ ฟังผิดกลับเป็นท่อนที่มีคำร้องปรากฏอยู่ในชื่อเพลงทั้งคู่เลย

ในขณะเดียวกันเนื้อเพลงที่ซับซ้อนชวนสับสนในเพลง “Work It” ของ มิสซี เอลเลียต ก็ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะทั้งเนื้อร้องเวอร์ชันที่ฟังผิดเป็น “I put my thing down flip it and reverse it, iss yurr fweminippi fwep yet.” (แค่อ่านยังงงว่าสามารถระบุได้อีกหรอว่าฟังออกว่าอะไร !) กับเวอร์ชันต้นฉบับ “I put my thing down flip it and reverse it, ti esrever dna ti pilf nwod gniht ym tup i,” ก็ชวนงงงวยได้ไม่แพ้กัน นั่นก็สามารถสรุปได้ว่าความสับสนของเนื้อร้อง (และการร้อง) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนฟังได้ยินผิดไปได้

อายุของคนฟังเกี่ยวอะไรกับการฟังผิดหรือไม่

ทั้งนี้อายุของผู้ฟังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์หรือความเข้าใจในบทเพลงนั้น ๆ เพราะตั้งแต่ Gen X ถึง Gen Z แต่ละเจเนอเรชันมีแนวโน้มที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเองในการฟังเนื้อเพลงฮิตที่ผิดเพี้ยน ตัวอย่างเช่น ผู้ฟังที่มีอายุมากกว่าอาจไม่คุ้นเคยการฟังเสียงร้องที่มีการปรับแต่งด้วย auto-tune ซอฟต์แวร์มิกซ์เสียงร้องยอดนิยมที่ถือกำเนิดในปี 1996 ซึ่งได้รับความนิยมในดนตรีฮิปฮอปและป๊อปสมัยใหม่ อย่างเช่นในเพลง “Like a G6” ของ Far East Movement จึงทำให้เพลงนี้ติดอันดับท็อป 5 เพลงที่คน Gen X ได้ยินผิดมากที่สุด ซึ่งเป็นคนรุ่นที่มีอายุมากที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ เช่นเดียวกับ Gen Z ที่มีการเข้าใจเนื้อเพลงผิดเพี้ยนอย่างมากในเพลง “Little Talks” ของ Of Monsters and Men (อันดับ 4) และ“Fancy” ของอิกกี อิซาเลีย(อันดับ 2)

แล้วเพลงที่แฟนเพลงทุกวัยเข้าใจผิดเหมือนกันหล่ะมีไหม แน่นอนว่ามี ! นั่นก็คือเพลง “Enter Sandman” ของ Metallica และ “Work It” ของ มิสซี เอลเลียต ที่ต่างก็ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของเพลงที่เข้าใจเนื้อร้องผิดไปทั้งในหมู่แฟนเพลง Gen X, Millennial และ Gen Z บางทีเสียงกรีดร้องและเสียงคำรามในเพลงเฮฟวีเมทัลอย่าง ใน “Enter Sandman” อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ฟังในการทำความเข้าใจเนื้อร้องของบทเพลง ส่วนในกรณีของ “Work It” ก็พบว่าเนื้อร้องและการร้องที่ชวนสับสนงงงวยก็นำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดได้โดยง่าย

ฟังผิดแล้วจะทำไม ?

ไม่ว่าการตีความของผู้ฟังจะผิดแค่ไหน หรือความหมายของเนื้อเพลงจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร  แต่จากการศึกษาพบว่าแฟน ๆ ที่เข้าใจความหมายของเพลงผิดไปกลับชอบเนื้อเพลงเวอร์ชันของตัวเองมากกว่าต้นฉบับซะอีก !

ในตอนแรกผู้ฟังอาจมีความรู้สึก ‘อ้าวว’ หรือ ‘อ๋อออ’ กันบ้างเมื่อรู้ว่าเนื้อเพลงที่ตัวเองร้องตามหรือที่ตัวเองเข้าใจนั้นมันผิดไป แต่เป็นเรื่องตลกดีที่ผู้ฟังหลายคนบอกว่าจริง ๆ แล้วชอบเนื้อเพลงที่พวกเขาคิดว่าถูกต้องมากกว่าเนื้อเพลงจริงเสียอีก ผลการศึกษาพบว่าแฟน ๆ กว่า 76% เมื่อได้ยินเนื้อร้องของเพลงที่พวกเขาชอบมาเป็นเวลานานหรือรู้ว่าเนื้อร้องที่ถูกนั้นคืออะไร กลับเลือกที่จะไม่แก้ไขให้มันถูกต้อง โดย 75% ของแฟนเพลงเฮฟวีเมทัลชอบคำที่ตัวเองได้ยินมากกว่า และ 55 % ของผู้ฟังเพลงร็อกก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน นอกจากนี้แฟนเพลง EDM ยังเป็นแนวเพลงที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่แฟนเพลงจะชอบเนื้อเพลงเวอร์ชันของตัวเองมากกว่าโดยคิดเป็น 77 %

ใช่หรือไม่อยู่ที่ใจเราต้องการ

ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินหรือผู้ฟัง เรื่องของการเข้าใจเนื้อหาเพลงผิดไปคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นแบบนี้เสมอมา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีเว็บที่แฟน ๆ สามารถค้นหาเนื้อเพลงที่ถูกต้องได้ ในฐานะศิลปิน แรก ๆ คุณอาจรู้สึกเซ็งว่าทำไมคนฟังถึงเข้าใจสารของคุณผิดไป แต่เมื่อคุณเข้าใจในปรากฏการณ์นี้แล้ว คุณอาจจะอยากลองล้อเล่นไปกับมันหรือทำอะไรให้มันแปลกไปเลยอย่างที่มิสซี เอลเลียตในเพลง “Work It” ส่วนในด้านคนฟังหากคุณฟังเนื้อร้องผิดไปและชอบใจในการตีความของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปอะไร เพราะการตีความบทเพลง (หรืองานศิลปะอื่น ๆ ) ของผู้คนย่อมแตกต่างกันไป เราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับศิลปะต่าง ๆ ในรูปแบบเฉพาะของตนเองซึ่งผู้สร้างอาจตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ได้ตั้งใจก็ได้ หรือบางครั้งการฟังผิด ๆ ถูก ๆ ก็นำมาซึ่งโมเมนต์ฮา ๆ ที่ทำให้เราได้ขำในทุกครั้ง เช่น กรณี “Ken Lee” ที่เกิดจากการที่สาวชาวบัลแกเรียที่ไปประกวดร้องเพลงในรายการ ‘Music Idol’ ได้ฟังเนื้อร้องของเพลง “Without You” ของ มารายห์ แครีย์ (Mariah Carey) ผิดไป จนนำมาซึ่งการร้องผิด ๆ ถูก ๆ แถมยังตั้งชื่อเพลงให้ใหม่ว่า “Ken Lee” (ซึ่งฟังผิดมาจากคำว่า “I can’t live”) อีกด้วย  

หรือในกรณีผู้ฟังชาวไทยที่ชอบล้อท่อนที่ร้องว่า “shine bright like a diamond” ในเพลง “Diamond” ของ Rihanna ว่า “เชนไดร้ท์ไลก์กะไบกอน” ซึ่งฟังแล้วดูฮาเป็นการฟังผิดที่ดูเมกเซนส์มาก เพราะฟังออกได้แบบนี้จริง ๆ แถมทั้งเชนไดร้ท์กับไบกอนก็เป็นสเปรย์กำจัดแมลงทั้งคู่

อย่าว่าแต่เพลงต่างประเทศเลย คนไทยฟังเพลงไทยกันเองก็ยังฟังผิดได้ เช่น เพลง “หัวใจมักง่าย” ของ แช่ม แช่มรัมย์ ที่ร้องว่า “ใส่โอ่งหิน ฝังดินเอาไว้” แต่กลับฟังผิดเป็น “ใส่อมยิ้ม ฝังดินเอาไว้” (น่ารักขึ้นมาเฉยเลย) หรือเพลง “จังหวะหัวใจ” ของ บี้ สุกฤษฎิ์ ที่ร้องว่า “มาเล่นให้ใจฉันเป็นแบบนี้” แต่ฟังกันเป็น “มะเร็งในใจฉันเป็นแบบนี้” ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องฮาเรื่องสนุกกับการได้ฟังเนื้อเพลงผิดเพี้ยนไป ทำให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมสนุกไปกับการตีความและการสร้างความหมายใหม่ ๆ ให้กับเพลงอีกด้วย ชวนให้คิดไปถึงคำกล่าวของนักทฤษฎีวรรณกรรมเจ้าของทฤษฎีสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสที่กล่าวไว้ว่า “การเกิดของผู้อ่านต้องแลกมาซึ่งการตายของผู้แต่ง” (The birth of the reader must be at the cost of the death of the Author.) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าความหมายนั้นไม่ได้เป็นสิ่งตายตัว ไม่ว่าศิลปินจะตั้งใจสื่อความหมายอะไรเมื่อได้ทำเสร็จสิ้นและส่งมันออกไปแล้ว นับว่าความหมายของผู้สร้างได้จบลงไปแล้ว และส่งผ่านต่อไปที่ผู้ฟังที่จะทำความเข้าใจมันในแบบของตัวเอง.

ที่มา

wordfinder

loudwire

adaymagazine

sanook

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส