ในภาพรวมของฮอลลีวูดในปัจจุบัน ทัศนคติการเหมารวมภาพของชาวเอเชียที่ปรากฏอยู่ในสื่อบันเทิงต่าง ๆ จะลดน้อยถอยลงไปอย่างมากแล้ว แต่หากมองลงไปลึก ๆ กลับพบว่า แม้ในความเป็นจริง ภาพของชาวเอเชียในสื่อ กำลังมีแนวโน้มที่สื่อให้เห็นถึงการที่ชาวเอเชียที่ยังติดกับดักทัศนคติเหมารวม (Stereotype) ของความเป็นคนผิวขาว โดยละเลยความหลากหลายและลงลึกในคาแรกเตอร์ และในเชิงวัฒนธรรมของชาวเอเชียอันหลากหลาย (กว่าที่เห็นกันในสื่อต่าง ๆ ) ออกไปทุกที

รายงานการศึกษานี้มีชื่อว่า ‘A Balancing Act for Asian Representation in Streaming: Visibility Does not Always Mean Cultural specificity’ ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันของสถาบันวิจัย นอร์แมน เลียร์ (Norman Lear Center) ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) ที่มุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบต่อความบันเทิงที่มีต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และ โกลด์เฮาส์ (Gold House) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมผลประโยชน์ของชาว AAPI หรือชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander)

ในรายงานฉบับนี้เป็นการสำรวจพื้นที่ของตัวละครชาวเอเชียจากคอนเทนต์ 100 ไตเติลของแพลตฟอร์มสตรีมมิงในปี 2022 (โดยไม่นับรวมคอนเทนต์ที่ไม่มีสคริปต์) รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า มีตัวละครที่ถูกระบุว่าเป็นชาวเอเชีย 347 ตัวละครจาก 49 รายการ และในจำนวนนั้นมีเพียง 6% ที่ระบุว่ามีตัวละครชาวเอเชียที่ได้รับบทนำ ในขณะที่ 1 ใน 3 มีตัวละครชาวเอเชียเป็นตัวละครหลัก และ 2 ใน 3 จากทั้งหมดเป็นตัวละครสมทบ

ในบรรดาตัวละครเอเชียเหล่านั้น มี 82% ของตัวละครที่ไม่ยึดติดในเชื้อชาติ ซึ่งหมายความว่า เชื้อชาติของตัวละครนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อเรื่อง หรือมีการอ้างอิงแต่เพียงสั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่นตัวละคร อีธาน สปิลเลอร์ ที่แสดงโดย วิล ชาร์ป (Will Sharpe) ในซีรีส์ ‘The White Lotus’ ของ HBO

ในรายงานฉบับเดียวกันยังพบว่า 90% ของตัวละครชาวเอเชียบนแพลตฟอร์มสตรีมมิง มีผิวสีอ่อนหรือปานกลาง ในขณะที่ 68% ของตัวละครชาวเอเชียนั้นไม่เคยมีบทสนทนาพูดคุยกับตัวละครชาวเอเชียคนอื่น ๆ เลย แม้ว่าไตเติลเหล่านั้นจะมีคาแรกเตอร์ชาวเอเชียโดยเฉลี่ย 4 ตัวละครต่อไตเติลก็ตาม และยังพบว่า ผู้หญิงชาวเอเชียมากกว่าครึ่ง มักมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับผู้ชายที่มีผิวขาว มากกว่าคู่รักที่มีภูมิหลังทางเชื้อชาติอื่น ๆ

Netflix BEEF

ทิฟฟานี เชา (Gold House) รองประธานฝ่ายความบันเทิงและสื่อของ Gold House อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราสังเกตเห็นได้ว่า ตัวละครเหล่านี้จำนวนมาก มักจะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครที่เป็นผิวขาวเท่านั้น และพวกเขาก็มักจะมีบทสนับสนุนตัวละครที่มีผิวขาว หรือมีโครงเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน”

แม้ในรายงานยังระบุว่า คอนเทนต์ดังกล่าวที่สำรวจ ไม่พบตัวละครชาวเอเชียที่เกิดจากทัศนคติเหมารวม (Stereotype) ชาวเอเชียจากมุมมองของชาวตะวันตกแบบในอดีต อาทิ การให้ชาวเอเชียเป็นตัวแทนของ ‘ชาวต่างชาติ’ ในสายตาชาวตะวันตก, ตัวละครแบบดอกบัวบาน (The Lotus Blossom) หรือตัวละครหญิงงามบริสุทธิ์ที่มีความลึกลับ มีเสน่ห์และเป็นวัตถุแห่งความปรารถนา (ของชายชาวตะวันตก) หรือแม้แต่วีรบุรุษที่มีชะตากรรมอันน่าเศร้า ยกตัวอย่างเช่นตัวละครซามูไรที่มักจะต้องตายเยี่ยงวีรบุรุษเสมอ

แต่ในรายงานก็ยังมีการพบ Stereotype อีกแบบ ก็คือการเป็น ‘ชนกลุ่มน้อยที่เป็นต้นแบบ’ (Model Minority) หรือการให้ชาวเอเชียเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยในสังคมคนผิวขาว และมักมีภาพลักษณ์ที่คล้าย ๆ กัน เช่น มีความสามารถ หรือมีพรสวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะ STEM หรือทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือกฏหมาย ในขณะที่มีเพียง 11% ที่นำเสนอภาพของชาวเอเชียที่เป็นชนชั้นแรงงาน

ในรายงานยังระบุว่า ตัวละครชาวเอเชียเหล่านี้เป็นการดำรงอยู่ของตัวละครชาวเอเชียที่มีความใกล้เคียงกับคนผิวขาว (White-Adjacent) ที่อิงมาจากบรรทัดฐานที่ว่า ชาวเอเชียนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้แบบเดียวกับคนผิวขาวเป็น ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงภาพรวมของชาวเอเชียที่มักให้ความสำคัญกับผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม มากกว่าการยึดความถูกต้องตามวัฒนธรรม ตามชาติพันธ์ุของตนเอง) และความสามัคคีทางเชื้อชาติ

ในรายงานดังกล่าวได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ว่า ผลจากการศึกษาดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการผสมผสานทั้งความเฉพาะเจาะจงทางวัฒนธรรมในเชิงลึก และการนำเสนอมิติอันหลากหลายในการออกแบบตัวละครชาวเอเชีย และภาพลักษณ์ของความเป็นเอเชียแปซิฟิกที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องสำหรับศิลปินและนักสร้างสรรค์ โดยไม่มุ่งเน้นไปที่การเน้นความใกล้เคียงกับคนผิวขาว หรือการกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวเอเชียแบบเหมารวม และมีการเพิ่มบทบาทของชาวเอเชียทั้งหน้ากล้อง หลังกล้อง รวมไปถึงผู้สร้าง และผู้บริหารให้มากขึ้น