คนไทยอาจคุ้นเคยกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง GAC Aion ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2023 แต่สำหรับที่ประเทศจีน GAC Aion ถือเป็นแบรนด์อันดับ 2 ของจีนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า และหากนับรวมรถยนต์ทุกประเภทจะถือว่าเป็นอันดับ 3 ในจีนรองจาก Tesla และ BYD ทีมงานแบไต๋มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานสายการผลิตและศูนย์ R&D ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ต้นตอของแหล่งกำเนิดรถ EV ที่ผลิตแค่คันละ 53 วินาทีเท่านั้น

GAC เป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน มีการเปิดตัวแผนกใหม่ สำหรับการพัฒนา New Energy โดยเฉพาะในปี 2017 และเปิดตัวแบรนด์ GAC Aion ในปี 2018 ก่อนที่จะขยายมาเปิดตัวโรงงานในปี 2019 บนพื้นที่ 3,100 ไร่ โรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตกว่า 500 ตัว ทำให้สามารถผลิตรถ EV ได้ครบ 1 ล้านคันเพียงแค่ 4 ปี 8 เดือน (เร็วกว่า Tesla และ Toyota ที่ใช้เวลา 12 ปี) ทั้งยังใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอนในการผลิตอีกด้วย

ภายในโรงงาน GAC Aion เราได้พบกับรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นที่ผลิตขึ้นในโรงงานแห่งนี้ เช่น Toyota EA6 และ iA5 เป็นรถยนต์สันดาปที่อาศัยเทคโนโลยีของ Aion (ราคา 150,000 – 200,000 หยวน) รวมถึง Toyota E9 รถปลั๊กอินไฮบริด ที่ขับระบบไฟฟ้าได้ไกล 106 กม. (ราคา 330,000 – 390,000 หยวน) ส่วนของแบรนด์ GAC Aion เองก็มีทั้งรุ่น Y Plus ที่ขายในบ้านเรา และยังมี V Plus รถเอสยูวีไฟฟ้าขับขี่ไกล 600 กม. และ S Max ซีดานไฟฟ้าขับขี่ไกล 600 กม. (ราคา 150,000 – 200,000 หยวน)

อีกทั้งในโรงงาน GAC Aion ยังผลิตแบรนด์รถ EV ระดับพรีเมียมอย่าง Hyper ที่เคยมาโชว์ตัวและเปิดขายในไทยมาแล้ว ที่นี่ก็ได้เห็นครบทั้ง Hyper GT มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ขับขี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ 560 – 700 กม. (ราคา 220,000 – 340,000 หยวน) รวมถึง Hyper HT เอสยูวีเปิดข้างปีกนก มีให้เลือก 3 รุ่นย่อยเช่นกัน ขับขี่ไฟฟ้าไกล 600 – 770 กม. (ราคา 214,000 – 330,000 หยวน) และซูเปอร์คาร์ Hyper SSR ที่มีอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. ภายใน 1.9 วินาที (ราคา 1.28 – 1.38 ล้านหยวน) ในไทยเปิดจองแล้ว ราคาขายที่ไทยประมาณ 7 – 8 ล้านบาท

โรงงานของ GAC Aion มีทั้งหมด 2 แห่ง แห่งแรกเป็นโรงงานผลิตรถสันดาปของ GAC ล้วน ๆ มีกำลังผลิต 200,000 คันต่อปี และโรงงาน GAC Aion แห่งนี้สำหรับผลิตรถ EV ล้วน ๆ มีกำลังผลิต 200,000 คันต่อปี รวมทั้งหมด 2 โรงงานมีกำลังผลิตรวม 400,000 คันต่อปี มีเทคโนโลยีในการผลิตครบครัน ทั้งสายพานการผลิต ที่อาศัยหุ่นยนต์เข้ามาช่วยประกอบตัวรถทั้งหมด 500 ตัว หุ่นยนต์มีเวลาพักในแต่ละวันประมาณ 10 นาที มีให้พักหลายๆ ช่วง เพื่อประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด ทำให้สามารถผลิตรถ EV 1 คันได้ภายใน 53 วินาที (ยกเว้น Hyper SSR ที่เป็นงานแฮนด์เมดประกอบวันละ 1 คัน)

GAC Aion มีเทคนิคในการประกอบตัวรถที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ เช่น การใช้วัสดุอะลูมิเนียม (ด้านล่าง) ผสมกับเหล็ก (ด้านบน) เพื่อลดน้ำหนักตัวถังได้มากกว่า 25% รวมถึงเทคนิคในการเชื่อมอะลูมิเนียม ที่เรียกว่า SPR และ FDS ซึ่งช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้น 22% นอกจากนี้ยังมีพาร์ทประกอบแบตเตอรี่ รีไซเคิลแบต และเพนต์ตัวรถในที่เดียวกัน ทั้งหมดผลิตด้วยไฟจากโซลาร์เซลล์

แบตเตอรี่ของ GAC Aion เองก็มีหลายประเภท ทั้งแบตเตอรี่ NCM ชนิดใหม่ ที่ใช้วัสดุกราฟีนเป็นส่วนประกอบ รองรับการชาร์จ 10 นาที ขับขี่ไกล 400 กม. หรือที่โดดเด่นที่สุดคือแบตเตอรี่ Semicon Anode ขับขี่ได้ไกลเกิน 1,000 กม. รวมถึงแบตประเภท Solid State ที่จะเป็นทางออกของลิเธียมในปัจจุบัน ซึ่งทาง GAC Aion กำลังวิจัยและพัฒนาอยู่ จะสามารถผลิตได้ในปี 2026 นอกจากนี้ทาง GAC Aion ยังเคลมจุดแข็งของเคสแบตเตอรี่ที่ไม่เคยเกิดไฟไหม้ แม้การยิงปืนใส่ตัวแบตเตอรี่โดยตรงก็ตาม

ภายในโรงงานยังมีตู้ชาร์จ DC ที่มีกำลังไฟสูง 480 kW สูงกว่า Supercharger 250 kW เสียด้วยซ้ำ และ Home Charger สำหรับไฟ 7 kW รวมถึงที่ชาร์จไร้สายสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับอีกด้วย

เรายังได้ไปเยี่ยมชมที่ศูนย์ R&D ของ GAC Aion ที่ก่อตั้งในปี 2006 ด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านหยวน ปัจจุบันศูนย์ R&D แห่งนี้มีปัจจุบันกว่า 5,000 คน เราได้เข้าไปในห้องแลป ที่กำลังทดสอบระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 4 ที่ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องจับพวงมาลัย (แต่ต้องเอามือวางไว้ที่ขาให้เซนเซอร์เห็นอยู่) บนถนนจริงๆ ภายในห้องยังมี Simulation Lab ให้ลองทดสอบเสมือนอยู้ในรถจริง ๆ  

รวมถึงห้องที่รวบรวม Big Data แสดงข้อมูลตัวรถบนแผนที่จีน ทำให้เห็นว่าคนใช้รถ GAC Aion หนาแน่นในพื้นที่เมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และกวางโขวอย่างมาก ซึ่งทาง GAC Aion เน้นย้ำว่าไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ แต่เป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถ เพื่อใช้พัฒนารถต่อไป ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการทดสอบได้อย่างมาก

ภายในศูนย์ R&D ยังมีพื้นที่ดีไซน์รถ ที่ช่วยแปลงภาพร่างมาเป็นรถคันจริงวัสดุดินเหนียวด้วยแขนหุ่นยนต์ ทำงานควบคู่กับมนุษย์ ศูนย์ R&D ของ GAC Aion ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีด้วยการโชว์รถคอนเซ็ปต์ล้ำๆ ที่ทางแบรนด์เคยออกแบบมา ตั้งแต่ Witstar รถที่มาพร้อมห้องนั่งเล่นหมุนได้ในปี 2013 เอสยูวีซูเปอร์คาร์ Enverge ในปี 2017 หรือ Entranze เปิดตัวปี 2019 และ Enpulse ซูเปอร์คาร์คอนเซ็ปต์ในปี 2020 รวมถึง Hyper SSR ซูเปอร์คาร์คันล่าสุดก็จัดแสดงในที่นี้ด้วย

น่าเสียดายที่ในพื้นที่ศูนย์ R&D ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพใด ๆ เลยไม่มีภาพรถสวย ๆ มาฝาก แต่สิ่งที่น่าสนใจในพื้นที่นี้คือคำที่แปะประกาศอยู่ด้านบนทางเข้าของศูนย์ R&D ซึ่งเราถามทีมงานของ GAC Aion แปลได้ว่า “เทคโนโลยีคือแรงผลักดัน ความสามารถคือต้นทุน และความคิดสร้างสรรค์เปรียบดังพลังขับเคลื่อน” ซึ่งเราเน้นความเอาจริงเอาจังนี้ในแผนการก่อตั้งโรงงานที่ต่างประเทศในปี 2023 รวมถึงประเทศไทย ที่มีแผนก่อตั้งโรงงานที่จังหวัดระยางในเดือนมิถุนายนนี้ เราคงต้องมาติดตามกันว่าหาก Aion สามารถประกอบไทยได้แล้ว ราคารถ EV จะถูกลงไปอีกเท่าไหร่