beartai ไลฟ์ #หนุ่ยทอล์กหนุ่ยโทร ชวนคุณวางแผนการใช้เงิน 5,000 บาท!! จัดสรรอย่างไรให้พอใช้? ต้องทำอย่างไรให้งอกเงย? โดย ‘หนุ่ย’ กับ ‘โค้ชหนุ่ม’ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach

แนะแนวทางการจัดการเงินสู้ภัยโควิด-19

จัดทำงบประมาณใช้จ่ายล่วงหน้า

ให้คุณทำรายการรับจ่ายล่วงหน้า 6 เดือนขึ้นไป และต้องเริ่มปรับตัวทางการเงินได้บ้าง ซึ่งหนุ่ย พงศ์สุข ได้เปิดเผยจากข้อมูลของเพจ ลงทุนแมน ว่าปัจจุบันหลาย ๆ คนอาจไม่ได้เตรียมเงินเดือนไว้เกิน 3 เดือนข้างหน้า รวมไปถึงบริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เตรียมเงินตรงส่วนนี้เช่นกัน ซึ่งเราต้องทำบัญชีไปข้างหน้า แล้วจึงกลับมาดูเมื่อครบเดือน เพื่อเช็คว่าตรงกับที่ใช้จ่ายไปหรือไม่ เพราะเราจะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง เรื่องของการกู้เงินก็ไม่แนะนำถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวดจริง ๆ เพราะจะยิ่งทำให้เราเป็นหนี้ ซึ่งอาจยากที่จะจัดการได้ในภายหลัง และเราต้องพยายามทำให้เห็นความจริงก่อน เพราะความจริงคือจุดแก้ปัญหาของทุกเรื่อง

ลดรายจ่ายและภาระผ่อน

ลดรายจ่ายและภาระผ่อนให้ได้มากที่สุด ให้ติดต่อขอผ่อนผันหนี้จากมาตรการเยียวยาช่วง COVID-19 ถ้าจำเป็นให้รีบทำ เพื่อให้เรามีเงินสดในมือเพื่อใช้ในยามจำเป็น และนำเงินเหลือมาใช้ในค่าใช้จ่ายสำคัญ ๆ ก่อน

  • เลื่อนการชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น (กรณีที่การผ่อนนั้นยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่) เพื่อนำเงินส่วนนั้นมาใช้จ่าย โดยต้องขอให้ธนาคารช่วยเลื่อนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปก่อน โดยปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้แล้วเช่น ธนาคารออมสินที่ให้ย้ายหนี้ 90 วันข้างหน้า ไปไว้เป็นหนี้ 3 งวดสุดท้าย เป็นต้น
  • และหนี้บางส่วนที่เป็นการชำระแบบอัตโนมัติเช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือบางคนมีเงินลงทุนที่ตัดเงินแบบอัตโนมัติ ให้เราเบาค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงมาหน่อย
  • เบี้ยประกันชีวิตนั้น ปัจจุบันบริษัทประกันหลายแห่งเริ่มให้ผ่อนผันได้แล้ว 60 – 90 วัน ซึ่งความคุ้มครองยังคงอยู่ แต่ห้ามหยุดจ่ายด้วยตัวเอง ให้โทรติดต่อกับบริษัทประกันโดยตรงก่อน

รักษาสุขภาพ

เพื่อลดความเสี่ยงการใช้จ่ายด้านสุขภาพ และยิ่งลดความเสี่ยงจากการต้องเดินทางไปข้างนอก พบปะกับผู้คนในช่วงเวลาที่เราอ่อนแออีกด้วย

หารายได้จากช่องทางอาชีพเสริม

ช่วงนี้หลาย ๆ คนต้องมองหาช่องทางอาชีพใหม่ ๆ เพราะอาจจะโดนพักงานแบบไม่ได้รับรายได้ หรือแม้กระทั้งโดนเลิกจ้าง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายอาชีพที่ถือว่ากำลังดำเนินไปได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารแบบเล็ก ๆ ที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ อาหารแห้ง เจลล้างมือ หน้ากาก และบริการขนส่งต่าง ๆ

แล้วเราจะทำอาชีพเสริมอะไรดี ถึงจะเหมาะกับเรา ซึ่งโค้ชหนุ่มก็ได้แนะนำว่า ให้เราทำตารางออกมาดังนี้ โดยวางประสบการณ์ความสามารถของเราว่า เราเคยผ่านอะไรมา และสามารถทำอะไรได้บ้าง มีคนรู้จักทำอะไรอยู่ และมีไอเดีย สิ่งที่สนใจอะไร โดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีของเรา ซึ่งโค้ชยังบอกอีกว่า ทุก ๆ คนนั้นไม่มีทางหมดตัว เพราะเรามีทุนที่ใช้ชีวิตมาหลายสิบปีอยู่ ซึ่งทุนตรงนี้จะสามารถนำไปต่อยอดกลายเป็นเงินได้จากการหาช่องทางการสร้างอาชีพเสริมที่เหมาะกับทักษะของเรานั่นเอง ให้เรางัดทรัพย์สมบัติทางชีวิตออกมาให้หมด โดยอย่าดูถูกตัวเอง หลังจากนั้นให้ดูว่าเราเคยทำประโยชน์หรือช่วยอะไรใครได้บ้าง

หลังจากนั้นให้มองว่า เราควรทำอาชีพเสริมอะไรจากทุนชีวิตที่มีทั้งหมด โดยคนเราจะสามารถค้าขายได้จะต้องมีเงินทุน ต้นทุนการตลาดและต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันเรามีช่องทางการขายอย่าง Facebook หรือ Social Media ต่าง ๆ แทนที่จะเอาไปใช้กับการบ่นเรื่องแย่ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่เราควรจะมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากกว่า

ซึ่งโค้ชได้ยกตัวอย่างเรื่องลูกศิษย์ที่เป็นหนี้นอกระบบมา 4 ปี แต่ได้เริ่มฝึกเย็บหน้ากากผ้าขาย และทำลวดลายสวยงาม โดยขายราคาปกติ ซึ่งแค่เพียงเดือนเดียว เขาสามารถเคลียหนี้นอกระบบได้ หรืออีกคนเป็น Personal Trainer ซึ่งปกติจะต้องสอนที่ยิม แต่ช่วงนี้ยิมไม่เปิด เขาก็เลยอัดวิดีโอสอนการออกกำลังกายออกมาโพสต์ลงโซเชียลแบบฟรี ๆ ซึ่งเขาก็ได้กลุ่มผู้สนใจจะให้เขาช่วยโค้ชหลังจากพ้นวิกฤติ COVID-19 นี้ไปอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น

เราอย่าคิดว่า การทำอะไรเสริมแล้วจะได้เงินเพียงเล็กน้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วทุก ๆ คนที่ทำอาชีพเสริมเหล่านี้ไม่ได้ใช้แค่พลังกาย พลังความคิด แต่ยังต้องใช้พลังใจสูงมาก เพราะเราต้องสู้กับทุก ๆ วัน แต่ทุกวิกฤติ มักมีโอกาสเสมอ ถ้าเป้าหมายการเงินของเราที่จะสามารถแก้ปัญหาได้มันดูไกลเกินเอื้อม ก็อย่าไปมองมันตอนนี้ ให้เรามองวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้าของเราให้มีกินมีใช้อย่างพอเพียงก่อน จะได้ลดความทุกข์ของเราลงก่อนและทำอะไรให้ชีวิตของเราเคลื่อนไปข้างหน้าได้

รักษาวินัยทางการเงิน

เพราะปัจจุบันรายได้ที่เข้ามามีน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ณ จุด ๆ หนึ่ง เงินอาจจะหมดได้ คาดว่าถ้าวิกฤติจะเลยจาก 3 เดือนไปสู่ 6 เดือน ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหนักมาก ดังนั้นเราจึงต้องรักษาวินัยทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เงินหมด หรือให้หมดช้าที่สุด

ซึ่งทั้งโลกโดนวิกฤติ COVID-19 นี้กันหมด ไม่เหมือนกับปี 40 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ถือว่าเป็นวิกฤติที่ยากจะรับมือได้ แต่ก็ถือว่ายังมีข้อดีในยุคนี้คือ มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้าถึงได้กับทุกคน สามารถ Work From Home หรือสามารถสร้างรายได้ได้อยู่ เราจึงยังพอมองเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง

โค้ชหนุ่มแนะนำ

โค้ชหนุ่มเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้กับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 มา ซึ่งความรุนแรกของรอบนี้ถือว่าหนักกว่ามาก เพราะเป็นวิกฤติ ซ้อนวิกฤติ มีทั้งวิกฤติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเข้ามาพร้อมกัน แต่มุมการจัดการส่วนบุคคล ถือว่ามีโอกาสที่เราจะผ่านไปได้นั้นมีมากกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว การจ้างงานของปี 40 และปี 63 นั้นต่างกันมาก โดยช่วงปี 40 เราจะเริ่มต้นธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องหาทำเล ต้องมีค่าเช่า เพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก แต่ในยุคปัจจุบันเราสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แทนได้ ขอแค่เรามีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าของเรา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ไปได้อย่างมาก

ปัจจุบันขอแค่เรามีทักษะความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง เราก็อาจจะนำทักษะเหล่านี้มาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้เช่น การทำอาหาร การฝึกสุนัข หรืออะไรก็ตาม สามารถสอนผ่านออนไลน์เพื่อทำเป็นรายได้ ได้ทั้งหมด ซึ่งโจทย์การดำรงค์ชีวิตในช่วงเวลาวิกฤติเหล่านี้ มีหลักคิดง่าย ๆ คือ

ต้องตั้งโจทย์ก่อนว่า “ไม่ว่าจะยังไง เราจะรอดไปอย่างสง่างาม”

และที่สำคัญช่วงเวลาแบบนี้คืออยากให้ทุกคนฝึกเป็นนักเจรจา โดยเราจะต้องเข้าไปพูดคุยกับทางธนาคารโดยตรง โดยอาจจะขอเลื่อนพักชำระต้น หรือเลื่อนทั้งต้นและดอกออกไปก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีเงื่อนไขอื่น ๆ อยู่อีกตามแต่ละกรณีไป ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่แค่เพียงการติดต่อผ่าน Call Center เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ให้เราเดินเข้าไปที่ธนาคาร และแบไต๋ตัวเองออกมาให้เห็นทั้งหมดว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระขนาดไหน อาจจะขออัตราดอกเบี้ยพิเศษไปก่อน และอย่าไปบ่นว่าใครช่วยใครไม่ช่วย ให้หันไปมองคนข้างตัวเรา ทั้งลูกเมีย ทั้งพ่อแม่ของเราที่จะต้องดูแลให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

COVID สอนอะไรเราบ้าง?

ซึ่งหนุ่ย พงศ์สุข ก็ขอปิดท้ายด้วยเรื่องที่ COVID-19 มาสอนโลกของเราว่า ในโลกหลังจาก COVID-19 ระบาด (POST COVID World) ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ซึ่งเขามองว่า COVID มาสอนคนทำงานเยอะมาก มาสอนแม้กระทั่งว่า เราอาจจะไม่ต้องการที่ทำงานหรือ Office Space อีกแล้ว เพราะจาก Solution Work From Home ในปัจจุบัน ก็ถือว่าตอบโจทย์เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีออฟฟิศก็ได้ ซึ่งอาจจะมีเฉพาะบางสาขาอาชีพเท่านั้นถึงยังคงต้องมีออฟฟิศอยู่

โดยก่อนหน้านี้หนุ่ย พงศ์สุข ก็เคยผ่านพ้นวิกฤติที่เจ็บหนักจากทีวีดิจิทัล จนต้องกลับมาสร้างสตูดิโอที่บ้านกว่า 4 ปี จนผ่านพ้นจุดนี้มาได้ และหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเหล่านี้มา ก็ได้มาพบกับช่วง COVID-19 ก็ทำให้ต้อง Work From Home กันทั้งองค์กร โดยผลปรากฎว่า กว่า 80% ถือว่าทำงานได้เป็นอย่างดี ส่วนอีก 20% อาจจะต้องมีการต้องพบเจอเพื่อกระตุ้นหลาย ๆ อย่างก่อน

ซึ่งแผนในอนาคตจะขอสร้างแค่เพียงสตูดิโอที่ใหญ่และเหมาะสมกับความเป็น beartai เพียงอย่างเดียว และจะเริ่มทำงานแบบ Work From Home กันอย่างจริงจัง

ส่วนฝั่งโค้ชหนุ่มก็มีความเข้าใจว่า คนที่พบเจอวิกฤติปี 40 จะเป็นกลุ่มคนที่ระวังกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ พอสมควร และสิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องคือ คนจะถูกวัดผลด้วยประสิทธิภาพของการใช้เครื่องมือที่มากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือหลาย ๆ อย่างที่ช่วยให้พวกเขาทำงานได้เร็ว ได้เก่งขึ้น ซึ่งใครที่ไม่พัฒนาตัวเองก็จะทำให้มีโอกาสตกงานสูงมาก ยิ่งช่วงนี้เราจะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน และรวมไปถึงรูปแบบเศรษฐกิจ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อีกพอสมควร เรื่องของความจำเป็นในการใช้คนในหลาย ๆ งานอาจจะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่ง Location จะกลายเป็น Location is Everywhere จริง ๆ ยกเว้นภาคการผลิตสินค้าเท่านั้น

ซึ่งเจ้าของกิจการหลายแห่งก็ได้เข้ามาคุยกับโค้ชหนุ่มแล้ว เขาก็เริ่มรู้สึกว่า พอการมี COVID-19 เข้ามาแล้ว เขาก็เริ่มค้นพบว่า

เขามีพนักงานมากไปหรือเปล่า?

หนุ่ย พงศ์สุข ก็เสริมในเรื่องที่ว่า เขาก็เริ่มมองเห็นว่าใครที่ทำผลงานที่ดีให้กับบริษัทบ้าง ซึ่งเราจะเริ่มมองเห็นคนเบื้องหลังว่า ใครนั้นทำเพื่อบริษัทจริง ๆ ดังนั้นทุกคนจึงต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น การเข้าออฟฟิศอาจจะกลายเป็นเรื่องเฉพาะความจำเป็นจริง ๆ แล้วในยุคสมัยหน้า

สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ทุก ๆ คนต้องเตรียมพบเจออย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส