SME หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าเฉพาะในปี 2561-2562 SME มีสัดส่วนประมาณ 40% ของ GDP รวมทั้งประเทศ และทำให้เกิดการจ้างงานถึง 80% แต่ธุรกิจกลุ่มนี้กำลังจะตาย เพราะพวกเขาขาดสภาพคล่องและเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้

จากประสบการณ์ที่เคยทำธุรกิจด้านอีเวนต์ นี่เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ในการทำธุรกิจนี้ เพราะจะต้องลงทุนไปก่อน โดยมีการออก ใบแจ้งหนี้ หรือ ใบ Invoice ให้ลูกค้าไว้ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดหรือที่เขาเรียกว่า เครดิตเทอม ถึงจะได้รับเงิน ซึ่งเครดิตเทอมก็มีตั้งแต่ 30 วัน 60 วัน หรือบางแห่ง 180 วัน เจอแบบนี้บอกเลยว่าเกือบชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องวิ่งรอกหาทุนมาต่องานใหม่

หนึ่งในวิธีการหาทุนคือ การขอสินเชื่อ Factoring โดยเอาใบแจ้งหนี้หรือใบ Invoice ที่ออกให้กับ ผู้ซื้อสินค้า หรือ Buyer เป็นตัวค้ำประกันกับ ผู้ให้สินเชื่อ หรือ Factor ว่าภายใน 60 วัน หรือตามระยะที่กำหนดในใบแจ้งหนี้ เราจะได้เงินจาก Buyer มาชำระค่าสินเชื่ออย่างแน่นอน

แต่กระดาษแผ่นหนึ่งบางทีก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ให้สินเชื่อหรือ Factor ได้ จะพบว่า SME บางแห่งยังมีการออกใบแจ้งหนี้ที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปลอมแปลง หรือบางแห่งก็แอบเอาใบแจ้งหนี้ไปขอสินเชื่อมากกว่าหนึ่งที่ กลายเป็น การขอสินเชื่อซ้ำซ้อน หรือ Double Financing เรื่องเหล่านี้ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ให้สินเชื่อหรือ Factor ทำให้โอกาสในการอนุมัติก็ยิ่งน้อยลงไปอีก นี่จึงเป็นเหตุให้ SME หลายเจ้าต้องปิดกิจการไป

ปัญหาดังกล่าวจัดว่าเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด จากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดคุยกับกลุ่ม SME, กลุ่มผู้ให้สินเชื่อ (Factor), กลุ่มผู้ซื้อสินค้า (Buyer) รวมไปถึงกลุ่ม Startup ที่เสนอแนะให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยี

หลังจากผ่านการพูดคุยหลายครั้ง ธปท. จึงตัดสินใจสร้าง ระบบนิเวศ หรือ Ecosystem สำหรับ Digital Factoring ขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ให้สินเชื่อหรือ Factor ทำให้ SME สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้ ธปท. ได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานไว้ 2 ส่วนเพื่อรองรับระบบนิเวศนี้แล้วครับ

ส่วนแรกคือ มาตรฐานใบแจ้งหนี้ดิจิทัล หรือ Digital Invoice เนื่องจากเอกสารที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลสามารถตรวจสอบได้รวดเร็วและยากต่อการปลอมแปลง

ดูแบบผิวเผินอาจไม่รู้สึกว้าวมากนัก แต่ลองคิดตามว่า หากบริษัทของคุณต้องออกใบแจ้งหนี้จำนวนมากทุกวัน คุณก็คงต้องกรอกเอกสารเหล่านั้นลงระบบคอมพิวเตอร์อีกที แล้วถ้าไม่อยากกรอกเองก็ต้องไปจ้างคนมาทำแทน เสร็จแล้วก็ต้องลงมาตรวจสอบว่าเขากรอกถูกต้องไหม มีอะไรตกหล่นหรือเปล่า ทำให้เสียเวลามาก ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศของ Digital Factoring จึงเริ่มจากสิ่งนี้ครับ

อีกส่วนคือ ฐานข้อมูลกลาง หรือ Central Web Service (CWS) ที่ ธปท. ได้พัฒนาไว้เพื่อตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้ใบนี้ ว่าเคยถูกนำไปขอสินเชื่อมาก่อนหรือไม่ ป้องกันปัญหาการขอสินเชื่อซ้ำซ้อนหรือ Double Financing

และสำหรับใครที่กังวลว่าความลับทางธุรกิจจะรั่วไหล เรื่องนี้ ธปท. ได้กำหนดมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติเอาไว้ โดยจะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นต่อการตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้เท่านั้นครับ

และไม่ได้มีเพียงโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ทาง ธปท. ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำกระบวนการสนับสนุนอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น eKYC (การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์), Online Accounting (ระบบบัญชีออนไลน์), Digital Payment, ประกันภัยและการค้ำประกันสินเชื่อ และ Digital Signature (การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์)

โดยกระบวนการสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับ Digital Factoring ให้สมบูรณ์และคล่องตัวมากยิ่งขึ้นครับ

เรียกได้ว่า Digital Factoring เป็นระบบที่ WIN For All ครับ เพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันหมด โดยฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานใบแจ้งหนี้ดิจิทัล จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับ ผู้ให้สินเชื่อ หรือ Factor รวมไปถึงลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสาร ทำให้ SME ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเร็วขึ้น

ในส่วนของ ผู้ซื้อสินค้า หรือ Buyer ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ก็ยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ผ่านระบบได้อีกด้วย การทำธุรกิจจึงเป็นไปอย่างไหลลื่นและตรวจสอบได้ นับว่าเป็นการปูทางไปสู่ความยั่งยืนในการทำธุรกิจร่วมกัน

ทาง ธปท. ได้ทำการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานหรือ Proof of concept ของ Digital Factoring แล้ว และจะเปิดให้ใช้งานในต้นปี 2564 ซึ่งเรื่องนี้จะสำเร็จและสมบูรณ์ได้ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวมาใช้ระบบเดียวกันครับ

ส่วนตัวแล้วผมมองว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจครับ ต้องยอมรับว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในการเปลี่ยนใบแจ้งหนี้จากกระดาษมาสู่ดิจิทัล แต่มันคุ้มค่านะครับ หากคุณได้รับสินเชื่อเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงจากการปิดกิจการเนื่องจากไม่มีเงินทุนหมุนเวียน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • Facebook : ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand
  • ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน โทรศัพท์ : 0 23567682, 0 2283 6694
  • E-mail : [email protected]

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส