สื่อ Bloomberg เข้าสัมภาษณ์ ‘สเวน วินค์’ (Swen Vincke) ผู้บริหารทีม Larian Studios และ ผู้กำกับ Baldur’s Gate 3 เกี่ยวกับเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ Baldur’s Gate 3 กลายเป็นเกมยอดนิยมในวงการเกมปัจจุบัน

หลังจาก Baldur’s Gate 3 กลายเป็นอีกหนึ่งเกมยอดนิยมประจำปี 2023 เกมเมอร์จำนวนมากออกความเห็นอยากให้ Baldur’s Gate 3 ถูกยกมาเป็นมาตรฐานในการสร้างเกมใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเกมยุคปัจจุบัน โดยหนึ่งในบุคคลวงการเกมอย่าง ‘เดสติน เลการี’ (Destin Legarie) ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์วิดีโอของ IGN ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นด้วย และ ได้แสดงความคิดเห็นตัวเองผ่านวิดีโอ Youtube ว่า

“ทำไมเราต้องจ่ายเงินเพื่อเล่นเกมที่สร้างไม่เสร็จ? ทำไมต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหลายเหรียญเพื่อซื้อเสื้อผ้าตัวละครเพียงชุดเดียว? ทำไมหลาย ๆ เกมไม่ลองทำออกมาให้ลึก และ ซับซ้อนเหมือนกับเกมนี้ล่ะ?”

ความจริงแล้ว Baldur’s Gate 3 มีหลายปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้ตัวเกมประสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเกมธีม Dungeons & Dragons, นักพัฒนาเกมในทีมมีประสบการณ์สร้างเกม RPG แนวนี้สูง และ ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือตัวทีม Larian Studios บริษัทเกมเอกชนขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้สร้างเกมเพื่อความต้องการของผู้ถือหุ้นในตลาดหุ้น

‘สเวน วินค์’ (Swen Vincke) ผู้บริหารทีม Larian Studios และ ผู้กำกับ Baldur’s Gate 3

ในบทสัมภาษณ์วินค์ได้เผยกับ Bloomberg ว่า พวกเขามีทีมจัดการรายจ่ายของบริษัทที่ “ใหญ่มาก ๆ” มาช่วยขณะที่เจ้าตัวต้องใช้เวลาสร้างเกม เคยมีครั้งหนึ่งที่วินค์ได้ข้อเสนอให้ลองเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างธุรกิจของ Larian Studios ให้วางจำหน่ายเกมตามกำหนดที่สามารถสร้างกำไรได้มากกว่า

แต่วินค์เองไม่ได้สนใจที่จะสร้างเกมให้เสร็จด้วยเวลาที่รวดเร็วอยู่แล้ว และ ด้วยความที่วินค์เป็นผู้บริหารของ Larian Studios เขาจึงสามารถปฏิเสธข้อเสนอแนะทางธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้มากกว่า แต่ส่งผลเสียต่อวิสัยทัศน์การสร้างสรรค์เกมได้

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความเสี่ยงให้กับ Baldur’s Gate 3 ไม่น้อย ถ้าเกมเจ๊ง ขายไม่ได้ขึ้นมาก็เจ็บหนัก เพราะการสร้างเกมในปัจจุบันเป็นการลงทุนที่สูงมาก ก็แน่นอนว่าทีมพัฒนาเกมหลายเจ้าจำเป็นจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างกำไรก้อนใหญ่จากเงินที่ลงทุนไปให้ได้

สำหรับความเสี่ยงของ Baldur’s Gate 3 ด้วยความที่ตัวเกมมีกฎการเล่นที่สับสน, มีระบบ Turn-Based Combat ที่ส่วนใหญ่ตกยุค และ Branching Path ที่ผู้เล่นไม่สามารถเห็นทุกอย่างในเกม ก็ตีความหมายได้ว่า ทีมพัฒนาเสี่ยงลงทุนใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่อาจทำให้ผู้เล่นไม่ชอบใจ แต่ในกรณีนี้ ตัวเกมกลับสามารถสร้างประสบการณ์ยอดเยี่ยมให้กับผู้เล่นได้ดีเยี่ยม

จากที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเกมมหาชนขนาดใหญ่จะสามารถสร้างได้แต่เกมไร้คุณภาพอย่างเดียว โดยทาง Bloomberg ให้ความเห็นว่า หากบริษัทเกมเหล่านี้สร้างเกมคุณภาพไม่ได้เลย อุตสาหกรรมเกมได้ล่มจมกันแน่ ความจริงเป็นเพราะแรงจูงใจในการสร้างเกมของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันออกไปครับ ยกตัวอย่าง หากบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นอย่าง Electronic Arts พลาดการทำยอดที่ Wall Street คาดหวังเอาไว้ติดกัน 2 – 3 ไตรมาส ตัวผู้บริหารเองจะกลายเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงอย่างมาก

ที่มา Bloomberg

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส