“กินอาหารที่มีผงชูรสจะทำให้ผมร่วง” หลายคนคงเคยได้ยินคำเตือนนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจะเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสนั้นเป็นเรื่องยากเช่นกัน เพราะผงชูรสมีส่วนช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น Hack for Health จะพาทุกคนมาหาคำตอบว่าสรุปแล้วกินผงชูรสเยอะ ๆ เสี่ยงผมร่วงจริงไหม ? และการกินผงชูรสบ่อย ๆ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

ผงชูรส มีสารสำคัญคือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) เป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะจัดให้ผงชูรสเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีความปลอดภัย แต่มีการศึกษาหลายชิ้นที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าการกินผงชูรสบ่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

ผลกระทบจากการกินผงชูรส

  • กระทบต่อระบบประสาท

ผงชูรสมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอย่างช้า ๆ เช่น ความจำและการเรียนรู้ การกินผงชูรสเป็นเวลานานทำให้เซลล์ประสาทตาย นำไปสู่อาการตื่นตระหนก ชัก และเวียนศีรษะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะพบได้บ่อยในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่จะพบปัญหาสมาธิสั้น

  • ทำให้ตับอักเสบ

การศึกษาวิจัยพบว่าการกินผงชูรสเป็นเวลานานทำให้เกิดไขมันสะสมในตับ ซึ่งอาจลุกลามไปสู่โรคตับอักเสบอย่างช้า ๆ การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยบางรายมีรอยโรคเป็นก้อนกลมและมีพฤติกรรมกินผงชูรสเป็นประจำ

  • เสี่ยงต่ออาการในกลุ่มเมตาบอลิก

มีการศึกษาระบุว่า ผงชูรสในอาหารทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเมตาบอลิกซินโดรมและโรคอ้วน นอกจากนี้ การกินผงชูรสในปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน 

  • ปวดศีรษะ

แม้ว่าการกินอาหารที่มีผงชูรสจะไม่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ แต่ก็เสี่ยงทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดศีรษะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บุคคลที่บริโภคผงชูรสประมาณ 150 มก./กก. ของน้ำหนักตัวพบว่าจะมีผลข้างเคียงคืออาการปวดศีรษะ 

ผงชูรสทำให้ผมร่วง ?

หลายคนเข้าใจว่าผงชูรสเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการผมร่วง แต่ความจริงแล้วยังไม่มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าผงชูรสมีส่วนทำให้ผงร่วงได้จริง แต่โดยปกติแล้วเมื่อคนเราเกิดความผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับร่างกาย มักจะเชื่อว่ามีส่วนมาจากอาหารการกินเสมอ สำหรับคนที่มีอาการผมร่วงจริง ๆ พบว่าเมื่อได้ลองงดอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาผมร่วงอยู่ ดังนั้น คุณอาจจะมีปัญหาด้านอื่นและต้องหาวิธีแก้ทางอื่นต่อไป

สาเหตุของอาการผมร่วง

อาการผมร่วงเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหนังศีรษะ สามารถเกิดขึ้นชั่วคราวหรืออาจจะเป็นถาวรได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุมักมาจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และอายุที่มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้ชาย นอกจากนี้ การที่ร่างกายขาดวิตามินบางชนิดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการผมร่วงได้เช่นกัน

หากคุณเริ่มสังเกตว่าตนเองผมร่วงกะทันหัน ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือผมร่วงมากกว่าปกติเมื่อสระผม และหวีผม ให้คุณลองปรึกษาแพทย์เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่คุณยังไม่รู้ตัว

ที่มา thehealthsite , mayoclinic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส