Weekend Effect เป็นภาวะที่เรารู้สึกร่าเริงในช่วงสุดสัปดาห์และรู้สึกแย่ในเช้าวันจันทร์หรือตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นช่วงเวลาที่คนทำงานส่วนใหญ่ถวิลหา แต่บางคนอาจเฝ้ารอวันหยุดอย่างกระวนกระวายมากกว่าคนอื่น พร้อมกับเกลียดวันที่ต้องทำงานแบบเข้าไส้ โดยเฉพาะวันจันทร์ ซึ่งก็มีเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมบางคนถึงรู้สึกแบบนั้น

Weekend Effect กับความสุขในการทำงานที่น้อยลง

แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่คนทำงานจะอยากให้ถึงวันหยุดเร็ว ๆ เพื่อที่จะได้พักผ่อนหรือใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชื่นชอบได้อย่างเต็มที่ แต่บางคนที่รู้สึกเศร้า ผิดหวัง หงุดหงิด หรือท้อแท้อย่างมากทุกเช้าวันจันทร์ และใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงในช่วงสุดสัปดาห์อาจเป็นผลกระทบของ Weekend Effect ที่เป็นสัญญาณของปัญหาในการทำงานและอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟหรือ Burnout Syndrome และปัญหาสุขภาพอื่นได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาเรื่องราวของบริบททางสังคมภายใต้ Weekend Effect และภาวะอารมณ์ในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งได้สัมภาษณ์คนทำงานชาวอเมริกันกว่า 1,000 คนเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยคนกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำงานดี ทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ที่มีความเปิดกว้างและไว้วางใจกันได้รับผลกระทบจาก Weekend Effect น้อยจนถึงแทบไม่รู้สึก

ส่วนคนกลุ่มที่ 2 ที่มีสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำงานในขั้วตรงข้ามกลับกลุ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายที่จู้จี้และชอบใช้อำนาจ รวมทั้งความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อนร่วมงาน คนในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจาก Weekend Effect มากกว่ากลุ่มแรกถึง 3 เท่า โดยคนกลุ่มนี้มักมีความสุขในช่วงวันหยุดมากกว่าคนอื่น แต่ในวันทำงานก็ทุกข์มากกว่าด้วยเช่นเดียวกัน

แล้ว Weekend Effect แย่อย่างไร? เพราะใคร ๆ ก็อยากหยุด

อย่างที่ได้บอกไปว่าการอยากใช้เวลาในหยุดเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์วัยทำงานอย่างเรา ๆ แต่หากคุณได้อ่านหัวข้อก่อนหน้าไปแล้วจะเห็นได้ว่า Weekend Effect อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน ความเครียด ความสุขที่ลดลง สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพทางกายของคุณได้

คนที่ได้รับผลกระทบจาก Weekend Effect บางคนมักโหยหาและใช้ชีวิตในช่วงสุดสัปดาห์มากกว่าคนทั่วไป หากคุณชอบทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ไม่น่าเป็นอะไร แต่ถ้าความสุขของคุณ คือ การดื่มสังสรรค์ทุกคืนวันหยุด หรือการดู Netflix Marathon โดยที่ไม่หลับไม่นอน สุขภาพทั้งทางจิตใจและทางร่างกายอาจดิ่งลงเหวไปพร้อมกัน

และอาจกลายเป็นวัฏจักรของ Weekend Effect เพราะเมื่อคุณใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงในวันหยุดจนร่างกายไม่ได้พักผ่อน วันจันทร์ที่จะมาถึงอาจกลายเป็นฝันร้ายที่น่ากลัวกว่าเดิม ซึ่งก็ทำให้คุณรู้สึกแย่และเฝ้ารอที่จะทำซ้ำลูปเดิมในช่วงวันหยุด

Weekend Effect รับมือได้

วิธีที่ Hack for Health จะบอกคุณต่อไปนี้อาจช่วยลดหรือหยุดผลกระทบจาก Weekend Effect ได้

  • วางแผนวันหยุดของคุณให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อย่างการดื่มสังสรรค์ให้น้อยลงหรือใช้เวลาในช่วงกลางวันเพื่อดูซีรีส์แทนการอดนอนตอนกลางคืน เปลี่ยนหรือเพิ่มกิจกรรมในวันหยุด ลองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ
  • จัดการงานของวันจันทร์ตั้งแต่วันศุกร์ แม้จะฟังดูแปลก ๆ แต่การย้ายงานของวันจันทร์มาไว้ในวันศุกร์จะทำให้คุณรู้สึกแย่ในวันจันทร์น้อยลง
  • เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกาย แม้จะดูโลกสวย แต่สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ลดความเครียด และช่วยให้คุณมีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์มากขึ้นด้วย 
  • ปรับชุดความคิดและตั้งคำถามต่อความเครียดและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้คุณเครียดหรือคุณรู้สึกเครียดไปเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งคนที่มีความรับผิดชอบและจริงจังต่องานมักสร้างความกดดันให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่คาดหวังของคนอื่น
  • ลาออกและหางานใหม่ หากคุณหาคำตอบจากข้อที่แล้วได้แล้วว่าความรู้สึกทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวคุณ แต่มาจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ การลาออกเพื่อไปเจองาน หัวหน้า และเพื่อนร่วมงานใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าอยู่ที่เดิม

คำแนะนำจาก Hack for Health อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ในสถานการณ์ที่คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ การเดินออกมาก็คงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณเอาไว้

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นเจ้านาย หัวหน้า หรือแม้แต่เจ้าของบริษัท การให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานทุก ๆ ด้าน ทั้งการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และบรรยากาศในที่ทำงานเป็นสิ่งจำเป็นและส่งผลต่อสุขภาพ

Weekend Effect เป็นเพียงการนิยามและอธิบายว่าทำไมในแต่ละช่วงของสัปดาห์คนเราถึงมีภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจช่วยให้คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่าคุณโหยหาความสุขจากวันหยุดมากแค่ไหนและมีเหตุผลมาจากอะไร

ที่มา: National Bureau of Economic Research

ที่มา: Psychcentral.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส