หากคุณกำลังรู้สึกเหนื่อย เครียด คิดงานไม่ออก ไม่มีสมาธิกับงานที่ทำ คุณอาจกำลังเป็น ‘ภาวะสมองล้า’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งหมดนี้อาจเกิดด้วยกันหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักของภาวะสมองล้ามักมาจากความเครียด และความวิตกกังวล แม้อาการจะแสงออกเกี่ยวกับปัญหาด้านจิตใจ แต่อาจนำไปสู่อาการทางร่างกายได้เช่นกัน เช่น อาการปวดท้อง เป็นต้น

หากคุณรุ้ตัวว่าตนเองกำลังประสบอาการเหล่านี้อยู่ Hack for Health มีคำแนะนำวิธีการรักษามาให้คุณ

1.หาสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเครียดและวิตกกังวล

ก่อนอื่นคุณอาจจะลองถามตนเองว่าอะไรที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเหนื่อย หรือเครียด เพราะจะทำให้คุณแก้ไขอาการเหล่านี้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

โดยบางคนอาจจะเกิดความเครียดในระยะสั้น เช่น เครียดกับบทบาทหน้าที่ในการทำงานที่เพิ่งได้รับมอบหมาย และสามารถนำไปสู่ความเหนื่อยล้าทางจิตใจได้ ซึ่งคุณอาจจัดการความเครียดโดยการเรียนรู้งานหรือศึกษาข้อมูลมากขึ้น แต่หากคุณไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าอะไรทำให้เกิดความวิตกกังวลในใจ การไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจช่วยคุณได้

2.นอนหลับให้มากขึ้น

การอดนอนอาจทำให้การคิดงานตลอดทั้งวันของคุณยากขึ้น การนอนน้อยกว่า 1-2 คืน อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าคุณนอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำ คุณจะเริ่มสังเกตเห็นผลเสียบางอย่าง เช่น หงุดหงิดง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน และขาดสมาธิ

แม้ว่าคาเฟอีนจะสามารถช่วยให้คุณรู้สึกตื่นตัวได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี การนอนหลับให้เพียงพอเป็นการเริ่มต้นที่ดี และทำให้คุณใช้ชีวิตระหว่างวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.หาเวลาทำในสิ่งที่ชอบ

ความเครียดมักเกิดขึ้นเมื่อชีวิตวุ่นวายกว่าปกติ และหากคุณมีหน้าที่รับผิดชอบมากมายจนไม่รู้จะจัดการอย่างไร การหาเวลาในการพักผ่อน หรือสนุกกับงานอดิเรกที่ชื่นชอบเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่คุณจะหาเวลาให้ตนเอง แต่หากคุณไม่มีเวลาดูแลตนเองและพักผ่อน คุณก็จะยิ่งเพิ่มความเครียดเข้าไปอีก

ลองจัดสรรเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ในแต่ละวันสำหรับกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบและผ่อนคลาย เช่น เล่นเกม ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เป็นต้น  แม้ว่าคุณจะมีเวลาเพียง 15 นาทีในบางวัน แต่จงใช้เวลานั้นทำสิ่งที่คุณรัก สิ่งนี้สามารถช่วยให้สมองของคุณมีความทรงจำที่ดี และหายจากภาวะสมองล้าได้เป็นอย่างดี

4.ฝึกนั่งสมาธิ

การทำสมาธิจะช่วยเพิ่มการรับรู้ทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีส่วนช่วยควบคุมอารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น

5.ตรวจสอบความต้องการของร่างกาย

การรับประทานอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมอาจทำให้คุณศูนย์เสียสมาธิ และโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ยาก และเมื่อเครียด คุณอาจรู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พร้อมทั้งหันไปหาของว่างหรืออาหารจานด่วนแทน อาหารเหล่านี้มักไม่ให้สารอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงานมากนัก และอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยหรือเซื่องซึมได้

ความวิตกกังวลยังสามารถนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ที่ทำให้คุณอยากอาหารน้อยลง และหากคุณอดอาหารไป 2-3 มื้อ คุณอาจรู้สึกคลื่นไส้เมื่อนึกถึงอาหาร ซึ่งจะทำให้คุณหมดแรงมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การดูแลให้ร่างกายไม่ขาดน้ำยังช่วยเรื่องสมองล้า คุณอาจทราบดีว่าภาวะขาดน้ำส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณ แต่ก็สามารถส่งผลเสียต่อระดับพลังงาน สมาธิ และความจำของคุณได้เช่นกัน

6.หาเวลาออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีประโยชน์มากมาย  ทั้งช่วยให้คุณนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองของคุณ ช่วยเรื่องความจำ เป็นต้น คุณไม่จำเป็นต้องไปยิมเพื่อออกกำลังกายอย่างหนัก แค่เดินเร็ว 15 นาที เท่านี้ก็ช่วยคุณได้แล้ว

7.พักผ่อนสักครู่

หากคุณกำลังทำงานบางอย่างที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ แต่คุณเกิดคิดไม่ออก รู้สึกเหนื่อย สมองล้า การพยายามทำงานต่อไปท่ามกลางความรู้สึกนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของงานที่คุณทำอยู่ เพราะการทำงานท่ามกลางความเครียดย่อมได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น คุณอาจจะพักสายตา หรือหยุดทำงานสักครู่หนึ่งเพื่อให้ร่างกายได้สดชื่น ลดความตึงเครียดลง

8.ปรึกษาแพทย์

แม้ว่าคุณจะคิดว่าความรู้สึกเหนื่อย เครียด เป็นเพียงแค่อาการชั่วคราวเท่านั้น แต่การไปพบแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะบางทีความรู้สึกที่คุณเป็นอยู่อาจมีสาเหตุมาจากภาวะสุขภาพของคุณก็ได้ เช่น

  • โรคโลหิตจาง
  • การขาดวิตามิน
  • ผลข้างเคียงของยา
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
  • โรคซึมเศร้า

9.พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

แม้ว่าวิธีทั้งหมดจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ แต่เป็นเพียงการรักษาระยะสั้นเท่านั้น หากคุณพบว่าตนเองมีอาการเหนื่อย เครียด วิตกกังวล สมองล้า บ่อย ๆ การพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับตัวกระตุ้นอาการของคุณ และเรียนรู้วิธีจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญภาวะดังกล่าวอาจมาจากปัจจัยของโรคซึมเศร้า หรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อาการวิตกกังวลอาจแตกต่างกันไป และอย่างที่บอกว่าภาวะสมองล้าอาจเป็นหนึ่งในอาการของภาวะซึมเศร้า ดังนั้น หากคุณรู้สึกสิ้นหวัง หรือมีความคิดอยากจบชีวิตตนเองให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที

ที่มา medicalnewstoday , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส