ใครเคยถูก ‘จั๊กจี้’ บ้าง ? ถ้าคนที่ไม่บ้าจี้อาจจะเฉย ๆ กับเรื่องนี้ แต่สำหรับคนที่บ้าจี้ และมักจะถูกแกล้งบ่อย ๆ อาจเกิดคำถามว่าทำไมเราถึงต้องหัวเราะเวลาที่มีคนมาจั๊กจี้เราด้วย! แล้วทำไมบางคนถึงไม่มีอาการบ้าจี้ทั้งที่ถูกกระทำเหมือนกัน

อาการจั๊กจี้

หากคุณหัวเราะหรือร้องไห้ยามที่มีคนมาสัมผัสบริเวณจุดที่บอบบางของร่างกายแบบซ้ำ ๆ แสดงว่าคุณกำลังรู้สึกจั๊กจี้อยู่ แม้ว่าคุณจะไม่ได้รู้สึกสนุกจนต้องหัวเราะออกมา หนำซ้ำยังรู้สึกทรมานและไม่ชอบด้วยแต่กลับไม่สามารถบังคับร่างกายได้ โดยอาการจั๊กจี้มีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้

  • Gargalesis = อาการจั๊กจี้จากการถูกคนอื่นสัมผัสบริเวณจุดอ่อนไหวของร่างกายซ้ำ ๆ เช่น บริเวณท้อง คอ รักแร้ ซึ่งการกระทำเหล่านั้นทำให้คุณหัวเราะโดยไม่สามารถห้ามตัวเองได้ บางคนหัวเราะจนถึงขั้นร้องไห้น้ำตาไหล ตามมาด้วยการหายใจไม่ทัน
  • Knismesis = อาการจั๊กจี้ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเบา ๆ บนผิวของคุณ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการหัวเราะ เช่น การโดนสัมผัสอย่างช้า ๆ เบา ๆ ด้วยมือของคนอื่น การถูกขนนกหรือสำลีถูที่แขนเบา ๆ หรือการถูกแมลงไต่ตามตัว เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้คนจั๊กจี้ ?

ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีที่สรุปอย่างแน่ชัดว่าความรู้สึกจั๊กจี้เกิดจากสาเหตุอะไร บ้างก็บอกว่าอาการจั๊กจี้เป็นกลไกการปกป้องส่วนเปราะบางของร่างกาย และอีกทฤษฎีบอกว่าการจั๊กจี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดความผูกพันทางสังคมของผู้จั๊กจี้กับผู้ถูกจั๊กจี้นั่นเอง โดยจุดที่คนมักจะบ้าจี้มีดังนี้

  • หน้าท้อง
  • ด้านข้างลำตัว
  • รักแร้
  • เท้า
  • คอ

ทำไมถูกจั๊กจี้ต้องหัวเราะ ?

การถูกจั๊กจี้จะไปกระตุ้นสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคุณ การตอบสนองต่อการต่อสู้ หรือหนีจากความเจ็บปวด แม้ว่าตอนที่คุณถูกจั๊กจี้คุณจะหัวเราะออกมา แต่ความจริงแล้วคุณไม่ได้รู้สึกสนุกแต่เป็นเพียงการตอบสนองทางอารมณ์โดยอัตโนมัติเท่านั้น และการที่ร่างกายของคุณบิดไปมาขณะที่ถูกจั๊กจี้นั้น ก็เหมือนกับการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ที่กำลังเจ็บปวดอย่างรุนแรง

ทำไมบางคนบ้าจี้ แต่บางคนไม่บ้าจี้ ?

ในเรื่องนี้นักวิจัยยังคงไม่มีข้อสรุปว่าทำไมอาการบ้าจี้ถึงเกิดขึ้นกับเฉพาะบางคน แต่คาดเดาว่าอาจจะมาจากพันธุกรรม บางคนอาจจะรู้สึกจั๊กจี้ที่บางส่วนของร่างกาย แต่จุดอ่อนไหวอื่น ๆ ไม่รู้สึกอะไร เช่น คุณอาจจะบ้าจี้ที่เท้ามาก ๆ แต่ตรงใต้รักแร้กลับไม่รู้สึกอะไร

ขณะเดียวกันบางคนอาจเป็นคนที่ไวต่อการสัมผัส ดังนั้นความไวของผิวหนังจึงมีบทบาทในการกระตุ้นให้คนเรารู้สึกจั๊กจี้ได้เช่นกัน 

ทำอย่างไรให้หายบ้าจี้ ?

ยังไม่มีวิธีที่ชัดเจนนักที่จะทำให้คุณหายจากการเป็นคนบ้าจี้ ขณะเดียวกันก็มีแนวทางที่อ้างว่า การอดทนกับความรู้สึกจั๊กจี้ไปเรื่อย ๆ จนชิน ท้ายที่สุดคุณก็จะเลิกหัวเราะได้เอง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็แนะนำว่า หากคุณพยายามจั๊กจี้ตัวเอง คุณจะไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นคุณอาจจะหลอกสมองของตนเองโดยการวางมือไว้บนมือของคนที่จั๊กจี้คุณ วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถคาดเดาได้ว่าคนจั๊กจี้กำลังทำอะไร และอาจหลอกสมองให้คิดว่าคุณกำลังจั๊กจี้ตัวเองอยู่

อย่างที่บอกว่า แม้ว่าการถูกจั๊กจี้จะทำให้ร่างกายหัวเราะออกมา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนถูกจั๊กจี้กำลังสนุกไปด้วย แม้จะเป็นเรื่องสนุกของผู้กระทำก็ตาม ดังนั้น ไม่ควรกลั่นแกล้งใครด้วยการจั๊กจี้หากฝ่ายตรงข้ามไม่ยินยอม ยิ่งถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่ชอบด้วยแล้วก็ยิ่งต้องหยุด เพราะการที่คนบ้าจี้หัวเราะมาก ๆ แบบที่ไม่สามารถบังคับร่างกายได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการหายใจไม่ทัน และอาจเป็นอันตรายได้

ที่มา medicalnewstoday , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส