Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล เรียกกันแบบง่าย ๆ ว่าการหาหมอออนไลน์ Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกใช้กันมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของการหาหมอในโลกยุคดิจิทัล Telemedicine จำลอง Ecosystem ขนาดเล็กของโรงพยาบาลมาไว้บนอุปกรณ์ของคุณ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่เทคโนโลยี Telemedicine ก้าวหน้ามากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19

ในบทความนี้ Hack for Health จะพาคุณไปรู้จักกับ Telemedicine เทคโนโลยีการหาหมอของโลกยุคใหม่นี้กัน

รู้จักกับ Telemedicine การหาหมอออนไลน์

คำว่า Telemedicine เป็นการผสมระหว่าง 2 คำ คือ 1) Tele ที่หมายความว่าไกล และ 2) Medicine ที่หมายความว่ายาหรือการรักษาโรค พอมารวมกันก็หมายถึงการหาหมอแบบทางไกล

Telemedicine เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านช่องทางที่มีในสมัยนั้น อย่างโทรศัพท์หรือจดหมาย แต่ทุกวันนี้รูปแบบหลักของการหาหมอแบบทางไกล คือ การเอาฟังก์ชัน VDO Call มาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ แทนที่ผู้ป่วยจะต้องไปโรงพยาบาลก็สามารถพบแพทย์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่รองรับการ VDO Call เพื่อพูดคุยเรื่องสุขภาพได้เลย

ขอแค่เพียงคุณมีสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต แล็บท็อป และแอปพลิเคชันที่รองรับ หรือบางแอปพลิเคชันอาจมีให้เลือกว่าคุณจะแค่พิมพ์คุยกับหมอหรือโทรคุยกันโดยไม่ต้องเปิดกล้องก็ได้เหมือนกัน

ซึ่งการพูดคุยกับแพทย์แบบเรียลไทม์เรียกว่า Interactive Telemedicine โดยคนที่ปรึกษาและแพทย์สามารถพูดคุยเรื่องปัญหาสุขภาพ อาการที่พบ วิธีดูแลตัวเอง และการรักษาในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อการติดตามอาการในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องคุยกับแพทย์บ่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน

หากคุณไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล แต่ไม่อยากรอแพทย์เพื่อพูดคุย เดี๋ยวนี้บางโรงพยาบาลที่ให้คุณกลับไปรอผลที่บ้านและนัดเวลาคุยกับแพทย์ผ่าน VDO Call โดยไม่ต้องเสียเวลารอที่โรงพยาบาล

ข้อดีของ Telemedicine

Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนการหาหมอแบบเดิมให้ดีขึ้นในหลายด้าน เช่น

  • ใช้งานง่าย เพราะ VDO Call เป็นฟังก์ชันพื้นฐานของการสื่อสารในปัจจุบัน
  • ลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และความยุ่งยากในการเดินทาง อย่างผู้สูงอายุที่ต้องไปหาหมอบ่อย ๆ หรือคนป่วยที่ต้องติดตามอาการ
  • ประหยัดเวลาในการรอคิวตรวจและกำหนดเวลาหรือนัดหมายเวลาตรวจได้เอง
  • ลดการสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคในที่สาธารณะ
  • ช่วยให้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างบนเขา บนดอย หรือบนเกาะเข้าถึงการแพทย์ได้ง่ายขึ้น

ข้อจำกัดของ Telemedicine

แม้จะมีประโยชน์มาก แต่ Telemedicine ก็มีข้อจำกัดไม่น้อยเหมือนกัน

  • ใช้ได้เฉพาะการเจ็บไม่ป่วยที่ไม่รุนแรง เช่น โรคหวัด อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง โรคผิวหนังที่แพทย์สามารถตรวจอาการได้จากผิวหนังภายนอก และการติดตามอาการ
  • ไม่สามารถทดแทนการไปตรวจที่โรงพยาบาลได้ เพราะขาดอุปกรณ์ในการตรวจวัดสัญญาณชีพ อย่างที่วัดไข้ เครื่องวัดความดัน สเต็ตโทสโคป (Stethoscope) หรือที่ฟังเสียงหัวใจ และเครื่องมือหรือยาในการรักษา
  • มีความเสี่ยงที่ผลการตรวจอาจคลาดเคลื่อน เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ
  • คนที่ไม่มีสมาร์ตดีไวซ์หรือไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้

ขั้นตอนในการใช้งาน Telemedicine

อย่างที่ได้บอกไปว่า Telemedicine จำลองระบบการทำงานของโรงพยาบาลเอาไว้ ซึ่งขั้นตอนก็คล้ายกับการไปโรงพยาบาล เช่น

  • ลงทะเบียนและเข้าใช้งาน
  • นัดหมายเวลาตรวจที่คุณสะดวก
  • เข้าห้องตรวจ ซึ่งอาจมาเป็นลิงก์ Online conference หรือ VDO Call ผ่านแอปพลิเคชัน
  • พูดคุยกับพยาบาลเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้น เช่น อาการ อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก โรคประจำตัว และยาที่แพ้
  • พูดคุยและปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ
  • เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ แพทย์อาจส่งต่อไปยังเภสัชกรเพื่อพูดคุยเรื่องยา หากคุณมีอาการที่คลุมเครือไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด แพทย์อาจแนะนำและนัดหมายให้คุณไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติม

ทุกวันนี้เทคโนโลยีในคอนเซ็ปต์ของ Telemedicine ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การทำนัด พบหมอ คุยกับเภสัชกร และส่งยาให้ถึงบ้าน หรือจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยวัดสัญญาณชีพด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งข้อมูลจะส่งไปที่หมอแบบเรียลไทม์ก็มีด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบางประเทศเคยมีการผ่าตัดผ่านทางไกลโดยศัลยแพทย์ที่มีฝีมือผ่านการควบคุมอุปกรณ์ผ่าตัดที่อยู่ ณ อีกโรงพยาบาลหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมการสื่อสารของโลกยุคใหม่ ผสานเข้ากับการแพทย์จนสามารถสร้างประโยชน์และแนวทางในการพัฒนาการรักษาพยาบาลและระบบสาธารณสุขในอนาคตได้อย่างมหาศาล

การหาหมอแบบออนไลน์จึงเป็นเทรนด์ของโลกดิจิทัล สำหรับค่าตรวจอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการ หากวันไหนคุณป่วยแต่ไม่รุนแรงและไม่อยากออกจากบ้านก็ลองหาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ Telemedicine มาลองใช้ดู เพราะจะทำให้การหาหมอของคุณง่ายขึ้นกว่าเคย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส