โรคความดันสูงหรือภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นปัญหาสุขภาพที่ Hack for Health ขอเรียกว่า ‘ประตูสู่หายนะทางสุขภาพ’ เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

เดิมทีเรามักจะคิดว่าโรคหรือภาวะความดันสูงจะเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่นั่นไม่เสมอไป ด้วยพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและความสะดวกสบายของโลกยุคใหม่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเปิดประตูสู่หายนะทางสุขภาพบานนี้ได้

Hack for Health ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันโดยที่ไม่รู้ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงมาเล่าให้คุณได้อ่านกัน

สูงแค่ไหนก็ไปถึง สูงแค่ไหนถึงเรียกความดันสูง?

ความดันโลหิตเป็นค่าความดันภายในหลอดเลือดแดงที่เกิดจากการสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งความดันโลหิตที่เหมาะสมหมายถึงการที่เลือดสามารถไหลเวียนนำเอาออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปยังเซลล์ของอวัยวะทั่วร่างกาย ช่วยให้ระบบของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ

แต่เมื่อความดันโลหิตสูงเกินไปจะสร้างภาระให้กล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นตัวสูบฉีดเลือดที่ต้องทำงานหนักขึ้น โดยความดันปกติของคนเราจะอยู่ที่ ตัวบน 120–129 / ตัวล่าง 80–84 ที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท คนที่มีความดันโลหิตสูงจะมีค่าความดันตัวบนตั้งแต่ 130 และตัวล่าง 85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งภาวะความดันสูงยังแบ่งได้เป็น ค่อนข้างสูง / สูงเล็กน้อย / สูงปานกลาง / สูงมาก

การที่ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม และโรคไตได้

พฤติกรรมไม่ลับเสี่ยงความดันสูงไม่รู้ตัว

อายุเป็นหนึ่งในปัจจัยของภาวะความดันโลหิตสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะหนีภาวะนี้พ้น เพราะภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการทำให้หลายคนไม่รู้ตัว และจากข้อมูลทั่วโลกพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของคนวัยผู้ใหญ่เป็นมีภาวะความดันโลหิตสูง

ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะความดันโลหิตสูง แต่พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเสี่ยงของภาวะนี้

1. ชอบกินของหวาน ของมัน

ของหวานของมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่งมาจากน้ำตาลและไขมัน เมื่อได้รับน้ำตาลและไขมันมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนสารอาหารเหล่านี้ให้กลายเป็นไขมันสะสมตามอวัยวะภายในและหลอดเลือด

เมื่อเวลาผ่านไปไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดจะแข็งตัวขึ้นส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกจนทำให้ความดันภายในหลอดเลือดสูงขึ้น เมื่อเลือดไหลเวียนได้ไม่ดีหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดให้ทั่วร่างกายให้ได้มากที่สุด กล้ามเนื้อหัวใจอาจเริ่มหนาตัวและเสื่อมลงจนเกิดโรคหัวใจได้

นอกจากนี้ คราบไขมันที่เกาะตามหลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดตีบและอุดตัน ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งยังทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นผลมาจากสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือขาดออกซิเจน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนเพื่อนำออกซิเจนไปส่งได้

2. ชอบกินรสเค็มจัด

ความเค็มมาพร้อมกับโซเดียม อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ ผงปรุงรส และผงชูรสก็ด้วย เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมสูงเกินไป ไตจะไม่สามารถกำจัดโซเดียมออกจากร่างกายได้อีก ทำให้โซเดียมค้างอยู่ในเลือดเรา ซึ่งร่างกายจะรับมือภาวะนี้ด้วยการเก็บน้ำเอาไว้ในร่างกายมากขึ้น รวมถึงของเหลวในหลอดเลือดส่งผลให้ความดันสูงมากขึ้น

พฤติกรรมติดกินเค็มจึงไม่ได้ทำให้แค่โรคไตแบบที่เราเคยรู้กัน แต่รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ตามมาด้วย

3. ไม่ค่อยขยับตัว

การนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับที่เป็นเวลานานจะทับให้หลอดเลือดถูกกดทับและตีบลง เลือดจึงไหลผ่านได้ยากและทำให้ความดันสูงมากขึ้น เมื่อความดันสูงกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดก็ทำงานหนัก

การไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวยังทำให้การเผาผลาญพลังงานเสื่อมลงด้วย คนที่มีพฤติกรรมนี้ติดต่อกันจึงมีความเสี่ยงที่จะเผาผลาญพลังงานได้น้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดไขมันสะสมในร่างกาย ถ้าไขมันไปเกาะที่ตับมากก็เสี่ยงโรคเบาหวานมากขึ้น หรือถ้าไปเกาะตามผนังหลอดเลือดก็ทำให้ความดันโลหิตสูงได้อีกทางหนึ่ง

4. ดื่มแอลกอฮอล์หนัก

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า ‘เรนิน’ (Renin) มากขึ้น โดยฮอร์โมนนี้ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหดตัวส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีและทำให้ของเหลวในหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์หนักและดื่มเป็นประจำ หลอดเลือดก็หดตัวบ่อยกล้ามเนื้อหลอดเลือดก็เสื่อมลงและเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์รูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างการนอนดึก นอนน้อย ใช้สารเสพติด และสูบบุหรี่ก็ส่งผลต่อภาวะความดันโลหิตสูงด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวคุณมีคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

วิธีลดความเสี่ยงโรคความดันสูงที่ทำได้ทุกวัน

จากข้อมูลพบว่า การลดความดันโลหิตสูงเพียง 2 มิลลิเมตรปรอทอาจลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ 7 เปอร์เซ็นต์และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองได้ 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว มีหลายวิธีด้วยกันที่คุณสามารถทำเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงได้

  • เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม อย่างของหวาน น้ำหวาน ของทอด อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว
  • กินผักผลไม้ให้มากขึ้น เพราะมีใยอาหารที่ช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกาย
  • เคลื่อนไหวให้มากขึ้นในระหว่างวัน ไม่นอนหรือนั่งอยู่ที่เดิมนาน ๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หากสามารถทำได้ นอกจากจะดีต่อโรคความดันสูงแล้วยังลดความเสี่ยงโรคอื่นได้ด้วย
  • ลดแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดสารเสพติด

คุณจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตที่คุณเจอและทำอยู่ในทุกวัน ซึ่งในช่วงแรกคุณอาจเริ่มทำทีละข้อสองข้อแล้วทำมากขึ้นจนติดเป็นนิสัย ที่จะส่งผลดีในระยะยาว นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย หากคุณพบปวดหัว เวียนหัว และเหนื่อยง่ายแบบไม่รู้สาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคความดันสูงและโรคอื่น ๆ ได้

ที่มา: CDC, โรงพยาบาลสมิติเวช, TAKEDA Pharmaceutical

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส